รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นกฎหมายลำดับศักดิ์สูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองของประเทศ ซึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแล้วทั้งสิ้น 19 ฉบับ อันแสดงให้เห็นถึงความขาดเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
รัฐธรรมนูญไทยระบุว่าประเทศไทยมีรูปแบบรัฐเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (เขียนว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) กำหนดให้มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับกำหนดให้ผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้งแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญและวินิจฉัยข้อขัดแย้งข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ
ในวิชากฎหมาย แนวคิดประชาธิปไตยตะวันตกได้ถ่ายทอดอยู่ในรูปแบบของทฤษฎีกฎหมายที่เรียก รัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการสามประการ คือ การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการเสริมสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพให้กับรัฐบาล รัฐธรรมนูญของไทยหลายฉบับได้ยอมรับแนวคิดดังกล่าวและนำมาเป็นเจตนารมณ์แห่งรัฐ ธรรมนูญในการกำหนดกรอบในการตราบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหลายฉบับ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นต้น โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติอย่างชัดแจ้งถึงหลักการดังกล่าวในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นโดยสภาพแล้วรัฐธรรมนูญไทยหลายฉบับที่มีกรอบความคิดแบบตะวันตก ควรเกิดผลตามครรลองประชาธิปไตยตะวันตกเหมือนอย่างประเทศตะวันตก แต่สิ่งที่เกิดในระบบการเมืองไทยดูเหมือนสวนทางระบบการเมืองตะวันตก ซึ่งต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกฎหมายลายลักษณ์อักษรสูงสุดของรัฐ ประเทศไทยมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง ซึ่งขัดกับแนวคิดทางนิติศาสตร์ที่ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ ซึ่งควรมีความศักดิ์สิทธิ์และคงทนถาวร[ต้องการอ้างอิง]
สำหรับประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนั้นนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2 ลักษณะคือ รัฐธรรมนูญ มุ่งจะใช้บังคับเป็นการถาวรโดยที่มีการยกร่างกันอย่างเป็นระบบ กับรัฐธรรมนูญที่มุ่งจะใช้บังคับเป็นการชั่วคราวซึ่งมักเรียก ธรรมนูญการปกครอง
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบางฉบับใช้บังคับเป็นเวลานาน เช่น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งเกิดขึ้นจากรัฐประหารจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ใช้บังคับเป็นเวลา 9 ปีเศษ แต่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรหลายฉบับใช้บังคับในระยะเวลาสั้น ๆ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีหลักการสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างอำนาจทางการเมืองซึ่งไม่ได้อยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง ทว่าตกอยู่ในมือของกลุ่มข้าราชการประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายทหารระดับสูง[ต้องการอ้างอิง] ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญที่มุ่งจะใช้บังคับเป็นการถาวรจึงมักถูกยกเลิกโดยรัฐประหาร โดยคณะผู้นำทางทหาร เมื่อคณะรัฐประหาร[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น คณะปฏิวัติ คณะปฏิรูป หรือคณะรักษาความสงบเรียบร้อย ยึดอำนาจได้สำเร็จก็จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้วจึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มุ่งใช้บังคับถาวรแล้วก็จะมีการเลือกตั้ง และตามด้วยการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่เมื่อรัฐบาลบริหารประเทศไปได้ระยะหนึ่งก็จะถูกรัฐประหาร และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แล้วก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พร้อมทั้งจัดให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรใหม่อีก หมุนเวียนเป็นวงจรการเมืองของรัฐไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานนับหลายสิบปี นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา[ต้องการอ้างอิง]
แม้จะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติศาสตร์[ต้องการอ้างอิง] หลังจากจอมพล ถนอม กิตติขจรรัฐประหาตนเอง เพราะขณะรัฐประหารนั้น จอมพลถนอมดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พร้อมเตรียมร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรตามวงจรการเมืองของไทยที่เคยเป็นมา ก็เกิดกระบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญจนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด จนทำให้จอมพล ถนอม กิตติขจรต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเดินทางออกนอกประเทศ และแม้ต่อมาจะมีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ที่เป็นรัฐธรรมนูญซึ่งมีหลักการที่เป็นประชาธิปไตยมากฉบับหนึ่ง แต่ในที่สุดก็มีรัฐประหารอีก แล้วก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ทำให้วงจรการเมืองไทยหมุนกลับไปสู่วงจรเดิม คือ รัฐประหาร ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร จัดให้มีการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซ้ำซากไม่จบสิ้น เฉลี่ยแล้ว รัฐธรรมนูญไทยเปลี่ยนแปลงทุก 4 ปี[ต้องการอ้างอิง] ต่างจากกรณีสหรัฐอเมริกาที่มีรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียว ซึ่งนับตั้งแต่ประกาศใช้ 7 มาตรา 55 อนุมาตรา ใน พ.ศ. 2332 ก็มีแต่การแก้ไขให้ทันสมัยเท่านั้น
อย่างไรก็ดี มิใช่ว่ารัฐธรรมนูญที่ดีจะไม่อาจแก้ไขได้เลย เพราะในความเป็นจริงย่อมไม่มีกฎหมายฉบับใดที่เหมาะสมกับทุกเวลาสถานการณ์ได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญก็อาจแก้ไขได้ ตามเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่ต้องเป็นไปตามความจำเป็นเท่านั้น อาทิเช่น กรณีของสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวมาข้างต้น ปัจจุบันยังไม่เคยเปลี่ยนรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ยังคงใช้ฉบับเดิมมาแต่แรก มีเพียงการแก้ไขปรับปรุงส่วนที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้น การจะทำให้กลไกหรือมาตรการต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญยั่งยืนถาวรได้นั้น จึงอยู่ที่ทุกคนในสังคมที่จะกำหนดวัฒนธรรมทางการเมืองของสังคมว่าจะมีส่วนเข้าใจและเข้าถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยได้เพียงใด
ก่อนที่ราชอาณาจักรไทยจะมีรัฐธรรมนูญนั้น ราชอาณาจักรไทยมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ไทยเชิงการเมืองการปกครอง เมื่อคณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการสายทหารบก ทหารเรือ และสายพลเรือน จำนวน 99 คน โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้า ร่วมกันยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระมหากษัตริย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงตัดสินพระทัยที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยสงบ ดังความตามพระราชหัตถเลขา (ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ) ที่ทรงเขียนในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2475 ไม่ลงวันที่ พระราชทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งได้แปลเป็นภาษาไทยในหนังสือเรื่อง เกิดวังปารุสก์ เล่ม 2 ความดังนี้[ต้องการอ้างอิง]
ฉันรู้สึกเสียดายอย่างยิ่งที่เขามิได้คิดจะถอดฉัน และฉันยังเสียใจอยู่จนบัดนี้ ความรู้สึกขั้นแรกก็คือจะลาออกทันที แต่สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ แนะนำว่าไม่ควรทำ เพราะถ้าทำเช่นนั้นอาจมีการรบกันจนนองเลือดทั้งยุ่งยากต่างๆ จนอาจมีฝรั่งเข้ามายุ่งและชาติเราอาจเสียอิสรภาพได้...
ถ้าเราจะรบโดยใช้ทหารหัวเมืองหรือ นั่นเป็นของแน่ที่เราอาจทำได้ แต่ฉันไม่ยินยอมเลยแม้แต่ชั่วขณะเดียว เพราะเจ้านายในกรุงเทพฯ อาจจะถูกฆ่าหมด ฉันรู้สึกว่าฉันจะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์ที่เปื้อนโลหิตไม่ได้... สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ แนะนำตลอดเวลาว่าให้ยินยอมกลับกรุงเทพฯ และช่วยคณะราษฎรจัดตั้งการปกครอง โดยมีกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นของที่ฉันเคยอยากจะทำมานานแล้ว แต่ว่าฉันเสียขวัญ
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก่เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 หลังจากนั้น ทรงสละราชสมบัติ ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะทรงประทับอยู่ที่สหราชอาณาจักร หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงปีเศษ โดยทรงมีเหตุผลในการตัดสินพระทัย ตามความในพระราชหัตถเลขา ดังนี้
ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้า ให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร
บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียง ในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้ เปนอันหมดหนทาง ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เปนต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเปนของข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เปนพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวง อันเปนของข้าพเจ้าแต่เดิมมา ก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์
รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” จากนั้น ราชอาณาจักรไทยก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาตามลำดับ ดังนี้
หากแบ่งกลุ่มรัฐธรรมนูญด้วยการวัดที่ระดับการเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติ จะสามารถแบ่งได้เป็นสามกลุ่มดังนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบางฉบับมีการให้อำนาจฝ่ายบริหารโดยไม่มีการถ่วงดุล ทำให้ฝ่ายบริหารมีความเฉียบขาดในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งอาจทำให้เกิดความฉับไวในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน แต่ก็นำมาซึ่งการใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิดโดยมีการสั่งลงโทษประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปแล้วเป็นจำนวนมาก
มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยถึง 4 ฉบับที่มีบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งในฉบับต่อๆ มานั้นหมายเลขมาตราได้เลื่อนไป แต่ผู้คนก็ยังนิยมกล่าวถึงกรณีการใช้อำนาจเด็ดขาดของนายกรัฐมนตรีว่า "ใช้อำนาจตามมาตรา 17"[ต้องการอ้างอิง]
มาตรา ๑๗ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชนทั้งนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้และไม่ว่าจะเกิดขึ้น ภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภานโยบายแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำของนายกรัฐมนตรีรวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่ง ดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำ การใดไปตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 ให้อำนาจแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเหนืออำนาจของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการซึ่งคล้ายคลึงกับธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 มาตรา 17 และมาตรา 48 ซึ่งนิรโทษกรรมความผิดของทหารทั้งในอดีตและอนาคต จนถูกวิจารณ์
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย