สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (อังกฤษ: Office of the Royal Society) หรือชื่อเดิมว่า ราชบัณฑิตยสถาน (อังกฤษ: the Royal Institute) เป็นส่วนราชการไทยระดับเทียบเท่ากรม ซึ่งขึ้นตรงบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี เป็นที่รู้จักทั่วไปในภารกิจการจัดทำพจนานุกรม และการบัญญัติหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย ทั้งนี้ ราชบัณฑิตยสภา (เดิมคือ สภาราชบัณฑิต) มีหน้าที่ค้นคว้า บำรุงรักษา เผยแพร่ และพัฒนาวิทยาการทุกแขนง เพื่อประโยชน์สาธารณะ
สำนักงานราชบัณฑิตยสภาเป็นสถาบันหลักของเครือข่ายทางปัญญาแห่งชาติ และเป็นองค์การพัฒนาความรู้ที่สามารถเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ โดยมีพันธกิจดังต่อไปนี้
สำนักงานราชบัณฑิตยสภามีหน้าที่ในการค้นคว้า วิจัย และนำเสนอผลงานอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ทั้งให้คำแนะนำทางวิชาการแก่หน่วยงานราชการและประชาชน ทั้งนี้ยังมีหน้าที่สำคัญ คือ การจัดทำพจนานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธานธรรมชาติวิทยา การบัญญัติศัพท์วิชาการ และงานวิชาการอื่น ๆ
สำนักในราชบัณฑิตยสภามีด้วยกัน 3 สำนัก แต่ละสำนักประกอบด้วยคณะราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกสาขาวิชาต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 137 สาขา
ภาคีสมาชิก ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง ที่สมัครเข้าทำการร่วมกับราชบัณฑิตยสภา และราชบัณฑิตยสภาได้รับสมัครเป็นภาคีสมาชิกของสำนักใดสำนักหนึ่งแล้ว จำนวนภาคีสมาชิกมีจำกัดได้ไม่เกิน 160 คน แบ่งเป็น สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง 40 คน สำนักวิทยาศาสตร์ 80 คน สำนักศิลปกรรม 40 คน ปัจจุบันมีภาคีสมาชิก 74 คน[ต้องการอ้างอิง]
ราชบัณฑิต ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง โดยราชบัณฑิตจากทุกสำนักจะเป็นผู้คัดเลือกจากภาคีสมาชิก แล้วนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง มีได้จำกัดจำนวน ปัจจุบันมีราชบัณฑิตจำนวน 83 คน[ต้องการอ้างอิง]
ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของราชบัณฑิตยสภา ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยไม่จำกัดจำนวน ปัจจุบันมีราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 3 คน