ยุทธนาวีพอร์ตอาเธอร์ (ญี่ปุ่น: ????? / ????? เรียวจุงโก ไคเซ็ง หรือ ??????, เรียวจุงโกไง ไคเซ็ง) เป็นการรบกันทางทะเลเมื่อวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 ระหว่างฝ่าย จักรวรรดิญี่ปุ่น และ จักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งถือเป็นการเปิดฉากสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น โดยคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นได้เป็นฝ่ายโจมตีกองเรือรัสเซียแบบไม่ทันตั้งตัว ที่น่านน้ำของพอร์ตอาเธอร์ ในดินแดนแมนจูเรีย ซึ่งรัสเซียกำลังเช่าบริหารจากจักรวรรดิชิง เป็นผลให้เรือรบบางส่วนของรัสเซียต้องอัปปางลง
จากการเข้าไปตักตวงผลประโยชน์จากชาติตะวันตกบนดินแดนของจีน ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากชาวจีนผู้รักชาติ จนเกิดกบฏนักมวย ในปี ค.ศ. 1900 จนมหาอำนาจทั้งหลายรวมถึงอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส รัสเซีย และญี่ปุ่น ส่งกำลังเข้าไปช่วยรักษาความสงบในปักกิ่ง จนเหตุการณ์สงบลง แต่รัสเซียกลับไม่ยอมถอนทหารออกจากแมนจูเรีย แสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งว่าจะยึดครองแมนจูเรีย พร้อมทั้งยังเสนอให้ญี่ปุ่นยินยอมให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นดินแดนที่เป็นกลาง ญี่ปุ่นปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพราะมองว่าจะเป็นการยอมรับการครอบครองแมนจูเรียของรัสเซียไปโดยปริยาย
ญี่ปุ่นประเมินว่าไม่สามารถขับไล่กำลังของรัสเซียออกจากแมนจูเรียได้ จึงมีแนวคิดที่จะยับยั้งไม่ให้รัสเซียรุกคืบเข้ามาในคาบสมุทรเกาหลีด้วยวิธีการทางการทูต แต่การเจรจาต่อรองกับรัสเซียไม่ประสบผลสำเร็จ ในปี ค.ศ. 1902 ญี่ปุ่นจึงหันไปผูกมิตรกับอังกฤษที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับการขยายอิทธิพลของรัสเซียใน เอเซียตะวันออก และเร่งขยายขีดความสามารถทางทหาร โดยเฉพาะการเสริมสร้างกำลังทางเรือประเภทเรือรบหลักตามเป้าหมาย “กองเรือ 6 - 6“ (เรือประจัญบาน 6 ลำ เรือลาดตระเวนหนัก 6 ลำ) เพราะมองว่ารัสเซียกำลังเป็นภัยคุกคามที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป
ญี่ปุ่นจึงได้เลือกพอร์ตอาเธอร์เป็นเป้าหมายแรกของสงคราม โดยประเมินว่าจำเป็นต้องทำลายกองเรือรัสเซียที่พอร์ตอาเธอร์ให้สิ้นซาก ก่อนที่กำลังทางเรือจากทะเลบอลติกของรัสเซียภายใต้บัญชาการของพลเรือเอก ซีโนวี โรซเดสท์เวนสกี จะเดินทางมาสมทบ ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะส่งผลรบทางบกอย่างใหญ่หลวง ทั้งยังเป็นเครื่องประกันความปลอดภัยของเส้นทางขนส่งลำเลียงทางทะเลที่จะช่วยในการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงแก่กำลังทางบกของญี่ปุ่นในแมนจูเรียด้วย
ญี่ปุ่นมองว่าเหตุการณ์ความไม่สงบภายในของรัสเซียจากความเคลื่อนไหวของกลุ่มปฏิวัติต่อต้านรัฐบาลจักรพรรดินีคาไลที่ 2 นั้นส่งผลดีต่อญี่ปุ่น และญี่ปุ่นประเมินว่ารัสเซียจะไม่สามารถระดมกำลังมาที่แมนจูเรียได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องแบ่งกำลังบางส่วนไว้ในพื้นที่ยุโรป เพื่อรับมือกับ จักรวรรดิออตโตมัน, จักรวรรดิเยอรมัน และ จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี กำลังรบทางบกจึงน่าจะมีกำลังใกล้เคียงกัน และด้วยกำลังรบทางทะเล ญี่ปุ่นประเมินว่าตนเองมีความได้เปรียบเหนือกองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของรัสเซีย เนื่องจากการเสริมกำลังทางเรือจากยุโรปต้องเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปและจะมีปัญหาในการส่งกำลังบำรุง เพราะเมืองท่าส่วนใหญ่เป็นอาณานิคมของอังกฤษที่เป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น นอกจากนั้นกำลังทางเรือในแปซิฟิกเองยังแบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ ที่พอร์ตอาเธอร์ และวลาดีวอสตอค ญี่ปุ่นจึงน่าจะสามารถรวมกำลังและจัดการกับกำลังทางเรือของรัสเซียในแต่ละพื้นที่ได้ อันจะทำให้ญี่ปุ่นสามารถควบคุมเส้นทางคมนาคมทางทะเลที่มีความสำคัญยิ่งส่งกำลังบำรุงจากญี่ปุ่นไปยังกองทหารในแมนจูเรียได้
อีกอย่างที่ญี่ปุ่นมองว่าเป็นความได้เปรียบ คือ ทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียของรัสเซียยังไม่เสร็จสมบูรณ์ การส่งกำลังบำรุงจากพื้นที่ยุโรปของรัสเซียมายังพื้นที่แมนจูเรียจะทำได้จำกัด ญี่ปุ่นจะต้องโจมตีทำลายกำลังของรัสเซียในแมนจูเรียให้ได้ ก่อนที่ระบบข่ายงานการส่งกำลังบำรุงของรัสเซียจะใช้งานได้อย่างเต็มที่ ในเรื่องการส่งกำลังบำรุงนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นก็ตระหนักดีว่ามีปัญหาในทำนองเดียวกัน และมีแนวความคิดว่าจะไม่รุกคืบเข้าไปในแมนจูเรียลึกและเร็วเกินไป แม้จะเป็นฝ่ายได้เปรียบก็ตาม
และประการสุดท้ายที่ญี่ปุ่นมองว่าเป็นความได้เปรียบทางยุทธวิธี เนื่องจากกองทัพรัสเซียมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะทำการรบในที่ราบของแมนจูเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งกำลังพลก็ด้อยการฝึก และการสื่อสารก็ไม่ดี ทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินกลยุทธ์ ญี่ปุ่นจึงเชื่อว่าจะได้เปรียบจากการจัดกำลังรบให้มีขนาดย่อมลงและใช้ความคล่องตัวให้เป็นประโยชน์ พร้อมทั้งเน้นการฝึกกำลังพลให้พร้อมทำการรบในเวลากลางคืนอีกด้วย
แม้จะประเมินว่ามีความได้เปรียบต่าง ๆ ดังกล่าว ฝ่ายญี่ปุ่นเองก็ยังเห็นพ้องกันว่า คงไม่สามารถเอาชนะรัสเซียเด็ดขาดได้ เพียงแต่อาจสามารถยันเสมอหรือบรรลุความได้เปรียบเล็กน้อย จึงกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ให้มีการไกล่เกลี่ยในเงื่อนไข หกสิบ-สี่สิบ เป้าหมายนี้จะบรรลุได้ต่อเมื่อกองทัพญี่ปุ่นมีความได้เปรียบเหนือกว่ากองทัพรัสเซียในแมนจูเรีย ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างยากเพราะกำลังสำรอง รวมทั้งอาวุธและกระสุนมีจำกัด
เวลา 22.30 น. ของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1904 กองเรือกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นอันประกอบด้วยเรือตอร์ปิโด 10 ลำ ถูกพบโดยเรือประจัญบานของรัสเซีย กองเรือรัสเซียซึ่งรับคำสั่งที่จะไม่เปิดศึกได้เลือกที่จะรายงานไปยังศูนย์บัญชาการ จนกระทั่งเวลา 00.28 น. ของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เรือพิฆาต 4 ลำแรกของญี่ปุ่นได้เข้าหาพอร์ตอาเธอร์โดยไม่เป็นที่สังเกต และได้เปิดฉากโจมตีด้วยตอร์ปิโดไปยังเรือ พัลลาดา และ เร็ทวิซัน ในขณะที่เรือรบลำอื่นของญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการโจมตีน้อยมาก จากการที่ตอร์ปิโดจำนวนมากติดอยู่ในตาข่ายดักตอร์ปิโด ซึ่งกำลังเสริมของญี่ปุ่นนั้นมาสายเกินไปจนทำให้ทางฝ่ายรัสเซียเริ่มสามารถตั้งรับ และทำให้การโจมตีของญี่ปุ่นนั้นดูจะเป็นการโจมตีแบบเอกเทศแทนที่จะโจมตีแบบประสานงานกัน อย่างไรก็ตาม กองเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นก็สามารถทำให้เรือประจัญบานที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซีย เทสซาเรวิช ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถใช้ต่อสู้ได้ในเวลานั้น
เรือพิฆาตของญี่ปุ่น โอะโบะโระ ได้โจมตีครั้งสุดท้าย เมื่อเวลา 02.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่รัสเซียได้ตื่นตัวอย่างเต็มที่ และการส่องไฟพร้อมกับยิงปืนตอบโต้ที่แม่นยำของรัสเซียได้ปิดโอกาสในการโจมตีด้วยตอร์ปิโดของญี่ปุ่น
ถึงแม้ว่ากองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ถูกรุกโดยระดมยิงของเรือประจัญบานรัสเซียและการโจมตีจากชายฝั่ง แต่กระนั้นทางญี่ปุ่นก็ถือว่าเป็นชัยชนะเล็กน้อย ทหารรัสเซียได้รับบาดเจ็บประมาณ 150 นาย ในขณะที่ญี่ปุ่นได้รับบาดเจ็บราว 90 นาย หลังจากนั้นญี่ปุ่นมีการซ่อมแซมเรือและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในอู่ต่อเรือแห้งใน ซะเซะโบะ ในขณะที่กองทัพเรือรัสเซียมีความสามารถในการซ่อมแซมที่จำกัดในพอร์ตอาร์เธอร์
เป็นที่ชัดเจนว่า การลาดตระเวณของพลเรือโทชิเงะโตะนั้นเป็นที่ล้มเหลว จากการเข้าประชิดไม่เพียงพอ ในขณะที่พลเรือเอกโทโงคัดค้านที่จะต่อสู้กับรัสเซียที่อยู่ภายใต้การโจมตีสนับสนุนจากชายฝั่ง