รัฐธรรมนูญในประเทศลาวมีที่ประกาศใช้มาแล้ว 2 ฉบับคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรลาว และรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน
รัฐธรรมนูญฉบับแรกของลาว เขียนโดยฝรั่งเศส และปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ประกาศใช้เมื่อ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 โดยมีสถานะเป็นรัฐเอกราชในเครือสหภาพฝรั่งเศส ต่อมาได้มีการแก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 โดยตัดส่วนที่เกี่ยวข้องกับสหภาพฝรั่งเศสออกไป รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกยกเลิกเมื่อ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นวันที่เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์
ในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นเวลา 16 ปีหลังจากจัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สภาประชาชนสูงสุดซึ่งเป็นหน่วยงานด้านนิติบัญญัติสูงสุดของรัฐ ได้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ การร่างรัฐธรรมนูญนั้นได้เริ่มต้นอย่างช้าๆตั้งแต่พ.ศ. 2518 แต่ก็ไม่มีความก้าวหน้าจนการประชุมพรรคครั้งที่สามจึงได้เร่งรัดการร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ทำงานอย่างไม่เป็นทางการโดยมีประธานคือสีสมพน โลวันไซ ซึ่งเป็นคณะกรรมการโพลิตบูโร มีที่ปรึกษาจากเยอรมันตะวันออก การมอบหมายงานอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นเมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527
แม้ว่าองค์กรทางการเมืองจะทำงานโดยไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรถึง 15 ปี แต่ก็ส่งผลพัฒนาประเทศ เป็นอุปสรรคลงทุนของต่างประเทศในลาวเพราะขาดกฎหมายที่ชัดเจน หลังจากที่มีการเลือกตั้งสภาประชาชนใหม่ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2532 มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่างรับธรรมนูญอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยคณะกรรมการนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคณะกรรมการโพลิตบูโรและคณะเลขาธิการพรรค ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2533 หลังจากที่มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญโดยรอบคอบจึงได้นำเสนอร่างต่อสาธารณชน
รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2534 นี้ได้รับอิทธิพลทั้งจากแนวคิดปฏิวัติดั้งเดิม เศรษฐกิจ การเมืองแนวเสรีนิยม การเปลี่ยนแปลงในโลกสังคมนิยม และการถ่วงดุลในระดับนานาชาติ