การเมืองกัมพูชาอยู่ในกรอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล มีรัฐสภาและเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน อำนาจบริหารเป็นของรัฐบาล อำนาจนิติบัญญัติเป็นของสภาคือรัฐสภาและพฤฒิสภา
นายกรัฐมนตรีกัมพูชามาจากพรรคการเมืองในรัฐสภา ได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของประธานและรองประธานรัฐสภา หลังจากนั้นต้องได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลในกัมพูชา เมื่อเข้าทำงานจะแต่งตั้งรัฐมนตรีมารับผิดชอบงานต่างๆซึ่งเรียกว่าสภารัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือฮุน เซน มาจากพรรคประชาชนกัมพูชา ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่การเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 หนึ่งปีหลังเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2540 เพื่อโค่นล้มพระนโรดม รณฤทธิ์ จนปัจจุบัน
หน้าที่ของสมัชชาแห่งชาติคือออกกฎหมาย โดยหลังจากผ่านสภาแล้วจึงเสนอต่อพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาแล้ว รัฐสภายังมีอำนาจในการถอดถอนนายกรัฐมนตรีโดยออกเสียงไม่ไว้วางใจมากกว่าสองในสาม
การปกครองของกัมพูชาเป็นแบบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระมหากษัตริย์มีฐานะเป็นประมุขรัฐ ไม่มีอำนาจปกครอง ทรงเป็นสัญลักษณ์ถึงความเป็นเอกภาพและความยั่งยืนของชาติ พระนโรดม สีหนุทรงเป็นประมุขรัฐระหว่าง 24 กันยายน พ.ศ. 2536 จนถึง 7 ตุลาคม พ.ศ. 2547 พระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจทางการเมืองแต่พระนโรดม สีหนุทรงมีบารมีที่ทำให้พระองค์มีอิทธิพลต่อรัฐบาลและมีบทบาทในการยับยั้งความขัดแย้งภายในรัฐบาล หลังจากพระนโรดม สีหนุสละราชสมบัติใน พ.ศ. 2547 พระโอรสของพระองค์คือพระนโรดม สีหมุนีได้เป็นกษัตริย์ต่อมา ส่วนพระนโรดม สีหนุที่สละราชสมบัติไปนั้น สมัชชาแห่งชาติได้กำหนดตำแหน่งของพระองค์เป็นพระมหาวีรกษัตริย์
การสืบราชสมบัติถูกกำหนดโดยสภาราชบัลลังก์ซึ่งประกอบด้วยประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี พระสังฆราช รองประธานรัฐสภาคนที่ 1 และคนที่ 2 จะมีการเรียกประชุมสภาราชบัลลังก์ภายใน 1 สัปดาห์หลังจากพระมหากษัตริย์สวรรคตหรือสละราชสมบัติ และจะเลือกจากสมาชิกราชวงศ์ที่มีสิทธิในราชบัลลังก์
ACCT, AsDB, ASEAN, CP, ESCAP, FAO, G-77, IAEA, IBRD, ICAO, ICC, ICRM, IDA, IFAD, IFC, IFRCS, ILO, IMF, IMO, Intelsat (ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ, Interpol, IOC, ISO, ITU, NAM, OPCW, PCA, UN, UNCTAD, UNESCO, UNIDO, UPU, WB, WFTU, WHO, WIPO, WMO, WTO, WToO, WTrO (ขอสมัคร)
การปกครองท้องถิ่นทั้ง 24 จังหวัด. ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยของรัฐบาลกลาง เริ่มมีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นใน พ.ศ. 2545 และเลือกตั้งทุกๆ 5 ปี