รัฐบาลไทย เป็นรัฐบาลของราชอาณาจักรไทยซึ่งเป็นรัฐบาลเดี่ยว รัฐบาลไทยมีบทบาทขึ้นอย่างชัดเจนในสมัยรัฐชาติอันสถานปนาขึ้นครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวภายหลังทรงผนวกดินแดนและอาณาจักรภายใต้ปกครองของอาณาจักรสยามขึ้นเป็นสยามประเทศ รัฐบาลไทยผ่านการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย ปัจจุบันรัฐบาลไทยแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ รัฐบาลไทยมีรูปแบบตามระบบเวสต์มินสเตอร์ของสหราชอาณาจักร
นายกรัฐมนตรี คือผู้นำของรัฐบาล ประธานของคณะรัฐมนตรี และประธานแห่งอำนาจฝ่ายบริหาร มาจากการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นจึงมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไทย
นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนมีอำนาจเสนอต่อพระมหากษัตริย์ให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร การกราบบังคมทูลเสนอชื่อหรือปลดรัฐมนตรี และเป็นตัวแทนของประเทศในการเดินทางไปยังต่างประเทศ และเป็นผู้แถลงการณ์หลักของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีสามารถพ้นจากตำแหน่งได้จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน ว่าการกระทรวงในประเทศไทยทั้ง 20 กระทรวงและสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ตลอดจนร่างและดำเนินการตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา มีสถานที่ทำงานอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล รัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกรัฐสภา
รัฐมนตรีอย่างน้อยหนึ่งคนต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ คณะรัฐมนตรีสามารถนำกฎหมายขึ้นกราบทูลให้ตราเป็นพระราชกำหนดเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติได้ เช่นเดียวกับกรณีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนหรือโดยลับ
ศาลไทยเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาทุกระดับจำต้องได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไทย ศาลปฏิบัติการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ศาลไทยมี 4 ประเภท ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission) วิจารณ์ว่า ระบบศาลไทย โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น "เลอะเทอะ" และไม่สามารถสร้างความมั่นใจว่า กระบวนพิจารณาจะดำเนินไปอย่างรวดเร็ดและเป็นธรรม แม้คดีลอบฆ่าประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฎีกาเอง ศาลชั้นต้นยังใช้เวลาพิจารณาถึง 15 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2536 ถึงปี 2551 ในช่วงดังกล่าว จำเลยต้องขึ้นศาล 461 ครั้ง และถูกผู้พิพากษา 91 คนไต่สวน จำเลยบางคนตายก่อนพิพากษา ส่วนประมาณตายอย่างสงบด้วยโรคปอดติดเชื้อเมื่อปี 2550
การปกครองส่วนภูมิภาคของไทยแบ่งออกเป็น กรุงเทพมหานคร 76 จังหวัด 896 อำเภอ และ 50 เขตในกรุงเทพมหานคร