รางวัลเมขลา เป็นรางวัลผลงานดีเด่นทางโทรทัศน์ ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2523 จนถึง พ.ศ. 2547 และได้มีการจัดงานขึ้นอีกครั้งหลังจากหายไป 6 ปี โดยจัดขึ้นในปี 2555 เป็นต้นมา ซึ่งถือเป็นการจัดครั้งที่ 24 และพิจารณาผลงานละครประจำปี พ.ศ. 2554
สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย ได้จัดงานรางวัลเมขลา เพื่อส่งเสริมและเป็นกำลังใจแก่ผู้เกี่ยวข้องในสายงานโทรทัศน์ โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2523 มี นายนคร วีระประวัติ เป็นนายกสมาคมฯ ส่วนผู้ตั้งชื่อรางวัล "เมขลา" คือ ศ.คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน จนถึงครั้งที่ 4 พ.ศ. 2528 กลุ่มคนดังกล่าวได้แยกตัวออกไปตั้งชมรมส่งเสริมโทรทัศน์ เพื่อจัดรางวัลโทรทัศน์ทองคำ สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทยจึงได้มีการเปลี่ยนตัวนายกสมาคมเป็น นายชาญ มีศรี ทำให้การจัดรางวัลเมขลายังคงดำเนินเรื่อยมาจนถึงครั้งที่ 23 พ.ศ. 2547
ในปี พ.ศ. 2554 สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย โดยนายชาตรี ศรียาภัย นายกสมาคม ได้รื้อฟื้นการจัดงานรางวัลเมขลาขึ้นอีก โดยเริ่มจัดเป็นครั้งที่ 24 โดยมีการแบ่งรางวัลออกเป็น 3 ประเภท คือ รางวัลเมขลา, รางวัลมณีเมขลา หรือ รางวัลยอดนิยมแห่งปี และ รางวัลดาวเมขลา ที่มอบให้กับเหล่าคนบันเทิง และสื่อมวลชนเป็นผู้ตัดสิน นอกจากนี้ยังมอบ รางวัลเมขลามหานิยมแห่งปี ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถโหวตให้กับดารานำชาย-หญิง, ผู้กำกับ, พิธีกร และผู้ดำเนินรายการที่ชื่นชอบ เป็นการจัดรางวัลเกียรติยศเป็นรายการแรกของไทย
รางวัลเมขลา ประกอบด้วยรางวัลประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงการโทรทัศน์ ทั้งนี้มิได้เป็นการประกวดรายการโทรทัศน์ แต่เป็นการพิจารณาผลงานทุกรายการในแต่ละปี โดยทำการคัดเลือกเพื่อมอบประกาศเกียรติคุณแก่เจ้าของผลงานทางโทรทัศน์ที่มีคุณภาพ ผ่านการตัดสินรางวัลของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ นักข่าว นักสื่อสารมวลชน โดยยึดแนวการตัดสินมอบรางวัลจากการจัดงาน Emmy Awards ของสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนสำคัญ มีพิธีมอบรางวัลเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนมกราคม
งานรางวัลเมขลา เคยได้รับการเรียกชื่อแทนจากนักวิจารณ์และสื่อมวลชนว่า "เมขโหล" มาตั้งแต่การจัดงานมาได้สิบครั้ง เนื่องจากในแต่ละปีมีจำนวนรางวัลมากจนเกินความจำเป็น บางประเภทกำหนดรางวัลจนทำให้ผู้คนเกิดความสับสนได้ นั่นย่อมทำให้การจัดรางวัลอาจลดความน่าเชื่อถือหรือไม่ได้มาตรฐาน เช่นเดียวกับการตัดสินผลรางวัลที่อาจไม่ตรงกับความเชื่อถือจากคนทั่วไป ทั้งที่ในการตัดสินทุกครั้งจะยึดถือความบริสุทธิ์ยุติธรรม ถ้ารายการใดที่มีความดีเด่นไม่ถึงขั้นก็ไม่สมควรจะมอบรางวัลให้ หรือกรรมการพอใจรายการของใครหรือเสน่หากับใครเป็นการส่วนตัวก็จะไม่ให้รางวัล โดยครั้งที่มีจำนวนรางวัลแจกกันมากที่สุด คือ ครั้งที่ 15 (2538) มี 80 รางวัล ซึ่งมากที่สุดในบรรดารางวัลด้านสื่อสารมวลชนในขณะนั้น