มหาเถรสมาคม (อังกฤษ: Sangha Supreme Council of Thailand) เป็นองค์กรสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์ไทยตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ทำหน้าที่คล้าย ๆ คณะรัฐมนตรี โดยมีสมเด็จพระสังฆราชหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งไม่เกินสิบสองรูป เป็นกรรมการโดยแต่งตั้ง
มหาเถรสมาคมเป็นถ้อยคำที่ใช้ครั้งแรกใน พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ (ร.ศ. 121) อันตราขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คำว่า "เถระ" หมายถึง "พระผู้ใหญ่, ตามพระวินัยกำหนดว่า พระมีพรรษาตั้งแต่สิบขึ้นไป เรียกว่า พระเถระ" โดยตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ (ร.ศ. 121) มาตรา 4 ให้เรียกสมเด็จเจ้าคณะใหญ่ และพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ตำแหน่งต่าง ๆ ว่า "มหาเถระ" และมหาเถระเหล่านี้จะประชุมกันเพื่อถวายความเห็นแก่พระมหากษัตริย์ในเรื่องพุทธศาสนาตามที่ทรงปรึกษา ที่ประชุมนี้เรียกว่า "มหาเถรสมาคม" โดยต้องมีมหาเถระอย่างน้อยห้ารูปมาประชุม จึงจะเป็นองค์ประชุมพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ (ร.ศ. 121) ไม่ได้ใช้บังคับทันที แต่จะมีประกาศให้ใช้บังคับในมณฑลต่าง ๆ เป็นรายมณฑลเรื่อยไปจนทั่วประเทศสยาม (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ประเทศไทย)
ต่อมาใน พ.ศ. 2484 สภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 3 ยกเลิก พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ (ร.ศ. 121) แล้วตรา พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484 ขึ้นใช้แทน โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2484 พระราชบัญญัติใหม่นี้เปลี่ยนชื่อ "มหาเถรสมาคม" เป็น "สังฆสภา" โดยให้ประกอบด้วยกรรมการที่เรียก "สังฆสภาสมาชิก" จำนวนไม่เกินสี่สิบห้ารูป และประธานสังฆสภานั้นมาจากการแต่งตั้งของสมเด็จพระสังฆราชตามคำแนะนำของสังฆสภา
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484 เป็นแนวคิดของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ที่จะเลียนการปกครองฝ่ายอาณาจักรมาใช้แก่ฝ่ายศาสนจักร โดยเรียก "สังฆสภา" ให้เป็นทำนองเดียวกับ "รัฐสภา" และมีอำนาจหน้าที่ทำนองเดียวกันด้วย คือ ตราสังฆาณัติ แล้วถวายให้สมเด็จพระสังฆราชลงพระนาม จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติหลาย ๆ บทเลียนมาจากกฎหมายฝ่ายอาณาจักรหมวดหมู่กฎหมายปกครองและกฎหมายรัฐธรรมนูญ อาทิ ให้สังฆสภามีอำนาจตราสังฆาณัติได้ ถ้าสมเด็จพระสังฆราชไม่ทรงเห็นด้วยหรือไม่ทรงลงพระนามตามกำหนด และสังฆสภาลงมติเห็นชอบตามเดิม ทำนองเดียวกับรัฐสภามีอำนาจตราพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นด้วยหรือไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยตามกำหนด และรัฐสภามีมติเห็นชอบตามเดิม
"มหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยสมณศักดิ์ และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกินสิบสองรูปเป็นกรรมการ"
"สมเด็จเจ้าคณะใหญ่ทั้ง 4 ตำแหน่ง คือ เจ้าคณะใหญ่คณะเหนือ 1 เจ้าคณะใหญ่คณะใต้ 1 เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกา 1 เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง 1 ทั้งพระราชาคณะเจ้าคณะรองในคณะเหนือ คณะใต้ คณะธรรมยุติกา คณะกลาง ทั้ง 4 ตำแหน่งนั้น ยกเป็นพระมหาเถระที่ทรงปรึกษาในการพระศาสนาและการปกครองบำรุงสังฆมณฑลทั่วไป ข้อภารธุระในพระศาสนาหรือในสังฆมณฑลซึ่งได้โปรดให้พระมหาเถระทั้งนี้ประชุมวินิจฉัยในที่มหาเถรสมาคมตั้งแต่ 5 พระองค์ขึ้นไป คำตัดสินของมหาเถรสมาคมนั้น ให้เป็นสิทธิ์ขาด ผู้ใดจะอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปอีกไม่ได้"
"มาตรา 12. ทุกคราวสมัยประชุมสามัญ สมเด็จพระสังฆราชทรงตั้งสมาชิกในสังฆสภาตามมติของสังฆสภา ให้เป็นประธานสภาหนึ่งรูป เป็นรองประธานหนึ่งรูปหรือหลายรูปก็ได้