มานุษยวิทยา (อังกฤษ: anthropology) คือ วิชาที่เกี่ยวกับมนุษย์ มานุษยวิทยา เกิดจาก วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ, มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์
ศึกษากำเนิดและวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ กลุ่มวัฒนธรรม รวมถึงสังคมมนุษย์ ในขั้นพัฒนาการของสังคมด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างทางสังคม ระบบความเชื่อ องค์กรและสถาบันทางการเมือง ประเพณีและพิธีกรรม วัฒนธรรม ความเชื่อ อุดมการณ์ จารีตประเพณี และกฎหมาย บนรากฐานทางเศรษฐกิจ ทั้งที่สอดคล้องต้องกัน และขัดแย้งกัน ทั้งที่ตกผลึกแล้ว หรืออยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน "นักมานุษยวิทยากายภาพ" ศึกษาความเปลี่ยนแปลงด้านรูปลักษณ์และรูปร่างของมนุษย์และความเป็นมาของวัฒนธรรมและสังคมที่เกี่ยวข้อง : จัดประเภทเผ่าพันธุ์และพัฒนาการทางเผ่าพันธุ์มนุษย์ โดยศึกษาข้อมูลจากแหล่งที่มาต่างๆ เช่น บันทึกทางประวัติศาสตร์ โบราณสถานและโบราณวัตถุ ชาติพันธุ์วรรณนา และประสบการณ์ทางวิชาการต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการเปรียบเทียบลักษณะรูปร่างของมนุษย์ในสมัยดึกดำบรรพ์ที่ยังคงมีซากเหลืออยู่กับกลุ่มเผ่าพันธุ์มนุษย์ในปัจจุบัน อาจเชี่ยวชาญในการศึกษาวัฒนธรรมของมนุษยชาติในสมัยดึกดำบรรพ์และวัฒนธรรมของมนุษย์ในสมัยที่เจริญแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสังคมที่สืบเนื่องมาแต่โบราณกาล รวมทั้งการสังเกตเกี่ยวกับความเป็นมาของวัฒนธรรม เช่น พิธีการทางศาสนา วรรณคดี งานฝีมือ และความเป็นมาของสังคม อาจเชี่ยวชาญในเรื่องรูปร่างของมนุษย์ชาติ มนุษย์สมัยดึกดำบรรพ์ ชีววิทยาของประชากรมนุษย์ และการสืบพันธุ์ อาจเชี่ยวชาญทางด้านภาษาของมนุษยชาติตามสาขาวัฒนธรรมที่สำคัญๆ อาจเชี่ยวชาญทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของมนุษยชาติเฉพาะเรื่องที่สำคัญ
การผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรี ทางมานุษยวิทยาในประเทศไทยมีมากว่า 30 ปี แต่ส่วนใหญ่จะผลิตร่วมกันกับสาขาสังคมวิทยา โดยได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มีเพียงมหาวิทยาลัยศิลปากรเท่านั้น ที่ผลิตบัณฑิตทางมานุษยวิทยาโดยตรง นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็เป็นเพียงสองมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่ชื่อปริญญาเป็น สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต และวิทยาศาสตรบัณฑิต (สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา)ตามลำดับ อาจกล่าวได้ว่า สาขามานุษยวิทยา ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าใดนัก หากเปรียบกับสาขาย่อยต่าง ๆ ในทางสังคมศาสตร์ มีเพียงมหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียว ที่จัดการเรียนการสอนทางด้านมานุษยวิทยา