รถตุ๊กตุ๊กหัวกบ เป็นรถบรรทุกสามล้อขนาดเล็ก ที่ใช้ในการขนส่งสิ่งของสำหรับอุตสาหกรรมขนาดเล็กจากประเทศญี่ปุ่น ถูกดัดแปลงมาจากรถบรรทุกสามล้อขนาดใหญ่ เพื่อใช้เป็นยานพาหนะสามล้อขนส่งสำหรับธุรกิจขนาดเล็กในสมัยก่อน โดยเน้นการออกแบบตัวรถและสีของรถให้เป็นเอกลักษณ์ มีลักษณะตัวรถในรูปแบบของกระบะสามล้อขนาดเล็ก ไม่มีหลังคาครอบด้านหลัง อีกทั้งหัวรถยังมีลักษณะคล้ายกับหัวกบ จึงทำให้รถบรรทุกสามล้อขนาดเล็กคันนี้ เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในประเทศแถบเอเชียรวมทั้งประเทศไทย
ปัจจุบัน รถตุ๊กตุ๊กหัวกบ กลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของอำเภอเมืองตรัง แม้จะมีอายุที่มากกว่าครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม แต่ในปัจจุบันชาวตรังยังคงใช้รถตุ๊กตุ๊กหัวกบเป็นรถโดยสารบริเวณรอบอำเภอเมืองตรัง จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจนักถ้าหากจะเห็นนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวจังหวัดตรังส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มักจะไม่พลาดโปรแกรมนั่งรถตุ๊กตุ๊กหัวกบตระเวนรอบเมืองตรัง
บริษัท ไดฮัทสุ (Daihatsu Motor Co., Ltd.) เริ่มทำการผลิตรถบรรทุกสามล้อขนาดเล็กในปี พ.ศ. 2500 สำหรับรถบรรทุกสามล้อขนาดเล็กที่มีลักษณะด้านหน้าคล้ายกบนั้น มีชื่อเรียกว่า ไดฮัตสุ มิดเจ็ต (Daihatsu Midget) โดยมีการผลิตออกมาทั้งหมด 2 รุ่น ได้แก่
รถบรรทุกสามล้อขนาดเล็กทั้งสองรุ่นนี้ ใช้เครื่องยนต์เป็นแบบสองจังหวะ 350 cc. ระบายความร้อนด้วยอากาศธรรมดา กำลังเครื่องยนต์อยู่ที่ 12 แรงม้า ระบบเกียร์ธรรมดา 3 ระดับ น้ำหนักบรรทุกโดยรวมประมาณ 350 Kg. ความแตกต่างของรถทั้งสองรุ่นนี้คือ ช่องระบายอากาศที่อยู่ใต้ไฟหน้ารถรุ่น MP5 จะมีขนาดใหญ่กว่ารุ่น MP4ลักษณะเด่นอยู่ที่ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบพวงมาลัย ห้องคนขับมีประตูเปิด-ปิด อีกทั้งผู้โดยสารยังสามารถนั่งคู่กับคนขับได้ แตกต่างจากรถบรรทุกสามล้อขนาดเล็กรุ่นแรกๆนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ ที่มีระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบแฮนด์รถจักรยานยนต์
สำหรับประเทศไทยนั้น เริ่มมีการนำเข้ารถตุ๊กตุ๊กหัวกบจากประเทศญี่ปุ่นมาใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2502 ซึ่งขณะนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ในปี พ.ศ. 2509 ได้มีการนำเข้ารถตุ๊กตุ๊กหัวกบมายังจังหวัดตรังโดยทำการขนส่งลงเรือจากญี่ปุ่นเข้าสู่ประเทศไทยแล้วส่งต่อมาทางเรือสำเภาโดยรุ่นแรกที่นำเข้ามาคือ รุ่นมิดเจ็ท เอ็มพี4 (MP4 Midget) นับว่าเป็นรุ่นที่หาค่อนข้างยากในปัจจุบัน เพราะมีเหลืออยู่ให้เห็นจำนวนไม่มากนัก ต่างจากรุ่นมิดเจ็ท เอ็มพี5 (MP5 Midget) ซึ่งถูกส่งเข้ามาในภายหลัง จึงมีจำนวนมากและใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้มีการปรับแต่งเพิ่มเติมหลังคาให้กับรถ เพื่อป้องกันฝนและแสงแดดให้กับผู้โดยสาร
พื้นที่ในเขตจังหวัดตรัง มีส่ลักษณะทางภูมิศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นลอนลูกฟูก หรือที่ชาวท้องถิ่นในจังหวัดตรังเรียกว่า "ควน" ซึ่งแปลว่า "เนิน" การใช้รถบรรทุกสามล้อขนาดเล็ก หรือ รถตุ๊กตุ๊ก ในการขนส่งทั้งสินค้าและผู้โดยสาร จึงมีความเหมาะสมและสะดวก เพราะนอกจากจะช่วยทุ่นแรงแล้ว ยังสามารถเข้า-ออก ภายในซอยที่คับแคบได้โดยง่ายอีกด้วย จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจหากปัจจุบันในอำเภอเมืองตรัง มีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งชมรมเกี่ยวกับรถตุ๊กตุ๊กหัวกบชื่อว่า "ชมรมสามล้อเครื่อง" เพื่อเป็นการอนุรักษ์รถตุ๊กตุ๊กหน้าตาประหลาด ที่ยังคงเหลือให้ได้เห็นกว่า 300 คัน ให้คงอยู่คู่กับชาวเมืองตรังต่อไป เพราะ "รถตุ๊กตุ๊กหัวกบ" ได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งประจำจังหวัดตรัง