ราชวงศ์ (อังกฤษ: Dynasty) คือ ลำดับของผู้ปกครองจากตระกูลเดียวกัน มักปรากฎอยู่ในบริบทของระบบศักดินาและระบอบราชาธิปไตย แต่ในบางโอกาสก็ปรากฎอยู่ในระบอบสาธารณรัฐที่มีการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน ซึ่งตระกูลของผู้ปกครองที่สืบเชื้อสายติดต่อกันมาอาจเรียกว่า "พระราชวงศ์" และมีบรรดาศักดิ์เป็นราชวงศ์ของพระมหากษัตริย์ เจ้าชาย ขุนนางศักดินา หรืออื่น ๆ ขึ้นอยู่กับว่าผู้นำหรือสมาชิกของตระกูลเกิดมาด้วยฐานันดรเช่นใด นักประวัติศาสตร์หลายคนยังพิจารณาประวัติศาสตร์ของรัฐอธิปไตยแห่ง เช่น อียิปต์โบราณ จักรวรรดิการอแล็งเฌียง หรือจักรวรรดิจีน ภายใต้กรอบแนวคิดของลำดับราชวงศ์ผู้ปกครอง ดังนั้นบริบทของ "ราชวงศ์" จึงสามารถใช้อ้างถึงยุคสมัยที่แต่ละตระกูลปกครอง ทั้งยังเป็นบริบทที่ใช้อธิบายเหตุการณ์ แนวโน้ม และศิลปวัตถุของแต่ละยุคสมัยนั้น ๆ ได้ เช่น แจกันราชวงศ์หมิง ซึ่งบริบทของราชวงศ์มักจะถูกลดทอนลงจากการอ้างอิงคุณศัพท์ดังกล่าว
จนกระทั่งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่บริบทนี้ถูกนำไปใช้อ้างอิงการแผ่ขยายพระราชตระกูลโดยชอบด้วยกฎหมายของพระมหากษัตริย์ ผ่านการขยายดินแดน พระราชทรัพย์ และพระราชอำนาจของสมาชิกราชวงศ์ของพระองค์ ทั้งนี้ราชวงศ์ที่ยังคงสืบทอดต่อเนื่องมาอย่างยาวนานที่สุดในโลกปัจจุบันคือ ราชวงศ์ญี่ปุ่น หรือราชวงศ์ยะมะโตะ ที่ทรงปกครองตามพระราชประเพณีมาตั้งแต่ 660 ปีก่อนคริสต์ศักราช
ตามประเพณีแล้ว ราชวงศ์ทั่วโลกมักถูกนับตามพระประยูรวงศ์ของบุรุษเพศเป็นหลัก (Patrilineality) เช่น ภายใต้กฎหมายแซลิกของชาวแฟรงก์ ดังนั้นลำดับการสืบสันตติวงศ์ผ่านสตรีเพศมักถูกนับเป็นราชวงศ์ใหม่ภายใต้ราชวงศ์ของพระสวามี แต่ปรากฎบางกรณีเช่นในทวีปแอฟริกา (ราชวงศ์ผู้ปกครองของบาโลเบดู) ที่นับสายราชวงศ์ตามพระประยูรวงศ์ของสตรีเพศเป็นหลัก (Matrilineality) ซึ่งผู้ปกครองในลำดับถัดมาจะใช้พระราชสันตติวงศ์ของพระมารดาเป็นหลัก เช่น ราชวงศ์ออเรนจ์ของเนเธอร์แลนด์ ราชวงศ์บรากาติโอนีของจอร์เจีย และราชวงศ์ฮับส์บูร์ก-ลอแรน
ในบางครั้งคำว่า "ราชวงศ์" ยังใช้อย่างไม่เป็นทางการกับบุคคลที่ไม่ได้มีเชื้อเจ้านายราชวงศ์แต่อย่างใด เช่น สมาชิกของตระกูลผู้ทรงอำนาจและอิทธิพลในขอบเขตอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การเมืองการปกครองอย่างลำดับตระกูลของผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทขนาดใหญ่ เป็นต้น แม้กระทั่งใช้กับกลุ่มบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์แต่อย่างใด เช่น ลำดับกวีชั้นครูจากแหล่งเดียวกัน หรือลำดับคณะนักกีฬาของกีฬาบางประเภท เป็นต้น จนมีการนำไปตั้งชื่อละครโทรทัศน์เกี่ยวกับตระกูลหรือครอบครัวของกลุ่มบุคคลดังกล่าว