ยุคเซ็งโงะกุ (ญี่ปุ่น: ???? Sengoku-jidai ?) เป็นช่วงเวลาของความไม่สงบใน ญี่ปุ่น อันเกิดจากอำนาจการปกครองของ โชกุนตระกูลอะชิคะงะในยุคมุโระมะจิเสื่อมลง ทำให้บรรดาไดเมียวผู้ปกครองแคว้นต่างๆ ในญี่ปุ่นต่างพากันตั้งตนเป็นอิสระ โดยเฉพาะไดเมียวที่อยู่ห่างจากเมืองหลวงเกียวโตมากๆ และทำสงครามกันเอง ทำให้ญี่ปุ่นลุกเป็นไฟ บ้านเมืองไม่มีขื่อแป โชกุนที่เกียวโตไม่สามารถทำอะไรได้เพราะเป็นเพียงหุ่นเชิดของไดเมียวที่มีอำนาจ สมัยเซงโงกุเป็นสมัยแห่งวีรบุรุษ โดยเฉพาะวีรบุรุษทั้งสามที่รวมประเทศญี่ปุ่นให้กลับเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งเป็นการสิ้นสุดสมัยเซงโงกุ ได้แก่ โอะดะ โนะบุนะงะ โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ และ โทะกุงะวะ อิเอะยะสึ
อักษรคันจิของคำว่ายุคเซ็งโงะกุ ตรงกับคำว่า "ยุคจ้านกว๋อ" ในภาษาจีน หมายถึง "ยุครณรัฐ" หรือ "ยุคแห่งไฟสงคราม" อนึ่ง ยุคแห่งไฟสงครามในประวัติศาสตร์จีนเกิดขึ้นอยู่ในช่วงระหว่าง 477-222 ปีก่อน ค.ศ.
ยุคเซ็งโงะกุของญี่ปุ่น นับเป็นส่วนหนึ่งของยุคมุโระมะจิ ในยุคนี้เองก็มียุคสมัยย่อยแฝงอยู่ คือ สมัยอะสึจิ และ สมัยโมะโมะยะมะ เรียกรวมกันว่า สมัยอะสึจิ-โมะโมะยะมะ
ตำแหน่ง เคนเร คือ ผู้แทนโชกุน เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมาก โฮโซคาวา คัทซูโมโต เป็นเคนเรในสมัยของโชกุนอะชิคะงะ โยะชิมะสะ และวางแผนจะให้น้องชายของโชกุน คือ อะชิคะงะ โยชิมิ เป็นโชกุนคนต่อไป แต่พ่อตาของโฮโซคาวา คือ ยามานะ ซูเซน ต้องการจะตั้งลูกชายของโชกุน คือ อะชิคะงะ โยชิฮะสะ เป็นโชกุนแทน สงครามโอนินจึงเริ่มต้นใน ค.ศ. 1467 โชกุนประกาศว่าถ้าฝ่ายไหนเริ่มก่อนจะเป็นกบฏ แม้ฝ่ายโฮโซคาวาจะเริ่มก่อนแต่ก็เกลี้ยกล่อมให้โชกุนเชื่อว่าฝ่ายยามานะเริ่มก่อน โชกุนจึงประกาศให้ยามานะเป็นกบฏ ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งจะสร้างความเสียหายให้อีกฝ่ายโดยเผาบ้านเรือน การต่อสู้ทำให้เมืองเกียวโตพินาศย่อยยับ ชาวบ้านหอบข้าวของหนีออกนอกเมือง
สงครามลุกลามไปทั้งญี่ปุ่น บรรดาไดเมียวแตกเป็นสองฝ่าย แม้ประเทศจะตกอยู่ในกลียุคแต่โชกุนยังคงอาศัยอยู่ในปราสาทคินคาคุจิ ราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นโอกาสให้ไดเมียวต่างๆ ตั้งตนเป็นอิสระ ใน ค.ศ. 1471 จังหวัดคางะ พระสงฆ์นิกายแดนบริสุทธิ์ก่อกบฏขับไล่พวกไดเมียวออกไป เรียกว่า กบฏอิคโค-อิคคิ ประกอบด้วยชาวบ้านและซามูไรระดับล่าง กบฏอิคโค-อิคคิสะสมกำลังได้มากในตอนเหนือ
แม้ทั้งโฮโซคาวาและยามานะต่างเสียชีวิตในค.ศ. 1473 แต่สงครามยังไม่จบ ความเสียหายของเมืองเกียวโตครั้งนี้ร้ายแรงเกินฟื้นฟู จนภายหลังโทะกุงะวะ อิเอะยะสึต้องย้ายเมืองหลวงไปที่เอะโดะในที่สุด