ระดับเชาวน์ปัญญา หรือ ไอคิว (IQ ย่อจาก Intelligence quotient) หมายถึง ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา การคิด การใช้เหตุผล การคำนวณ การเชื่อมโยง ไอคิว เป็นศักยภาพทางสมองที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ยาก ไอคิว สามารถวัดออกมาเป็นค่าสัดส่วนตัวเลขที่แน่นอนได้
นอกจากคำว่าไอคิวที่นิยมใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษแล้วในทางประชากรศาสตร์ว่า "ผลการแสดงสติปัญญา" หรือ "ระดับปัญญา"
การวัดไอคิว เกิดขึ้นครั้งแรกในปีค.ศ.1905 โดยนักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ต้องการแยกบุคคลปัญญาอ่อนออกจากคนปกติ เพื่อจะได้จัดการศึกษาให้อย่างเหมาะสม โดยใช้การเปรียบเทียบระหว่างความสามารถที่ควรจะเป็นกับอายุสมองแล้วคำนวณออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ ปัจจุบัน การวัดไอคิวมักใช้แบบทดสอบของเวสเลอร์ ที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปีค.ศ.1930 โดยอาศัยงานวิจัยของนักวิชาการและนักการทหาร เป็นกลุ่มข้อทดสอบทั้งหมด 11 กลุ่ม เป็นกลุ่มที่ต้องใช้ภาษาโต้ตอบ 6 กลุ่ม ไม่ต้องใช้ภาษาโต้ตอบ 5 กลุ่ม ดังนี้
เนื่องจากไอคิวสามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ จึงมีผู้ให้ความสำคัญกับไอคิวมาโดยตลอด เด็กที่เรียนเก่ง จะมีแต่คนชื่นชม พ่อแม่ครูอาจารย์รักใคร่ ต่างจากเด็กที่เรียนปานกลางหรือเด็กที่เรียนแย่มักไม่ค่อยเป็นที่สนใจ หรือถูกดุว่า ทั้ง ๆ ที่เด็กเหล่านี้อาจจะมีความสามารถทางด้านอื่น เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพียงแต่ไม่มีความถนัดเชิงวิชาการเท่านั้นเอง
มาในช่วงหลัง ๆ ความเชื่อมั่นในไอคิวเริ่มสั่นคลอนเมื่อมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการวัด และความสำคัญของไอคิว จนในที่สุดเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาจึงยอมรับกันว่า แทัจริงแล้ว ในความเป็นจริง ชีวิตต้องการทักษะและความสามารถในด้านอื่น ๆ อีกมากมายที่นอกเหลือไปจากการจำเก่ง การคิดเลขเก่ง หรือการเรียนเก่ง ความสามารถเหล่านี้อาจจะช่วยให้คน ๆ หนึ่งได้เรียน ได้ทำงานในสถานที่ดี ๆ แต่คงไม่สามารถเป็นหลักประกันถึงชีวิตที่มีความสุขได้
ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยชิ้นหนึ่งในรัฐแมสซาซูเสท สหรัฐอเมริกาที่ศึกษาความสัมพันธ์ของไอคิวกับความสำเร็จในชีวิต โดยติดตามเก็บข้อมูลจากเด็ก 450 คน นานถึง 40 ปี พบว่าไอคิวมีความสัมพันธ์เพียงเล็กน้อยกับความสามารถทำงานได้ดีหรือกับการดำเนินชีวิต และพบว่าปัจจัยที่สามารถจะทำนายถึงความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ของชีวิตได้ดีกว่า กลับเป็นความสามารถด้านต่าง ๆ ในวัยเด็กที่ไม่เกี่ยวข้องกับไอคิว เช่น ความสามารถในการจัดการกับความผิดหวัง การควบคุมอารมณ์ และการเข้ากับบุคคลอื่น ๆ ได้ดี ตัวอย่างงานวิจัยอีกเรื่องหนึ่ง คือการติดตามเก็บข้อมูลจากผู้ที่จบปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์ 80 คน ตั้งแต่ตอนที่ยังศึกษาอยู่ไปจนถึงบั้นปลายชีวิตในวัย 70 ปี พบว่า ความสามารถทางด้านอารมณ์และสังคมมีส่วนทำให้ประสบความสำเร็จในวิชาชีพและมีชื่อเสียงมากกว่าความสามารถทางเชาวน์ปัญญาหรือไอคิวถึง 4 เท่า