ยีราฟ (อังกฤษ: Giraffe; ชื่อวิทยาศาสตร์: Giraffa camelopardalis) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์ Giraffidae เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง มีลักษณะเด่น คือ เป็นสัตว์ที่ตัวสูง ขายาว ลำคอยาว มีเขา 1 คู่ ตัวมีสีเหลืองและสีน้ำตาลเข้มเป็นลาย มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ตัวผู้มีความสูง 4.8 ถึง 5.5 เมตร (16-18 ฟุต) และมีน้ำหนักถึง 900 กิโลกรัม (2,000 ปอนด์) ตัวเมียมีขนาดและความสูงน้อยกว่าเล็กน้อย จัดเป็นสัตว์บกที่มีความสูงที่สุดในโลก
ยีราฟ มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย ไม่ผลัดเขา ที่เขามีขนปกคลุมอยู่ มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมเป็นฝูงราว 15-20 ตัว หรือมากกว่านั้น ในทุ่งโล่งร่วมกับสัตว์กินพืชชนิดอื่น ๆ เช่น แอนทิโลป, ม้าลาย หรือนกกระจอกเทศ เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 3 ปีครึ่ง ตั้งท้องนาน 420-461 วัน ลูกยีราฟหย่านมเมื่ออายุได้ 10 เดือน เมื่อคลอดออกมาแล้วจะสามารถยืนและเดินได้ภายในเวลาไม่นานเหมือนสัตว์กีบคู่ทั่วไป และวิ่งได้ภายในเวลา 2-3 วัน ตัวเมียมีเต้านมทั้งหมด 4 เต้า ยีราฟจะเป็นสัดทุก ๆ 14 วัน แต่ละครั้งเป็นอยู่ราว 24 ชั่วโมง มีอายุขัยเฉลี่ย 20-30 ปี
ด้วยความที่เป็นสัตว์ตัวสูง ยีราฟจำเป็นต้องมีหัวใจขนาดใหญ่เพื่อหมุนสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมอง ยีราฟสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองได้มากกว่ามนุษย์ถึง 3 เท่า เพื่อไปเลี้ยงสมองที่อยู่สูงขึ้นไปประมาณ 8 ฟุต เสมือนกับปั๊มน้ำที่สูบน้ำขึ้นไปยังตึกสูง หัวใจของยีราฟหนักประมาณ 10 กิโลกรัม ระบบไหลเวียนโลหิตจึงเป็นแบบพิเศษ เรียกว่า "Rete mirabile" ช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองมากเกินไปเวลายีราฟก้มตัวดื่มน้ำ ระบบไหลเวียนเลือดพิเศษนี้จึงเปรียบเสมือนวาล์วปิดเปิดน้ำ
ยีราฟ เป็นสัตว์ที่กินพืช กินได้ทั้งหญ้าที่ขึ้นอยู่กับพื้น และพุ่มไม้สูง ๆ โดยเฉพาะพุ่มไม้ประเภทอาเคเชียหรือกระถินณรงค์ที่มีหนามแหลม มีรสฝาด และมีพิษ แต่ยีราฟก็สามารถกินได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะมีลิ้นที่ยาวถึง 45-47 เซนติเมตร และมีความหนาสาก ใช้ตวัดกินได้โดยไม่ได้รับอันตราย และทนทานต่อสารพิษได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อยีราฟจะดื่มน้ำหรือกินอาหารที่อยู่พื้นล่าง ต้องถ่างขาทั้งคู่หน้าออก และก้มคอลง เพราะมีกระดูกที่ข้อต่อต้นคอเพียง 7 ข้อเท่านั้น นับเป็นช่วงที่ยีราฟจะได้รับอันตรายจากสัตว์กินเนื้อที่บุกจู่โจมได้ เพราะเป็นช่วงที่อยู่ในท่าที่ไม่คล่องตัว วัน ๆ หนึ่งยีราฟจะกินอาหารเฉลี่ยวันละ 20-30 กิโลกรัม ขณะที่นอนหลับในท่ายืนเพียงวันละ 2 นาที-2 ชั่วโมงเท่านั้น ยีราฟเมื่อวิ่ง จะวิ่งได้ไม่นานนักเนื่องจากหัวใจจะสูบฉีดเลือดอย่างหนัก และเมื่อวิ่งจะต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ เพราะทั้งขาหลังและขาหน้า ที่อยู่ข้างเดียวกัน จะยกขึ้นลงพร้อม ๆ กัน จึงมีลักษณะการวิ่งแบบควบกระโดดโคลงเคลงไปมา และคอที่ยาวก็จะมีอาการแกว่งไกวไปมาด้วย
แม้จะเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ แต่ยีราฟก็ยังถูกคุกคามจากสัตว์กินเนื้อได้ เช่น สิงโต หรือไฮยีนา ยีราฟมีวิธีการป้องกันตัวคือ การเตะ จากขาหลังที่ทรงพลัง ซึ่งทำให้สิงโตได้รับบาดเจ็บได้ สิงโตจึงไม่ค่อยโจมตียีราฟตัวที่โตเต็มที่ แต่จะเล็งไปยังลูกยีราฟมากกว่า
คอของยีราฟประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่งยึดติดกับบริเวณหัวไหล่ คอของยีราฟจึงไม่ห้อยตกลงมา ซึ่งคอของยีราฟนอกจากจะใช้เพื่อการดำรงชีวิตทั่วไป ยังมีส่วนสำคัญในพฤติกรรมทางสังคมเช่นกัน ยีราฟตัวผู้จะเข้าต่อสู้โดยใช้คอถูหรือฟาดกับยีราฟตัวอื่นด้วยความรุนแรง ซึ่งอาจถึงขั้นบาดเจ็บสาหัสหรือตายได้ เพื่อจะแสดงความเป็นจ่าฝูง และใช้เกี้ยวพาราสีหาคู่เพื่อสืบพันธุ์ด้วย
ยีราฟ ยังแบ่งออกเป็นชนิดย่อยได้ทั้งหมด 9 ชนิด จากสภาพลายบนลำตัวและถิ่นที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันออกไป
ลายของยีราฟ สันนิษฐานว่ามีไว้สำหรับพรางตัว เพราะดูแล้วจะกลมกลืนไปกับพุ่มไม้และสภาพแวดล้อม เหมือนสีของแสงและเงาของต้นไม้
คำว่า "camelopardalis" เป็นศัพท์ภาษาละติน (ที่มีต้นเค้าจากคำศัพท์ใน ภาษากรีก) จากคำว่า "camelos" (อูฐ) กับ "pardalis" (เสือดาว) เนื่องจากลักษณะยีราฟคล้ายกับสัตว์ทั้งสองชนิดดังกล่าว ส่วนในภาษาอังกฤษสมัยกลาง เคยใช้คำว่า "camelopard" เรียก ยีราฟ
ในยุคโบราณ ยีราฟถือเป็นสัตว์ที่ใช้เป็นเครื่องกำนัลหรือบรรณาการแก่กัน โดยมีบันทึกไว้ว่า ในยุคจักรพรรดิหย่งเล่อ แห่งราชวงศ์หมิง การเดินทางโดยเรือรอบโลกของเจิ้งเหอ มีการนำเอายีราฟกลับมาสู่ประเทศจีนในสมัยนั้นด้วย
ยีราฟยังได้ปรากฏตัวในแอนิเมชัน โดยรับบทเป็นตัวประกอบใน เดอะ ไลอ้อน คิง และ ดัมโบ้ รวมถึงมีบทบาทที่โดดเด่นในภาพยนตร์ เดอะ ไวล์ด แก็งค์เขาดินซิ่งป่วนป่า และ มาดากัสการ์ ส่วนยีราฟโซฟี เป็นยางกัดที่ได้รับความนิยมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1961 และตัวละครที่เป็นยีราฟที่มีชื่อเสียงอื่นๆเป็นตัวนำโชคของ ทอยส์ "อาร์" อัส ที่มีชื่อว่า ยีราฟเจฟฟรีย์ นอกจากนี้ ยีราฟยังเป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศแทนซาเนีย