ราชวงศ์ปาห์ลาวี (เปอร์เซีย: ?????? ??????) เป็นราชวงศ์ที่ปกครองอิหร่านในปีค.ศ. 1925 - 1979 โดยปกครองต่อจากราชวงศ์กอญัรที่ถูกโค่นล้มไปในสมัยพระเจ้าชาห์ อะหมัด กอญัร โดยกษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์มีพระนามว่าพระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี ต่อมาภายหลังราชวงศ์ปาห์ลาวีถูกโค่นล้มในการปฏิวัติอิหร่านในปี ค.ศ. 1979 ซึ่งภายหลังถูกเรียกว่า การปฏิวัติอิสลาม
ในปี ค.ศ. 1921 พระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นนายทหารในกองทัพเปอร์เซีย ได้ใช้กองทหารของเขาในการสนับสนุนการรัฐประหารราชวงศ์กอญัร ภายในช่วงระยะเวลาสี่ปี เขาได้กลายเป็นผู้ที่มีอำนาจที่สุดในประเทศด้วยการปราบปรามการก่อจลาจลและจัดระเบียบเสียใหม่ ในปี ค.ศ. 1925 ในที่ประชุมสามัญได้มีมติให้ถอดถอนพระเจ้าชาห์ อะหมัด กอญัร และตั้งเรซ่า ข่าน (พระนามเดิม) ขึ้นเป็นพระเจ้าชาห์องค์ใหม่ โดยใช้พระนามสำหรับราชวงศ์ว่า ปาห์ลาวี
พระเข้าชาห์ทรงมีความตั้งใจที่จะพัฒนาอิหร่านให้ทันสมัยแบบประเทศต่าง ๆ ในยุโรป โดยทรงวางแผนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สร้างระบบทางรถไฟ ริเริ่มระบบการศึกษา ปฏิรูประบบศาล และปรับปรุงระบบการแพทย์ ทรงเชื่อว่า ถ้าหากรวมอำนาจในการปกครองประเทศเข้าสู่ศูนย์กลาง และดำเนินการโดยบุคคลที่มีการศึกษา จะทำให้แผนการที่วางไว้สำเร็จได้
พระเจ้าชาห์ได้ส่งชาวอิหร่านหลายร้อยคนรวมถึงพระราชโอรสไปรับการศึกษาและการฝึกฝนในยุโรป ในช่วงปีค.ศ. 1925 - 1941โครงการในพระราชดำริได้ทำให้อิหร่านพัฒนาขึ้นเป็นอันมาก ระบบการศึกษาดำเนินการอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นในสังคม คือชนชั้นกลางและชนชั้นกรรมาชีพ
ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1930 การปกครองแบบเผด็จการของพระเจ้าชาห์ได้ทำให้คนบางกลุ่มไม่พอใจ (โดยเฉพาะพวกอิมาม) ในปีค.ศ. 1935 ได้ทรงประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกร้องให้ชาวต่างชาติเรียกประเทศของพระองค์ว่า "อิหร่าน" (ในขณะนั้น ชาวต่างชาตินิยมใช้คำว่า "เปอร์เซีย" มากกว่า) แต่ก็มีนักวิชาการออกมาต่อต้าน มกุฎราชกุมารโมฮัมหมัด เรซา (พระอิสริยยศในขณะนั้น) จึงได้ออกมาประกาศว่า ทั้งสองชื่อมีความหมายเหมือนกันและสามารถใช้แทนกันได้
พระเจ้าชาห์ เรซ่าทรงพยายามที่จะไม่มีความเกี่ยวข้องกับทั้งอังกฤษและโซเวียต แม้ว่าโครงการพัฒนาประเทศหลายโครงการจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติก็ตาม ทรงหลีกเลี่ยงที่จะทำสัญญากับบริษัทจากทั้งสองประเทศ แม้ว่าบริษัทน้ำมันแองโกล-อิหร่านออยล์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ควบคุมแหล่งน้ำมันของประเทศทั้งหมด จะเป็นบริษัทของอังกฤษก็ตาม แต่ก็ทรงเลือกที่จะขอความช่วยเหลือทางเทคนิคจากเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และประเทศอื่น ๆ ในยุโรปแทน การตัดสินใจของพระองค์เช่นนี้สร้างปัญหาในเวลาต่อมา เมื่อเยอรมนีและอังกฤษประกาศสงครามกันในสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าจะทรงประกาศว่าอิหร่านเป็นกลาง แต่อังกฤษก็อ้างว่าวิศวกรและช่างเทคนิคชาวเยอรมันเป็นสายลับ และพยายามจะบ่อนทำลายเครื่องไม้เครื่องมือของอังกฤษในบ่อน้ำมันทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่าน อังกฤษได้เรียกร้องให้อิหร่านเนรเทศพลเมืองชาวเยอรมันทั้งหมดออกนอกประเทศ แต่พระเจ้าชาห์ เรซาทรงปฏิเสธ โดยทรงอ้างว่าการเนรเทศชาวเยอรมันเหล่านั้นออกนอกประเทศจะทำให้โครงการน้ำมันของอิหร่านต้องหยุดชะงัก
หลังจากที่เยอรมนีรุกรานสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1941 แล้ว อังกฤษและสหภาพโซเวียตก็เป็นพันธมิตรกัน และทั้งสองประเทศก็เริ่มให้ความสนใจกับอิหร่าน โดยทั้งสองประเทศต่างก็เห็นว่าจะสามารถใช้ทางรถไฟของอิหร่านในการขนส่งจากอ่าวเปอร์เซียมายังสหภาพโซเวียตได้ แต่เนื่องจากพระเจ้าชาห์ เรซาปฏิเสธที่จะเนรเทศชาวเยอรมัน อังกฤษและสหภาพโซเวียตจึงรุกรานอิหร่าน และปลดพระเจ้าชาห์ออกจากตำแหน่งและเข้าควบคุมการรถไฟของอิหร่านในเดินสิงหาคม ค.ศ. 1941ต่อมาในปีค.ศ. 1942 สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นพันธมิตรกับทั้งสองประเทศได้ส่งกำลังทหารเข้าช่วยดูแลระบบรถไฟของอิหร่าน และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน ทั้งสามประเทศก็เข้าควบคุมแหล่งน้ำมันของอิหร่านเพื่อผลประโยชน์ของประเทศของตน อำนาจของพระเจ้าชาห์ เรซาจึงสิ้นสุดลง แต่ทั้งสามประเทศก็อนุญาตให้พระโอรสของพระเจ้าชาห์ เรซาขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ได้
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1942 ทั้งสามประเทศได้ลงนามในข้อตกลงกับอิหร่านว่าจะยอมรับเอกราชของอิหร่าน และจะถอนกองกำลัทั้งหมดภายในหกเดือนหังจากสงครามสิ้นสุดลง สหรัฐอเมริกาได้ยืนยันข้อตกลงเดิมอีกครั้งในปีค.ศ. 1943 ในการประชมุที่จัดขึ้นในเตหะราน แต่ในปีค.ศ. 1945 สหภาพโซเวียตก็ยังปฏิเสธที่จะประกาศกำหนดเวลาที่จะถอนกำลังออกจากจังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันตกและอาเซอร์ไบจานตะวันออก ที่ซึ่งสหภาพโซเวียตสนับสนุนการเคลื่อนไหวที่จะปกครองตัวเอง ในขณะเดียวกัน พรรคตูเดห์ที่เป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่เริ่มมีอิทธิพลและมีที่นั่งในสภา เริ่มแข็งแกร่งมากขึ้นโดยเฉพาะในภาคเหนือของอิหร่าน รัฐบาลอิหร่านจึงพยายามส่งกองทัพเข้าไปจัดระเบียบในภาคเหนือของประเทศ แต่พื้นที่ในภาคเหนือของอิหร่านส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ในความควบคุมของพรรคการเมืองพรรคนี้
ในที่สุด สหภาพโซเวียตก็ถอนกำลังออกจากอิหร่านในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1946 แต่สถานการณ์ก็ยังคงตึงเครียดต่อมาอีกหลายเดือน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เป็นตัวการเร่งให้เกิดสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต
ระบบการเมืองของอิหร่านได้เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น และพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ ในปีค.ศ. 1944 ได้มีการเลือกตั้งแข่งขันกันอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรกในรอบยี่สิบปี บริษัทน้ำมันอังกฤษ - อิหร่าน ซึ่งรัฐบาลอังกฤษเป็นเจ้าของก็เริ่มผลิตและขายน้ำมันอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 ชาวอิหร่านบางคนได้เริ่มสนับสนุนให้โอนกิจการน้ำมันมาเป็นของชาติ และหลังจากปีค.ศ. 1946 เป็นตนมา แนวคิดดังกล่าวก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ