รถไฟฟ้าสายสีฟ้า (ดินแดง-สาทร) เป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พ.ศ. 2553-2572 โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นเส้นทางใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2552 พร้อมกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเทา ในรูปแบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) ที่เชื่อมต่อจุดสำคัญใจกลางเมือง มีจุดมุ่งหมายเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ย่านดินแดง ซึ่งมีโครงการพัฒนาเคหะชุมชนดินแดง โครงการพัฒนาย่านมักกะสัน และการเปิดใช้ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ระยะที่ 2-4 รวมทั้งเพื่อเชื่อมต่อกับย่านธุรกิจบนถนนสาทร โดยมีแนวเส้นทางจากเคหะชุมชนดินแดง เข้าสู่ศูนย์คมนาคมมักกะสัน (สถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง) ไปยังถนนวิทยุ และถนนสาทร รวมระยะทาง 9.5 กิโลเมตร คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร 319,000 เที่ยวต่อวันในปี พ.ศ. 2572
ขณะนี้ (พ.ศ. 2556) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เตรียมนำโครงการรถไฟฟ้าสายสีฟ้าให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่พิจารณาอีกครั้ง
เป็นเส้นทางยกระดับความสูง 14 เมตรจากระดับดินไปตามแนวถนน เริ่มต้นจากสถานีประชาสงเคราะห์ ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม บริเวณที่ตั้งของศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ลงมาทางทิศใต้ผ่านเคหะชุมชนดินแดง แยกประชาสงเคราะห์ จุดตัดถนนอโศก-ดินแดง ยกระดับข้ามทางพิเศษศรีรัชบริเวณบึงมักกะสัน เข้าสู่พื้นที่ของศูนย์คมนาคมมักกะสัน โดยวิ่งไปทางทิศตะวันออกตามแนวเขตทางที่เตรียมไว้สำหรับระบบรางเดี่ยวภายในศูนย์ฯ ผ่านสถานีมักกะสัน แยกอโศก-เพชรบุรี และเลี้ยวไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่แนวถนนเพชรบุรี ผ่านแยกมิตรสัมพันธ์ จุดตัดถนนนิคมมักกะสัน และถนนนานาเหนือ ยกระดับข้ามทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณทางขึ้น-ลงทางด่วนเพชรบุรี แล้วเลี้ยวซ้ายที่แยกวิทยุ-เพชรบุรีเข้าสู่แนวถนนวิทยุลงมาทางทิศใต้ ผ่านแยกเพลินจิต สถานทูตอเมริกา แยกสารสิน สวนลุมพินี ยกข้ามสะพานลอยไทย-เบลเยี่ยม ถนนพระรามที่ 4 ที่แยกวิทยุ เข้าสู่ถนนสาทร ผ่านแยกถนนสวนพลู ไปสิ้นสุดที่แยกสาทร-นราธิวาส จุดตัดถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี รวมระยะทาง 9.5 กิโลเมตร