ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (อังกฤษ: Bangkok Mass Transit, BMT) เป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร ที่ดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) (กทม., BMA) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นอกเหนือไปจากระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอื่น ได้แก่ ระบบรถไฟฟ้ามหานคร ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
โดยระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครที่เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบันได้แก่ รถไฟฟ้าบีทีเอส สายเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา
โครงการรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สาย 1 (สุขุมวิท) เป็นเส้นทางรถไฟฟ้ายกระดับตามแนวถนนสุขุมวิท ถนนเพลินจิต ถนนพระรามที่ 1 ถนนพญาไท ถนนพหลโยธิน และถนนลำลูกกา ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดปทุมธานี โดยมีจุดเริ่มต้นของโครงการที่ สถานีสยาม ซึ่งเป็นสถานีกลางของรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติทั้งสองสาย แนวเส้นทางของโครงการจะเป็นแนวเหนือ-ตะวันออก
โดยในแนวเหนือ รถไฟฟ้าจะเริ่มวิ่งจากสถานีสยาม เลี้ยวขวาเข้าถนนพญาไท เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้มที่สถานีราชเทวี และเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ รถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงอ่อน ที่สถานีพญาไท ตีโค้งผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ข้ามทางพิเศษศรีรัช เข้าสู่ถนนพหลโยธินที่สถานีสนามเป้า บริเวณด้านหน้าสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ผ่านศูนย์ซ่อมบำรุงใหญ่หมอชิตที่สถานีหมอชิต เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลที่สถานีสวนจตุจักร แล้วยกระดับข้ามทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ มาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลอีกครั้งที่สถานีห้าแยกลาดพร้าว จากนั้นวิ่งไปตามถนนพหลโยธิน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า สายสีชมพูที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ผ่านอนุสาวรีย์หลักสี่ แลัวหักโค้งเข้าถนนพิเศษที่ตัดใหม่ใกล้กับกรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศของกองทัพอากาศ ในเขตสายไหม แล้วข้ามคลองสอง เข้าสู่แนวถนนลำลูกกา ผ่านศูนย์ซ่อมบำรุงคูคต แล้ววิ่งต่อไปบนถนนลำลูกกา สิ้นสุดทั้งโครงการที่สถานีวงแหวนรอบนอกตะวันออก ใกล้ๆ กับถนนกาญจนาภิเษก ในพื้นที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
ส่วนแนวตะวันออก รถไฟฟ้าจะเริ่มวิ่งจากสถานีสยามตรงเข้าสู่ถนนเพลินจิต ข้ามทางพิเศษเฉลิมมหานคร เข้าสู่ถนนสุขุมวิทที่ สถานีนานา เชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลที่ สถานีอโศก จากนั้นวิ่งตรงไปตามแนวถนนสุขุมวิท ข้ามคลองพระโขนงเข้าสู่พื้นที่ชานเมือง เชื่อมต่อกับสายสุวรรณภูมิที่สถานีอุดมสุข จากนั้นลอดใต้ทางพิเศษบูรพาวิถี เข้าสู่สถานีบางนา เข้าสู่เขตจังหวัดสมุทรปราการที่สถานีแบริ่ง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า สายสีเหลืองที่สถานีสำโรง แล้วยกระดับข้ามถนนกาญจนาภิเษก ในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ จากนั้นวิ่งต่อไปยังแนวถนนสุขุมวิท และสิ้นสุดทั้งโครงการที่สถานีบางปู ในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
โครงการรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สาย 2 (สีลม) เป็นเส้นทางรถไฟฟ้ายกระดับตามแนวถนนราชดำริ ถนนสีลม ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถนนสาทร ถนนกรุงธนบุรี และถนนราชพฤกษ์ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีจุดเริ่มต้นของโครงการที่ สถานีสยาม ซึ่งเป็นสถานีกลางของรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติทั้งสองสาย แนวเส้นทางของโครงการจะเป็นแนวตะวันตก-ใต้
โดยในแนวตะวันตก รถไฟฟ้าจะออกจากสถานีสยามตรงเข้าสู่ถนนพระรามที่ 1 ผ่านสนามกีฬาแห่งชาติ ลอดใต้ทางพิเศษศรีรัชและข้ามทางรถไฟ ก่อนจะสิ้นสุดทั้งโครงการในส่วนตะวันตกที่สถานียศเส ในพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงเข้ม ที่สถานียศเส
ส่วนแนวใต้ รถไฟฟ้าจะเริ่มวิ่งจากสถานีสยาม เลี้ยวขวาเข้าถนนราชดำริ ผ่านสวนลุมพินี และข้ามถนนพระรามที่ 4 เข้าสู่ถนนสีลม เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ที่สถานีศาลาแดง จากนั้นจะเลี้ยวซ้ายเข้าถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ที่บริเวณแยกสีลม-นราธิวาสฯ ใกล้ๆ กับการบินไทยสีลม เชื่อมต่อกับรถประจำทางด่วนพิเศษ บีอาร์ที ที่สถานีช่องนนทรี แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนสาธร ข้ามทางพิเศษศรีรัช จากนั้นลอดเข้าช่องกลางระหว่างสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน เข้าสถานีสะพานตากสิน จากนั้นข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่พื้นที่ฝั่งธนบุรีที่สถานีกรุงธนบุรี แล้ววิ่งไปตามแนวถนนกรุงธนบุรีเข้าสู่สถานีวงเวียนใหญ่ จากนั้นรถไฟฟ้าก็จะวิ่งเข้าสู่ถนนราชพฤกษ์ แล้วเชื่อมต่อกับรถประจำทางด่วนพิเศษ บีอาร์ที อีกครั้งที่สถานีตลาดพลู และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงเข้มที่สถานีวุฒากาศ ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลอีกครั้งที่สถานีบางหว้า ข้ามทางยกระดับบรมราชชนนีที่สถานีบรมราชชนนี ก่อนสิ้นสุดทั้งโครงการที่สถานีตลิ่งชัน ในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงอ่อนที่สถานีตลิ่งชัน
เป็นโครงการรถไฟฟ้าขนาดเบา หรือไลท์เรลช่วงบางนา ไปจนถึงอาคารผู้โดยสาร 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และหน้ามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ตามแนวถนนบางนา-ตราด จากชานเมืองในเขตบางนา กรุงเทพมหานคร ไปจนถึง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ระยะทาง 18.3 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาอนุมัติโครงการจากรัฐบาล
เป็นโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล ช่วงสี่แยกปทุมวันไปจนถึงสี่แยกสามย่าน ตามแนวถนนพญาไท ผ่ากลางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร และจะพัฒนาไปเป็นระบบโมโนเรลสามย่าน โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการออกแบบโครงการทั้งหมด
เป็นโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล ช่วงโครงการแกรนด์สแควร์ @ พระราม 9 ไปจนถึงหน้าสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง ตามแนวถนนรัชดาภิเษก และอโศก-ดินแดง ในเขตดินแดง, เขตห้วยขวาง และ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 800 เมตร โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการออกแบบโครงการจากเอกชน เนื่องจากเป็นสายที่เอกชนลงทุนโครงการเองทั้งหมด
เป็นโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล ช่วงวัชรพล-ลาดพร้าว-พระราม 4-สะพานพระราม 9 ตามแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรมและย่านสาธุประดิษฐ์ ในเขตบางเขน, ลาดพร้าว, บึงกุ่ม, วังทองหลาง, ห้วยขวาง, วัฒนา, คลองเตย, ยานนาวา, และบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร ระยะทางรวม 26 กิโลเมตร โดยปัจจุบันยังคงเป็นแผนการเพิ่มเติมเส้นทางใหม่ ของแผนโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน พ.ศ. 2553-2572 ระยะ 20 ปี
เป็นโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล ช่วงดินแดง-สาทร เชื่อมต่อจุดสำคัญใจกลางเมือง มีจุดมุ่งหมายเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ย่านดินแดง และการเปิดใช้ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 รวมทั้งเพื่อเชื่อมต่อกับย่านธุรกิจบนถนนสาทร ระยะทางรวม 9.8 กิโลเมตร โดยปัจจุบันยังคงเป็นแผนการเพิ่มเติมเส้นทางใหม่ ของแผนโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน พ.ศ. 2553-2572 ระยะ 20 ปี
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร