รัฐสภาสหราชอาณาจักร หรือ รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (อังกฤษ: Parliament of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland หรือ Parliament of the United Kingdom) เป็นสถาบันฝ่ายนิติบัญญัติสูงสุดในสหราชอาณาจักรและดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร โดยมีประมุขเป็นพระมหากษัตริย์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
รัฐสภาสหราชอาณาจักรอังกฤษเป็นระบบสองสภา (Bicameralism) ซึ่งประกอบไปด้วย “สภาสูง” หรือ สภาขุนนาง (House of Lords) และ “สภาล่าง” หรือ สภาสามัญชน (House of Commons) พระมหากษัตริย์เป็นองค์ประกอบที่สามของรัฐสภา
สภาทั้งสองสภาประชุมแยกกันในห้องประชุมรัฐสภาภายในพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ตึกรัฐสภา” ที่นครเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน ตามปกติแล้วรัฐมนตรีของรัฐบาลทั้งหมดรวมทั้งนายรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกสภาสามัญชน แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางกรณีที่เป็นสมาชิกของสภาขุนนาง
รัฐสภาสหราชอาณาจักรอังกฤษก่อตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1707 เพื่อแทนที่รัฐสภาอังกฤษ และ รัฐสภาแห่งสกอตแลนด์หลังจากการลงนามในพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ซึ่งรวมราชอาณาจักรอังกฤษและและ ราชอาณาจักรสกอตแลนด์เข้าด้วยกัน ซึ่งก็เป็นรัฐสภาอังกฤษเดิมที่มาเพิ่มสมาชิกจากสภาสามัญชนและสภาขุนนางของรัฐสภาแห่งสกอตแลนด์ รัฐสภาอังกฤษวิวัฒนาการมาจากสภาของต้นสมัยกลางซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาต่อพระมหากษัตริย์อังกฤษ ระบบรัฐสภาของอังกฤษได้รับการขนานนามว่าเป็น “แม่แห่งรัฐสภา” ซึ่งเป็นระบบประชาธิปไตยที่เป็นรากฐานของมาตรฐานในการก่อตั้งระบบรัฐสภาทั่วโลก นอกจากนั้นรัฐสภาสหราชอาณาจักรอังกฤษในปัจจุบันยังเป็นระบบรัฐสภาของประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ (Anglophone) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ตามทฤษฏีแล้วอำนาจนิติบัญญัติเป็นอำนาจภายใต้ “รัฐสภากษัตริย์” (Queen-in-Parliament หรือ King-in-Parliament) แต่ในสมัยปัจจุบันอำนาจที่แท้จริงอยู่กับสภาสามัญชน พระมหากษัตริย์โดยทั่วไปมีหน้าที่ให้คำแนะนำต่อนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ส่วนอำนาจของสภาของสภาขุนนางเป็นอำนาจที่มีเพียงจำกัด
ในสมัยกลางและต้นสมัยใหม่ราชอาณาจักรอังกฤษ ราชอาณาจักรสกอตแลนด์ และราชอาณาจักรไอร์แลนด์ ต่างก็มีรัฐสภาเป็นของตนเอง พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 รวมรัฐสภาอังกฤษและ รัฐสภาแห่งสกอตแลนด์เป็นรัฐสภาแห่งบริเตนใหญ่ และ พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800 รวมไอร์แลนด์เป็น รัฐสภาสหราชอาณาจักร
รัฐสภาอังกฤษมีรากฐานมาจากสภาวิททัน (Witenagemot) ของ แองโกล-แซ็กซอน ใน ค.ศ. 1066 พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 หลังจากที่ทรงได้รับชัยชนะต่ออังกฤษทรงนำระบบเจ้าขุนมูลนาย (feudal system) เข้ามาในอังกฤษ ระบบศักดินาของพระเจ้าวิลเลียมเป็นระบบที่พระองค์ต้องปรึกษาสภาราชสำนัก (crown council) ของขุนนางผู้ปกครองที่ดิน (tenants-in-chief) ภายในราชอาณาจักรและทางคริสตจักรก่อนที่จะออกกฎหมายได้ หลังจากนั้นสภาราชสำนักก็กลายมาเป็น สภาองคมนตรี (Curia Regis) ในอังกฤษเป็นสภาของขุนนางผู้มีที่ดินและนักบวชอาวุโสที่มีหน้าที่ในการถวายคำปรึกษาต่อพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับนิติบัญญัติ สภาองคมนตรี
ขุนนางผู้ปกครองที่ดินมักจะมึความขัดแย้งกันทางอำนาจกับพระเจ้าแผ่นดิน ใน ค.ศ. 1215 ขุนนางเหล่านี้ก็บังคับให้พระเจ้าจอห์น ลงนามในมหากฎบัตร (Magna Carta) ซึ่งกำหนดห้ามมิให้พระมหากษัตริย์เรียกเก็บภาษีที่นอกเหนือไปจากปกติได้ตามใจชอบนอกจากว่าจะได้รับการเห็นชอบจากสภาองค์มนตรีซึ่งค่อยกลายมาเป็นรัฐสภาในที่สุด
รัฐสภาแรกที่ตั้งขึ้นในอังกฤษตั้งขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ใน ค.ศ. 1265 ซีมง เดอ มงฟอร์ เอิร์ลที่ 6 แห่งเลสเตอร์ ปฏิปักษ์ของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 เรียกประชุมรัฐสภาของผู้สนับสนุนโดยมิได้รับพระราชานุญาตจากพระเจ้าเฮนรีล่วงหน้า อาร์ชบิชอป บิชอป อธิการอาราม เอิร์ล และบารอนต่างก็ถูกเรียกตัวมาประชุม และอัศวินสองคนจากแต่ละไชร์ (shire) และคหบดีสองคนจากแต่ละบุรี (borough) ระบบการเลือกผู้แทนมาประชุมของมองท์ฟอร์ทเรียกกันว่า ระบบรัฐสภา ค.ศ. 1295 (Model Parliament) และเป็นที่ยอมรับโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1
พระราชบัญญัติผนวกดินแดนเวลส์ ค.ศ. 1535–1542 รวมเวลส์มาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอังกฤษ รัฐสภาอังกฤษจึงมีผู้แทนจาก เวลส์
เมื่อพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 เสด็จสวรรคต พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ก็ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 1 อังกฤษ แต่ถึงแม้ว่าราชอาณาจักรอังกฤษ และ ราชอาณาจักรสกอตแลนด์ แต่แต่ละราชอาณาจักรก็ยังคงมีรัฐสภาแยกจากกัน พระเจ้าชาลส์ที่ 1 ผู้ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ทรงมีปัญหาขัดแย้งกับรัฐสภาอังกฤษ และทรงทำให้เกิดสงครามสามอาณาจักร (Wars of the Three Kingdoms) ซึ่งบานปลายออกไปเป็น สงครามกลางเมืองอังกฤษ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงถูกสำเร็จโทษเมื่อ ค.ศ. 1649 อังกฤษกลายมาเป็นเครือจักรภพอังกฤษ ปกครองโดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ผู้ยุบสภาขุนนาง และสภาสามัญชนมาอยู่ภายใต้อำนาจของครอมเวลล์ หลังจาก ริชาร์ด ครอมเวลล์ (ลูกของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์) เสียชีวิตก็ได้มีการฟื้นฟูการปกครองกลับไปเป็นระบบราชาธิปไตยใน ค.ศ. 1660 และรื้อฟื้นสภาขุนนางอย่างที่เคยเป็นมา
ความที่กลัวว่าอังกฤษจะถูกปกครองโดยผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกของผู้สืบเชิ้อสายจากพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์จึงทรงยกทัพจากเนเธอร์แลนด์มาอังกฤษตามคำอัญเชิญของผู้อัญเชิญทั้งเจ็ด ใน ค.ศ. 1688 เพื่อโค่นราชบัลลังก์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ใน การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ เมื่อสำเร็จพระองค์และเจ้าหญิงแมรีก็ขึ้นครองราชย์ร่วมกันเป็นพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 และ พระราชินีนาถแมรีที่ 2 ตามข้อตกลงในพระราชปฏิญญาสิทธิซึ่งเป็นการเริ่มเข้าสู่ระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแต่อำนาจสูงสุดยังอยู่ที่พระมหากษัตริย์ หลังจากนั้นก็ได้มีการเรียกประชุมรัฐสภากันเป็นครั้งที่สามเพื่อการกำหนดผู้มีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์