ลักเซมเบิร์ก (อังกฤษ: Luxembourg; ลักเซมเบิร์ก: L?tzebuerg; ฝรั่งเศส: Luxembourg; เยอรมัน: Luxemburg) หรือ ราชรัฐลักเซมเบิร์ก (อังกฤษ: Grand Duchy of Luxembourg; ลักเซมเบิร์ก: Groussherzogtum L?tzebuerg; ฝรั่งเศส: Grand-Duch? de Luxembourg; เยอรมัน: Gro?herzogtum Luxemburg) เป็นนครรัฐที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป มีพรมแดนด้านตะวันออกติดกับประเทศเยอรมนี ด้านใต้ติดกับฝรั่งเศส และด้านตะวันตกติดกับเบลเยียม
ราชรัฐลักเซมเบิร์กเป็นนครรัฐ มีประวัติความเป็นมาย้อนหลังมากกว่า 1,000 ปี เมื่อปี พ.ศ. 1506 เคานท์ซิเอกฟิลด์แห่งลักเซมเบิร์ก เคานท์แห่งอาร์เดนเนส และผู้ก่อตั้งราชวงศ์ลักเซมเบิร์กสร้างปราสาทในบริเวณเมืองหลวงของลักเซมเบิร์กในปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในสมัยนั้น เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีภูเขาสลับซับซ้อนล้อมรอบหลายชั้น เป็นที่รู้กันทั่วไปในนาม “ยิบรอลตราทางเหนือ” (The Gibraltar of the North) ในช่วงปลายยุคกลางจนถึงศตวรรษที่ 15 ราชวงศ์ลักเซมเบิร์กมีความรุ่งเรืองมาก กษัตริย์หลายพระองค์ในยุโรปสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์นี้ อาทิ จักรพรรดิปกครองเยอรมนี 4 พระองค์ กษัตริย์ปกครองโบฮีเมีย 4 พระองค์ และกษัตริย์ปกครองฮังการี 1 พระองค์ กษัตริย์ที่มีชื่อเสียงของลักเซมเบิร์ก ในยุคนั้น ได้แก่ สมเด็จพระจักรพรรดิไฮนริคที่ 7 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์,พระเจ้าจอห์นแห่งโบฮีเมียและดยุกแวนเซลอสที่ 1 แห่งลักเซมเบิร์ก จากนั้นก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจเบอร์กันดีในปีพ.ศ. 2010 เมื่อดัสเชสเอลิซาเบธที่ 2 ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ลักเซมเบิร์กพระองค์สุดท้าย ทรงได้สละสิทธิอันชอบธรรมของพระนางในราชบัลลังก์ พระโอรสของฟิลลิปเดอะกูด ดยุกแห่งเบอร์กันดีคือ ชาร์ลส์เดอะโบลด์ ดยุกแห่งเบอร์กันดีทรงยอมรับพระอิศริยยศนี้โดยรวมเข้ากับพระยศ"ดยุกแห่งเบอร์กันดี" หลังจากนั้นลักเซมเบิร์กประสบความพ่ายแพ้ในสงครามหลายครั้ง และตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาติต่าง ๆ เช่น สเปน ฝรั่งเศส ออสเตรีย และรัสเซีย จนกระทั่งสิ้นสุดพุทธศตวรรษที่ 19 ในปี พ.ศ. 2358 ลักเซมเบิร์กได้รับอิสรภาพอีกครั้ง โดยประชุมที่เวียนนา (Congress of Vienna) ได้ยกฐานะของลักเซมเบิร์กจาก Duchy เป็น Grand Duchy และมอบให้เป็นพระราชสมบัติส่วนพระองค์ของกษัตริย์เนเธอร์แลนด์ ให้สิทธิในการปกครองแก่สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเล็มที่ 1 แห่งเนเธอร์แลนด์และในปี พ.ศ. 2410 สนธิสัญญาลอนดอน (Treaty of London 1867) ได้รับรองบูรณภาพ แบ่งดินแดน และสิทธิในการปกครองตนเองของลักเซมเบิร์ก
โดยที่ในปี พ.ศ. 2433 ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเล็มที่ 3 แห่งเนเธอร์แลนด์ เจ้าหญิงวิลเฮลมินา ทรงเป็นรัชทายาทเพียงพระองค์เดียวได้ขึ้นครองราชสมบัติเนเธอร์แลนด์ โดยไม่ผูกมัดตามข้อตกลงของราชสกุล อย่างไรก็ตามราชบัลลังก์ลักเซมเบิร์กได้ผ่านไปถึงเชื้อสายบุรุษของราชวงศ์นัสเซาสายอื่น คือ ดยุกอดอลฟ์ผู้ถูกขับออกจากตำแหน่งดยุกแห่งนัสเซาและเป็นประมุขของสายราชวงศ์นัสเซา-เวลเบิร์ก และแกรนด์ดยุกของลักเซมเบิร์กในสมัยนั้นโดยไม่มีพระราชโอรสสืบทอด ทำให้ราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ของเนเธอร์แลนด์ตระกูลนัสเซาซึ่งก็คือ แกรนด์ดยุกอดอลฟ์แห่งลักเซมเบิร์กได้ขึ้นครองราชย์แทน ในปีพ.ศ. 2450 แกรนด์ดยุกวิลเล็มที่ 4 แห่งลักเซมเบิร์กผู้เป็นพระโอรสเพียงองค์เดียวของแกรนด์ดยุกอดอลฟีได้รับสิทธิการชอบธรรมแก่พระธิดาองค์โตคือเจ้าหญิงมารี อเดเลด ซึ่งเป็นสิทธิในการสืบราชสมบัติด้วยความบริสุทธิ์แห่งการไร้บุรุษในราชวงศ์ และระบุไว้ในกฎดั้งเดิมราชสกุลนัสเซา พระนางจึงทรงเป็นแกรนด์ดัสเชสพระองค์แรกผู้ปกครองแกรนด์ดัชชีแห่งลักเซมเบิร์กเมื่อพระบิดาเสด็จสวรรคตในปีพ.ศ. 2455 และทรงสละราชสมบัติในปีพ.ศ. 2462 พระขนิษฐาจึงครองราชย์สืบต่อคือแกรนด์ดัชเชสชาร์ล็อต และลักเซมเบิร์กเริ่มต้นมีราชวงศ์ของตนเองในรัชสมัยของแกรนด์ดัชเชสชาร์ล็อตแห่งลักเซมเบิร์ก (Grand Duchess Charlotte) ลักเซมเบิร์กได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี การพัฒนาดังกล่าวได้หยุดชะงักลงเมื่อเยอรมนีได้เข้ายึดครองลักเซมเบิร์กในระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง ทั้งๆ ที่ ลักเซมเบิร์กได้ประกาศความเป็นกลาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 กษัตริย์ของลักเซมเบิร์กคือ แกรนด์ดยุกฌองแห่งลักเซมเบิร์ก (Grand Duke Jean) ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชชนนี คือ แกรนด์ดัชเชสชาร์ล็อต ซึ่งสละราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสหลังจากที่ทรงครองราชย์มานานถึง 45 ปี กษัตริย์องค์ปัจจุบันของลักเซมเบิร์กคือ แกรนด์ดยุกอ็องรีที่ 1 แห่งลักเซมเบิร์ก (Grand Duke Henri) ขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2543 เป็นกษัตริย์องค์ที่ 6 ของราชวงศ์ นัสเซา-เวลเบิร์ก สืบต่อจากแกรนด์ดยุกฌอง พระราชชนก ซึ่งสละราชสมบัติหลังจากที่ครองราชย์นานถึง 36 ปี ให้แก่พระราชโอรส ภายหลังได้รับการปลดปล่อยโดยกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ลักเซมเบิร์กได้ยกเลิกนโยบายความเป็นกลางและเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรด้านการเมือง เศรษฐกิจและการทหาร เช่น สหภาพยุโรป องค์กรสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ สหภาพยุโรปตะวันตก (Western European Union-WEU) และ OSCE (Organization for Security and Cooperation in Europe)
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 พรรค CSV (Christian Socialist Party) และพรรค LSAP (Luxembourg Socialist Workers’ Party) ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งทั่วไปในลักเซมเบิร์ก เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2547 ได้บรรลุการเจรจาจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี โดยมีนายชอง-โกลด จุงก์เกอร์หัวหน้าพรรค CSV ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สาม และนายฌอง แอสเซลบอร์น หัวหน้าพรรค LSAP ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการเข้าเมือง ทั้งนี้ นายชอง-โกลด จุงก์เกอร์ได้นำคณะรัฐมนตรีรวม 15 ราย เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนเพื่อเข้ารับหน้าที่ต่อแกรนด์ดยุกอ็องรีแห่งลักเซมเบิร์กในวันเดียวกัน
นโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญพัฒนาให้ทันสมัย (modernization) นวัตกรรม (innovation) การปรับโอน (transformation) และบูรณาการ (integration) ในทุกๆ ด้าน
นโยบายด้านการเงินการคลังจะเน้นความยืดหยุ่น จะดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ส่วนการดำเนินนโยบายด้านงบประมาณจะต้องสอดคล้องกับ Stability Pact และนโยบายการพัฒนาของสหภาพยุโรป รวมทั้งจะปรับเปลี่ยนปีงบประมาณให้ตรงกับช่วงปีงบประมาณของสหภาพยุโรป
นโยบายด้านเศรษฐกิจจะเน้นการส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ความทันสมัย และรูปแบบที่เปิดรับต่อปัจจัยและเงื่อนไขใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยให้มีการค้นคว้าและวิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมด้าน e-dynamic การลงทุนด้านสาธารณูปโภคเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการคมนาคม อาทิ ถนนและเส้นทางรถไฟ
โดยที่ลักเซมเบิร์กเป็นประเทศขนาดเล็ก จึงให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นต่อความร่วมมือกับประเทศในยุโรปตะวันตก ทั้งในกรอบทวิภาคี EU และ NATO เพื่อเป็นหลักประกันต่อเอกราช
ด้านความมั่นคง ลักเซมเบิร์กมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถด้านความมั่นคงเพื่อตอบสนองต่อภารกิจของชาติและภารกิจในกรอบของ NATO และ EU โดยจะเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคงร้อยละ 1.2 ของ GDP และเร่งปรับปรุงสถานที่ตั้งทางการทหาร ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจการรักษาสันติภาพในกรอบระหว่างประเทศ เพื่อตอบสนองต่อเงื่อนไขใหม่ๆ ของ NATO และ EU
ลักเซมเบิร์กยังมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ และเป็นประเทศหนึ่งที่ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของ UN ในการให้เงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และในปีพ.ศ. 2544 ลักเซมเบิร์กให้เงินช่วยเหลือแก่ต่างประเทศร้อยละ 0.8 ของ GDP ซึ่งเกินเป้าหมายของ UN และ OECD นอกจากนั้น ลักเซมเบิร์กมีแผนการที่จะเพิ่มเงินช่วยเหลือให้ถึงร้อยละ 1 ในปีพ.ศ. 2548 เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศที่มีความยากจนและประสบภัยสงคราม
ประเทศลักเซมเบิร์กแบ่งเป็น 3 เขต หน่วยการปกครอง 12 หน่วยและคอมมูน 116 คอมมูน 12 คอมมูนมีเมืองประจำคอมมูนที่ซึ่งมีเมืองลักเซมเบิร์กเป็นเมืองใหญ่สุด
ลักเซมเบิร์กเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดในยุโรป และมีขนาดเป็นอันดับ 167 ของโลก พื้นที่ทั่วประเทศ 2,586 ตารางกิโลเมตร ทางตะวันตกของประเทศ ติดกับจังหวัดลักเซมเบิร์กของเบลเยียม ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่ (4,443 ตารางกิโลเมตร) เกือบสองเท่าของประเทศลักเซมเบิร์ก
ทางตอนเหนือของประเทศ เป็นเนินเขาและภูเขาเตี้ย ๆ จุดสูงสุดอยู่ที่ Buurgplaatz มีความสูง 559 เมตร พื้นที่อื่น ๆ มักจะเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ เช่นกัน
ภาคการบริการเป็นสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของลักเซมเบิร์ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาการเงินการธนาคาร โดยลักเซมเบิร์กมีกฎหมายด้านการเงินที่ดึงดูดนักลงทุน ทำให้ลักเซมเบิร์กกลายเป็นศูนย์กลางด้านกองทุนลงทุนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น โดยจะเห็นได้จากการที่ในปี 2543 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลักเซมเบิร์กมาจากภาคบริการถึงร้อยละ 69 (ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 30 และภาคการเกษตร ร้อยละ 1) และมีแรงงานถึงร้อยละ 90 ของแรงงานทั้งหมดทำงานในภาคบริการ (ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 8 และภาคการเกษตร ร้อยละ 2)
สภาวะเศรษฐกิจ ลักเซมเบิร์กมีเศรษฐกิจมั่นคง อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานต่ำ ภาคอุตสาหกรรมซึ่งในอดีตเหล็กกล้าเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุด แต่ปัจจุบันได้มีอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ยาง และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ การเจริญเติบโตทางภาคการเงิน ซึ่งอัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP คิดเป็นร้อยละ 22 ส่วนใหญ่นำไปชดเชยให้กับอุตสาหกรรมเหล็กกล้า ธนาคารส่วนใหญ่มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ ภาคเกษตรกรรมมีลักษณะเป็นไร่ขนาดเล็ก แรงงานต่างชาติหรือแรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญมากในด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30 ของแรงงานทั้งหมด ถึงแม้ว่าลักเซมเบิร์กจะได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาเหมือนเช่นประเทศอื่น ๆ แต่ก็ยังสามารถรักษาให้อัตราการเจริญเติบโตยังเข้มแข็งต่อไปได้
สหภาพเศรษฐกิจเบลโก-ลักเซมเบิร์ก เบลเยียมและลักเซมเบิร์กได้จัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจเบลโก-ลักเซมเบิร์ก (Belgium-Luxembourg Economic Union - BLEU) ระหว่างกันเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2464 ซึ่งทำให้การเก็บสถิติการค้าและการลงทุนมักจะเป็นไปบนพื้นฐานของตัวเลขของทั้งสองประเทศรวมกัน นอกจากนี้ มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของทั้งสองประเทศไว้ที่อัตราส่วนหนึ่งต่อหนึ่ง (one-to-one parity) สหภาพเศรษฐกิจเบลโก- ลักเซมเบิร์กมีลักษณะสำคัญ ดังนี้ 1. จัดระบบการค้าเสรีระหว่างกัน 2. มีการประสานนโยบายในด้านเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม รวมทั้ง ปรับกฎหมายภายในประเทศทั้งสองให้สอดคล้องกัน 3. ธนาคารแห่งประเทศเบลเยี่ยมจะทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางของ ทั้งสองประเทศ 4. ใช้กฎหมายด้านการปริวรรตเงินตราต่างประเทศแบบเดียวกัน 5. มีการจำกัดปริมาณเงินฟรังค์ลักเซมเบิร์ก โดยกำหนดปริมาณเป็นระยะ ๆ ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ เงินฟรังค์ของทั้งสองประเทศมีค่าเท่ากัน 6. เบลเยีมจะมีบทบาทนำด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากลักเซมเบิร์กมี GDPประมาณร้อยละ 4.5 ของ GDP เบลเยียม และลักเซมเบิร์กได้เน้นภาคบริการโดยเฉพาะเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการธนาคาร โดยมีนโยบายด้านการเงินที่เสรี และอัตราภาษีเงินได้ที่ต่ำ