จังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตก โดยเป็นศูนย์กลางในด้านอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น มะพร้าว ชมพู่ ฝรั่ง มะม่วง และการปศุสัตว์ของประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในด้านพลังงานของประเทศในปัจจุบัน[ต้องการอ้างอิง] โดยมีเมืองราชบุรีเป็นศูนย์กลางด้านการปกครอง เศรษฐกิจ และการคมนาคมในภูมิภาค ทิศเหนือติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ทิศใต้ติดต่อจังหวัดเพชรบุรี ทิศตะวันออกติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดนครปฐม และทิศตะวันตกติดต่อประเทศพม่า
ราชบุรี ดินแดนวัฒนธรรมลุ่มน้ำแม่กลองและสายหมอกแห่งขุนเขาตะนาวศรี เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางด้านตะวันตกที่มีภูมิประเทศหลากหลาย จากพื้นที่ที่ราบต่ำ ลุ่มแม่น้ำแม่กลองอันอุดม แหล่งเพาะปลูกพืชผักผลไม้เศรษฐกิจนานาชนิด สู่พื้นที่สูงทิวเทือกเขาตะนาวศรีทอดตัวยาวทางทิศตะวันตกจรดชายแดนไทย-พม่า
จากตำนานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ราชบุรีเป็นหัวเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมากแห่งหนึ่งของแคว้นสุวรรณภูมิมาตั้งแต่สมัยที่พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดียได้เผยแพร่พุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนแถบนี้ เมื่อราวปี พ.ศ. 218 โดยแคว้นสุวรรณภูมินี้มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครปฐมหรือที่สมัยนั้นเรียกกันว่า "ทวารวดี” ราชบุรียังเป็นแหล่งพบปะของพ่อค้าวาณิชแต่ครั้งโบราณ ทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่านที่ติดต่อกับพม่า ราชบุรีจึงเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่สุดแห่งหนึ่ง
ห่างจากกรุงเทพมหานครเบื้องทิศตะวันตกราว 110 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของจังหวัดราชบุรี ดินแดนอันเป็นที่มาของโอ่งเคลือบลายมังกรและผ้าทอบ้านไร่หรือผ้าขาวม้าอันลือชื่อ สำหรับผู้ไม่ใช่ชาวบ้านพื้นถิ่นน้อยคนนักจะเข้าใจว่าอุตสาหกรรมเครื่องปั่นดินเผาและหัตถกรรมทอผ้าพื้นเมืองเป็นเป็นเพียงผลงานบางส่วนที่สะท้อนความหลากหลายของราชบุรีที่ฝากร่องรอยทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม
แท้จริงแล้วดินแดนแห่งนี้มิได้มีแค่เพียงสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติเท่านั้น โอ่งลายมังกรและผ้าตีนจกยังเป็นตัวแทนที่ให้ภาพเคลื่อนไหวของวิวัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงในสังคมราชบุรีด้วยในมุมมองหนึ่ง
ในพื้นที่อันกว้างขวางใหญ่ประมาณ 5,120 ตารางกิโลเมตรของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างนี้มีแม่น้ำแม่กลองตัดผ่าน เป็นสายใยเชื่อมโยงพื้นที่ด้านตะวันออกซึ่งติดกับเขตจังหวัดสมุทรสงคราม ต่อแดนฝั่งสมุทรอ่าวไทยเข้ากับพื้นที่ตอนในอันเป็นต้นแหล่งของสายน้ำแม่กลอง
ราชบุรีเป็นเมืองในเครือข่ายสัมพันธ์ของอารยธรรมชายฝั่งทะเลสยามโดยมีเมืองโบราณคูบัวเป็นเมืองท่าติดต่อทะเลด้วย เช่นเดียวกับนครปฐมหรือเมืองนครชัยศรีโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 ลงมา กล่าวได้ว่า คูบัวโดดเด่นยิ่งกว่านครชัยศรีโบราณเสียอีก เพราะมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับเมืองเพชรบุรี (หรือพริบพรี)เลย ตลอดไปถึงเขตชะอำ (ในปัจจุบัน) อู่ทอง นครปฐม คูบัว เป็นเครือข่ายของเมืองท่าโบราณแต่ครั้งสมัยวัฒนธรรมทวารวดีเฟื่องฟู และเมืองคูบัวนั้นนับเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนามหายานที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาค
เมื่อย่างเข้าสมัยที่อาณาจักรขอมเรืองอำนาจและปรากฏศิลปะแบบลพบุรีในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นไป ตัวเมืองได้โยกย้ายศูนย์กลางจากคูบัวมาตั้งใหม่ที่ราชบุรีซึ่งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก แต่สามารถตอบรับเงื่อนไขใหม่ในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนได้เหมาะสมและดีกว่า
อย่างน้อยที่สุดเมืองราชบุรีต้องเกิดขึ้นและกลายเป็นเมืองท่าชายทะเลที่สำคัญก่อนพุทธศตวรรษที่18-19 สันนิษฐานว่าคงเป็นประมาณพุทธศตวรรษที่15-16 เครื่องปั่นดินเผาห้าราชวงศ์และสมัยซ้องที่พบในท้องแม่น้ำแม่กลองและแหล่งชุมชนโบราณบางแห่ง ถือได้ว่าเป็นโบราณวัตถุที่เป็นสินค้าจากสังคมภายนอกภูมิภาค แต่บรรดาเครื่องปั่นดินเผาผลิตจากภายในพื้นภูมิภาคก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น หม้อดินเผาคอสูง ซึ่งผู้บางท่านว่าเป็นศิลปกรรมทวารวดีตอนปลายประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18
จังหวัดราชบุรีตั้งอยู่ในเขตที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย แต่การที่มีเทือกเขาตะนาวศรีบังไว้อยู่ ทำให้เป็นที่อบฝน คือ อำเภอสวนผึ้ง อำเภอบ้านคา และอำเภอจอมบึง มีฝนตกน้อยและเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีฝนตกน้อยที่สุดในประเทศ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,000-1,250 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ27 องศาเซลเซียส สูงสุดเดือนเมษายน-พฤษภาคมประมาณ 36 องศาเซลเซียส และต่ำสุดในเดือนธันวาคม-มกราคม ประมาณ 18 องศาเซลเซียส ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน โดยตกหนักที่สุดในเดือนกันยายน และทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนและสิงหาคมฝนส่วนใหญ่จะถูกพัดเลยไปตกในแถบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง และด้านตะวันออกของพื้นที่จังหวัดอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 13-38 องศาเซลเซียส แต่ในฤดูหนาวบริเวณเชิงเขาหรือหุบเขาในพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง และอำเภอบ้านคาจะมีสภาพอากาศหนาวมาก เฉลี่ย 8-15 องศาเซลเซียส และเป็นจังหวัดที่มีปริมาณโอโซนมากที่สุดติดอันดับของโลก
การปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งออกเป็น 10 อำเภอ, 104 ตำบล และ 975 หมู่บ้าน การปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง, เทศบาล 25 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 77 แห่ง
ชาวไทยที่เป็นประชากรของราชบุรีตามกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ มีอยู่เป็นหย่อมย่าน ถ้ามีการรวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่น ทำให้เกิดการแสดงออกทางประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อ ถ้าชุมชนที่มีกลุ่มคนตามวัฒนธรรมนั้นอยู่เบาบาง ก็ไม่สามารถแสดงออกทางวัฒนธรรมได้อย่างเต็มที่ บางครั้งก็ถูกกลุ่มวัฒนธรรมหลักชักนำหรือถูกกลืนกลายให้เสื่อมสูญไปจากสังคมก็มี ข้อมูลต่อไปนี้แสดงถึงพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนตามวัฒนธรรมต่างๆ
จังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตก จากการประมาณในไตรมาสแรกในปี 2553 ของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ราชบุรีมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด(GPP) คิดเป็นมูลค่า 120,200 ล้านบาท มากเป็นอันดับ 17 ของประเทศ และมีรายได้ต่อประชากร (GPP PER CAPITA) สูงถึง 144,062 บาท เป็นอันดับที่ 13 ของประเทศ จังหวัดราชบุรีมีการลงทุนทางอุตสาหกรรมถึง 1,100 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนมากกว่า 100,000 ล้านบาท เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคมีธุรกิจการค้าประเภทสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร เป็นโครงสร้างหลักทางเศรษฐกิจ โดยมีศูนย์กลางตลาดผักผลไม้ในภูมิภาค โดยเป็นหนึ่งในตลาดกลางสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุด แห่งหนึ่งของประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีตลาดสดและตลาดนัดในท้องที่ต่าง ๆ ควบคู่กับการเลี้ยงปศุสัตว์ และโรงงานอาหารสัตว์ ที่มีมากในเขตอำเภอปากท่อ และอำเภอโพธาราม และยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น โดยจังหวัดราชบุรีเป็น 1 ใน 14 จังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศไทยศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญจะกระจายอยู่ใน พื้นที่เมืองใหญ่ ได้แก่ เมืองราชบุรี และเมืองบ้านโป่ง เป็นต้น โดยเป็นที่ตั้ง ศูนย์ และสำนักงานสาขาในเขตภูมิภาค ของบริษัทชั้นนำหลายๆ แห่ง เช่น ปตท. โตโยต้า เป็นต้น อีกทั้งเป็นจังหวัดที่มีเศรษฐกิจเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เฉลี่ยปีละประมาณ 5-6 % ทำให้มีการลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น ศูนย์การค้า โครงการที่อยู่อาศัย บริษัท ห้างร้านต่างๆ เป็นต้น
..และจังหวัดราชบุรีมีอู่ต่อรถโดยสารมากประมาณ50กว่าอู่ มีชื่อเสียงมากในเรื่องการต่อรถโดยสาร เป็นที่แรกๆที่กำเนิดรถโดยสารของประเทศ...เป็นยนตกรรมทำด้วยมือก็ว่าได้
เมืองราชบุรีในอดีต นับว่าเป็นเมืองน่าด่านที่สำคัญ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่า ปรากฏหลักฐานในประวัติศาสตร์ว่า พม่าได้พยายามยกทัพผ่านเมืองราชบุรี เพื่อเข้าตีกรุงเทพมหานครในสงครามเก้าทัพ สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นการยกทัพเพื่อรุกรานไทยเป็นครั้งสุดท้ายอีกด้วย จ.ราชบุรีเป็นเมืองชายแดนทิศตะวันตกของไทย มีอาณาเขตติดต่อกับสหภาพพม่าบริเวณ อ.สวนผึ้ง และ อ.บ้านคา เป็นระยะทางยาวประมาณ 73 กิโลเมตร ฝั่งสหภาพพม่าตรงข้ามกับ จ.ราชบุรี เป็นเทือกเขาตะนาวศรี มีแม่น้ำตะนาวศรีพาดผ่านจากตอนเหนือไหลลงสู่ทะเลอันดามันทางด้านทิศใต้บริเวณเมืองมะริด (MERGUI) แม่น้ำตะนาวศรีหรือที่เรียกกันว่า เกรทแทนเนสซาริน (TENASSERIM RIVER) อยู่ห่างจาก อ.สวนผึ้ง ออกไปทางทิศตะวันตกเพียง 12 กิโลเมตร มีความกว้างประมาณ 500 เมตร จากการศึกษาแผนที่และภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อกำหนดแนวถนนที่เหมาะสมที่สุด เชื่อระหว่าง จ.ราชบุรี กับเมือเป (PE) ในสหภาพพม่า ในเบื้องต้นได้ข้อเท็จจริงว่าระยะทางในภุมิประเทศจากช่องห้วยคอกหมูใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ถึงเมืองเป (PE) ริมฝั่งทะเลอันดามัน ในพม่า มีระยะเพียงประมาณ 120 กิโลเมตร โดยเส้นทางด้านที่ติดอยู่กับประเทศไทย เป็นระยะยาว 2 ใน 3 ของเส้นทาง มีลักษณะเป็นพื้นที่ภูเขา มีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ส่วนเส้นทางสู่ทะเลอันดามันที่เหลืออีกประมาณ 1 ใน 3 มีลักษณะเป็นถนนดินที่มีอยู่เดิม ซึ่งในไปสู่เมืองเป (PE) มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มมีเมืองต่างๆ ตามรายทาง คือ เมืองเย็บบู (YEBU) เมืองมิยังเบียง (MIGYAUNBYUAIN) เมืองลิชชี (LICHE) และเมืองเพตากัท (PETAKAT) สำหรับเมืองเป (PE) หากได้รับการพัฒนาจะกลายเป็นเมืองยุทธศาสตร์ เนื่องจากเหตุผลในด้านทำเลที่ตั้งเมือง ดังนี้ คือเมืองเป (PE) อยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างเมืองทวายและเมืองมะริด และทางหลวงที่เชื่อมระหว่างเมืองทวายและเมืองมะริดตัดผ่านพอดี
การศึกษาของ บริษัท อันดามันซี โทลเวย์และพอร์ต จำกัด (ANDAMAN SEA TOLLWAY&PORT LTD.) เมื่อ พ.ศ. 2543 ระบุว่า "ชิเทียงยี" ซึ่งอยู่ใกล้เมืองเป (PE) มีความเหมาะสมที่จะก่อสร้างเป็นท่าเรือมาตรฐานนานาชาติ เนื่องจากจากพื้นที่บริเวณนี้ มีสิ่งป้องกันโดยธรรมชาติทางฝั่งเหนือ ได้แก่ ภูเขาที่เป็นแนวกำแพงธรรมชาติในทะเล แต่ก็ยังต้องการเขื่อนป้องกันคลื่นทางด้านทิศใต้ เนื่องจากในฤดูมรสุม คลื่นจะมีขนาดใหญ่ เมืองเป (PE) อยู่ใกล้กับกรุงเทพมหานครมากกว่าเมืองใดๆ ในสหภาพพม่า ที่อยู่ติดกับทะเลอันดามัน คือมีระยะทางตามภูมิประเทศ อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 300 กิโลเมตรเท่านั้น ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาของ จ.ราชบุรี กรมการทหารช่างจึงได้นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ มาใช้ในการวิเคราะห์และออกแบบแนวเส้นทาง โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการจัดทำแผนที่เส้นทาง ซึ่งมีรายละเอียดตามผังที่แนบ และได้นำเสนอในงานแถลงศักยภาพและบทบาทของกรมการทหารช่าง กับงานยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.ราชบุรี ต่อ หัวหน้าส่วนราชการทั้งภาครัฐและเอกชนและกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2547 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนั้น จังหวัดราชบุรี จึงได้ออกคำสั่งที่ 2313/2547 ลงวันที่ 20 ก.ย.2547 แต่งตั้งคณะทำงานสำรวจและศึกษาความเหมาะสมเชิงพานิชย์ ในการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ระหว่างไทย-สหภาพพม่า ด้าน จ.ราชบุรี เพื่อสำรวจและศึกษาสภาพพื้นที่ศักยภาพ ตลอดจนความเหมาะสมเชิงพาณิชย์ ในการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมจาก จ.ราชบุรีสู่ฝั่งทะเลอันดามัน
แม้จะไม่มีถนนที่สะดวกสบายในสหภาพพม่า เช่นเดียวกับประเทศไทย แต่การค้าระหว่าง 2 ประเทศ ที่มีพรมแดนติดต่อกัน จาก จ.เชียงราย ถึง จ.ระนอง ในปี 2546 ที่ผ่านมา ก็มีมูลค่ารวมถึง 57,716 ล้านบาท โดยไทยเป็ยฝ่ายขาดดุลการค้าอยู่ถึง 33,675 ล้านบาท และมูลค่าการค้าขายระหว่างไทย-พม่า ก็ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวมา กขึ้น ท่ามกลางกระแสความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหภาพพม่านั่นเอง โดย จ.ราชบุรี แม้จะมีพรมแดนติดต่อกับพม่า แต่ก็ไม่มีมูลค่าการค้าขายระหว่างกันเกิดขึ้นเลย นับตั้งแต่การปิดจุดผ่านแดนเพื่อนำเข้าไม้จากพม่า เมื่อปี 2535 เป็นต้นมา สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังสหภาพพม่าในปี 2546 คือ อุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งมีมูลค่าทั้งสิ้น 2,802 ล้านบาท ส่วนสินค้าส่งออกที่สำคัญของสหภาพพม่า มายังประเทศไทย ในปี 2546 คือ เชิ้อเพลิง ซึ่งมีมูลค่าถึง 44,272 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การสร้างถนนจาก จ.ราชบุรี สู่ทะเลอันดามัน จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการค้าระหวางประเทศไทยกับสหภาพพม่าอย่างมหาศาล โดยเฉพาะนักธุรกิจชาวไทยที่มีสินค้าต่างๆ ทุกชนิดพร้อมที่จะส่งออก แต่ก็จำกัดด้วยเส้นทางคมนาคม ที่จะนำสินค้าเข้าสู่เมืองสำคัญในสหภาพพม่า ยิ่งไปกว่านั้น เส้นทางสาย จ.ราชบุรี สู่ทะเลอันดามัน จะสามารถร่นระยะทางที่จะขนสินค้าไปสู่อินเดีย และยุโรป ได้อีกด้วย โดยคาดว่า หากได้รับการผลักดันอย่างจริงจังจากรัฐบาลทั้งสองประเทศแล้ว โครงการนี้จะสร้างผลประโยชน์ให้กับไทยและสหภาพพม่า