ซัคเซิน (เยอรมัน: Sachsen) หรือ แซกโซนี (อังกฤษ: Saxony) เป็นรัฐหนึ่งในประเทศเยอรมนี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศ ได้ชื่อว่าเป็นเสรีรัฐที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่แห่งหนึ่ง มีเมืองเดรสเดินเป็นเมืองหลวง
ในเขตแดนของรัฐซัคเซิน เป็นพื้นที่ที่มีหลักฐานของสิ่งมีชีวิตตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีการขุดค้นพบซากดึกดำบรรพ์ในเมืองเดรสเดินและบางส่วนในเมืองไลพ์ซิจ เชื่อกันว่าในสมัยจักรวรรดิโรมัน ชนเผ่าแซกซอนได้อพยพเข้ามายึดครองบริเวณนี้และตั้งชื่อพื้นที่บริเวณนี้ตามชื่อเรียกของเผ่าตนเอง ในยุคนั้นเชื่อว่าชนเผ่าแซกซอนได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ที่ได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้าทั่วเยอรมนี
หลังสิ้นยุคโรมัน พื้นที่บริเวณนี้ถูกรุกรานและปกครองโดยชาวสลาฟ ในระยแรก ดินแดนในซัคเซินประกอบไปด้วยดินแดนอันเป็นรัฐซัคเซิน รัฐนีเดอร์ซัคเซิน รัฐนอร์ดไรน์-เวสท์ฟาเลิน รัฐชเลสวิก-โฮลชไตน์ และรัฐซัคเซิน-อัลฮัลท์ในปัจจุบัน และดินแดนแห่งนี้ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ประมาณ 900 ปีหลังคริสตกาล ในศตวรรษที่ 10 ดยุคแห่งซัคเซินได้ดำรงตำแหน่งจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ในช่วงนี้เององค์จักรพรรดิจึงมอบตำแหน่งดยุคแห่งซัคเซินให้แก่ตระกูลบิลลุงส์ (Billungs) ในช่วงต่อ ๆ มาจึงพบหลักฐานการปกครองรัฐนี้โดยตระกูลบิลลุงส์ และเป็นเหตุให้โลทาร์แห่งซัพพลินแบร์กได้รับตำแหน่งจักรพรรดิในช่วงเวลาต่อมา
ต่อมาในปี ค.ศ. 1137 รัฐซัคเซินตกเป็นของตระกูลเวลฟ์ ซึ่งเป็นเชื้อสายของตระกูลบิลลุงส์ โดยรัฐซัคเซินรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยของเฮนรี ใจสิงห์ แต่เนื่องด้วยเฮนรีปฏิเสธการเข้าร่วมกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ทำสงครามกับอิตาลี หลังจากได้รับชัยชนะจากสงคราม จักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จึงได้กรีธาทัพเข้าตีรัฐซัคเซิน เป็นเหตุให้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1180 ดินแดนของอาณาจักรจึงถูกแบ่งออกเป็นหลายส่วน ดังนี้
ในปี ค.ศ. 1260 ดินแดนในรัฐซัคเซินถูกแบ่งอีกครั้งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ซัคเซิน-วิทเทนบูร์กและซัคเซิน-เลาเอนบูร์ก นับแต่นั้นเป็นต้นมา ดินแดนซัคเซิน-เลาเอนบูร์กก็ไม่ถูกนับรวมอยู่ในประวัติศาสตร์ของดินแดนแห่งนี้อีกเลย ส่วนซัคเซิน-วิทเทนบูร์กได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และผู้ครองรัฐนี้ได้รับตำแหน่งเจ้าผู้ครองนคร (อีเล็กเตอร์) ในศตวรรษที่ 14 อีกด้วย
กระทั่งในปี ค.ศ. 1423 ตระกูลเวททินแห่งไมเซน ได้ปกครองซัคเซิน-วิทเทนบูร์ก รัฐซัคเซินจึงมีความเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้ง แต่ขยายตัวมาทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้แทนพื้นที่เดิม และดินแดนแห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า "อัปเปอร์แซกโซนี" และหลายเป็น "แซกโซนี" (ซัคเซิน) ในที่สุด ส่วนดินแดนราบลุ่มระหว่างแม่น้ำเวเซอร์กับแม่น้ำเอลเบอจึงถูกเรียกว่า "โลเวอร์แซกโซนี" (นีเดอร์ซัคเซิน) แทน
ต่อมา ในปี ค.ศ. 1485 จึงได้มีการแยกพื้นที่รัฐทือริงเงินเพื่อแบ่งให้แก่ทายาทตระกูลวิทเทนปกครอง แต่กระนั้น รัฐซัคเซินส่วนที่เหลือก็ยังคงเรืองอำนาจกระทั่งได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมในศตวรรษที่ 18 นอกจากนั้นในด้านการเมือง รัฐซัคเซินยังถูกยื้อแย่งกันระหว่างปรัสเซียกับออสเตรีย
ในปี ค.ศ. 1806 รัฐซัคเซิน จึงได้แยกตัวออกจากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ โดยความช่วยเหลือของนโปเลียน อีเล็กเตอร์เฟรเดอริก เอากุสตุส ที่ 3 จึงได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็น กษัตริย์เฟรเดอริก เอากุสตุสที่ 1 แต่การเลือกอยู่ข้างนโปเลียนนี่เองที่ทำให้ เฟรเดอริกต้องโทษจำคุกในปี ค.ศ. 1813 ภายหลังจากกองทัพนโปเลียนแตกพ่ายแก่กองทัพพันธมิตรกษัตริย์ ในสงครามแห่งชนชาติที่เมืองไลพ์ซิจ แต่ภายหลังได้รับการปล่อยตัวและคืนตำแหน่งให้ปกครองดินแดนแห่งนี้ดังเดิม ตามมติของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา แต่ถูกริบดินแดนในส่วนที่เป็นรัฐซัคเซิน-อันฮัลท์ให้แก่ปรัสเซีย นับแต่นั้นมารัฐซัคเซินจึงเหลือดินแดนอยู่ดังที่เป็นในปัจจุบัน
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1849 เป็นต้นมา รัฐซัคเซินก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศสหพันธรัฐเยอรมนีมาโดยตลอด กระทั่งในปี ค.ศ. 1945 เยอรมนีภายใต้การนำทัพนาซีของฮิตเลอร์พ่ายสงครามให้แก่กองทัพสัมพันธมิตร จึงถูกแยกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมนีตะวันออก ภายใต้การปกครองระบบคอมมิวนิสต์ รัฐซัคเซินจึงถูกแยกการปกครองออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เดรสเดิน ไลพ์ซิจ และคาร์ลมาร์ก (เคมนิทซ์ในปัจจุบัน) กระทั่งในปี ค.ศ. 1990 จึงได้กลับมารวมภายใต้ประเทศสหพันรัฐเยอรมนีอีกครั้ง