มาคีมาคี (อังกฤษ: Makemake; /?m??ki??m??ki?/; ภาษาราปานุย: มาเกมาเก [?make?make]) มีชื่อเดิมว่า (136472) มาคีมาคี เป็นดาวเคราะห์แคระที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในระบบสุริยะ (เท่าที่ค้นพบแล้วในขณะนี้) และเป็นหนึ่งในสองวัตถุที่ใหญ่ที่สุดของแถบไคเปอร์ (KBO) ซึ่งอยู่ในหมู่วัตถุชั้นเอกของแถบไคเปอร์[a] ดาวมาคีมาคีมีเส้นผ่านศูนย์กลางสามในสี่ของดาวพลูโต ไม่มีดวงจันทร์บริวาร ซึ่งแปลกจากวัตถุขนาดใหญ่อื่น ๆ แถบไคเปอร์ด้วยกัน อุณหภูมิเฉลี่ยที่ต่ำมากของดาวดวงนี้ (ประมาณ 30 เคลวิน) แสดงให้เห็นว่าพื้นผิวของมันถูกปกคลุมด้วยมีเทน อีเทน และอาจจะมีไนโตรเจนแข็งด้วย
จากเริ่มแรกที่มีชื่อว่า 2005 FY9 (และต่อมามีหมายเลขดาวเคราะห์น้อย 136472 กำกับ) ดาวมาคีมาคีถูกค้นพบเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2548 โดยไมเคิล อี. บราวน์ (Michael E. Brown) พร้อมทีมค้นหา ประกาศการค้นพบเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 และในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2551 สหภาพดาราศาสตร์นานาชาติได้รวมมาคีมาคีไว้ในรายชื่อวัตถุที่มีสภาพเหมาะสมที่จะได้รับสถานะ "พลูตอยด์" (Plutoid) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกประเภทของดาวเคราะห์แคระที่อยู่เลยวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป บริเวณเดียวกับดาวพลูโตและดาวอีริส ในที่สุดมาคีมาคีก็ได้รับการจัดให้เป็นพลูตอยด์อย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551
ดาวมาคีมาคีถูกค้นพบเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2548 จากพร้อมทีมค้นหาที่มีไมเคิล อี. บราวน์เป็นผู้นำ มีการเผยแพร่ข่าวการค้นพบสู่สาธารณะเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการประกาศค้นพบดาวอีริสและตามหลังการประกาศค้นพบดาวเฮาเมอาเมื่อสองวันก่อน
แม้ว่าดาวมาคีมาคีจะมีความสว่างอยู่บ้าง แต่กลับไม่มีผู้ค้นพบมันจนกระทั่งหลังจากที่วัตถุแถบไคเปอร์อื่น ๆ จางลงมาก การค้นหาดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่จะค้นหาจากท้องฟ้าที่อยู่ใกล้กับแนวสุริยวิถี (บริเวณบนท้องฟ้าที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ต่าง ๆ ปรากฏเมื่อมองจากโลก) เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะพบวัตถุฟากฟ้าใหม่ ๆ ที่บริเวณนั้น แต่เนื่องจากวงโคจรของดาวมาคีมาคีมีระนาบเอียงมาก และยังอยู่ในระยะไกลจากแนวสุริยวิถีมากที่สุดในขณะที่ถูกค้นพบ (ทางด้านเหนือของกลุ่มดาวผมเบเรนิซ) จึงเป็นไปได้ว่ามันอาจจะรอดพ้นจากการถูกตรวจพบในการสำรวจครั้งก่อน ๆ ไปได้
นอกจากดาวพลูโตแล้ว ดาวมาเกมาเกเป็นดาวเคราะห์แคระเพียงดวงเดียวที่สว่างมากพอที่ไคลด์ ทอมบอ (Clyde Tombaugh) อาจค้นพบได้ระหว่างการค้นหาดาวเคราะห์พ้นดาวเนปจูนประมาณคริสต์ทศวรรษ 1930 ในช่วงเวลาที่ทอมบอทำการสำรวจอยู่นั้น มาคีมาคีมีตำแหน่งอยู่ห่างจากแนวสุริยวิถีเพียงไม่กี่องศา ใกล้กับเขตแดนของกลุ่มดาววัวและกลุ่มดาวสารถี[c] โดยมีอัตราความสว่างปรากฏอยู่ที่ 16.0 อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งนี้ก็ยังอยู่ใกล้กับทางช้างเผือก จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะพบดาวดวงนี้ท่ามกลางพื้นหลังที่หนาแน่นไปด้วยดวงดาว ทอมบอยังคงค้นหาต่อไปอีกหลายปีหลังจากที่เขาค้นพบดาวพลูโต แต่เขาก็ประสบความล้มเหลวในการค้นพบดาวมาเกมาเกหรือดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ที่อยู่ถัดจากดาวเนปจูนออกไป
ดาวมาเกมาเกมีชื่อชั่วคราวว่า 2005 FY9 เมื่อข่าวการค้นพบได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยก่อนหน้านั้นทีมค้นหาได้ใช้ชื่อรหัสว่า อีสเตอร์บันนี (Easter Bunny) เรียกดาวดวงนี้ เพราะได้พบมันไม่นานหลังจากวันอีสเตอร์ได้ผ่านไป
และในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 เพื่อให้สอดคล้องกับกฎการตั้งชื่อของสหภาพดาราศาสตร์นานาชาติสำหรับวัตถุชั้นเอกในแถบไคเปอร์ ดาว 2005 FY9 ก็ได้รับการตั้งชื่อตามชื่อของเทพผู้สร้างพระองค์หนึ่ง โดยชื่อมาคีมาคี (Makemake) เทพเจ้าผู้ให้กำเนิดมนุษยชาติและเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ในเทวตำนานของชาวราปานุยซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของเกาะอีสเตอร์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความเชื่อมโยงระหว่างดาวดวงนี้กับวันอีสเตอร์ไว้