มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยโดยอยู่ในกำกับของรัฐ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาค ตามโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2501 พร้อมทั้งได้มีการเรียกร้องให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกสู่ภูมิภาค โดยขอให้รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 นำโดยนายกีและนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ในด้านการเรียนการสอนของประเทศไทย และเป็นอันดับ 5 ในด้านการวิจัยของประเทศไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทยใน "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย" เมื่อปี พ.ศ. 2549
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดการเรียนการสอนใน 20 คณะ 2 วิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัย และมีสถาบันวิจัย 4 สถาบันโดยเปิดสอนในระดับปริญญาตรีมีหลักสูตรที่เปิดสอนในแต่ละคณะจำนวน 340 หลักสูตร โดยมีการจำแนกหลักสูตรออกเป็น หลักสูตรภาคปกติ หลักสูตรภาคพิเศษ หลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรต่อเนื่อง และหลักสูตรสาขาวิชาร่วม หลักสูตรระดับปริญญาโท แบ่งเป็น 2 แผน คือ แผน ก และแผน ข และหลักสูตรระดับปริญญาเอก แบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบ 1 เป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัย ที่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ และแบบ 2 เป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัย โดยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพสูง และก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ และวิชาชีพ และศึกษากระบวนวิชาเพิ่มเติม
นับตั้งแต่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีอธิการบดีดำรงตำแหน่งมาแล้ว 15 คน โดยอธิการบดีคนปัจจุบัน คือ ศาสตราจารย์คลินิค นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เรียกชื่อตามชื่อเมือง ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนี้ตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่ ขนาบข้างด้วยถนนห้วยแก้ว และถนนสุเทพ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 4 ก.ม. และมีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่เศษ เปิดทำการสอน เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2507
ปี พ.ศ. 2484 รัฐบาลมีนโยบายที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคขึ้นแต่เกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2 การดำเนินงานจึงชะงักลง ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 รัฐบาลชุดจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาว่า "จะดำเนินการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ตลอดถึงการศึกษาชั้นสูง" พ.ศ. 2502 ได้มีการประชุมโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ภาคการศึกษา 8 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ม.ล.ปิ่น มาลากุล) เป็นประธาน ที่ประชุมมีความเห็นว่า "น่าจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่" พ.ศ. 2503 รัฐบาลชุด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ลงมติอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกชื่อมหาวิทยาลัยนี้ว่า "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่"
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508
ในระยะเริ่มต้นได้เปิดดำเนินการสอนเพียง 3 คณะ ที่เป็นรากฐานของทุกสาขาวิชา คือ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ได้รับโอนกิจการคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ จาก มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) มาเป็นคณะแพทยศาสตร์สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีเดียวกันนี้เอง ได้เริ่มจัดตั้งคณะเกษตรศาสตร์ขึ้นอีกคณะหนึ่ง ในปีการศึกษา 2511 ได้จัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ และในปีการศึกษา 2513 ได้จัดตั้งคณะใหม่อีก คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 จึงได้จัดตั้งเพิ่มขึ้นอีก 3 คณะคือ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีคณะทั้งหมดด้วยกัน 20 คณะ และ 1 วิทยาลัย โดยในปี พ.ศ. 2518 ได้จัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์เพิ่มขึ้น และตั้งบัณฑิตวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2519 เพื่อเป็นหน่วยประสานงานด้านการเรียนการสอนและมาตรฐานหลักสูตรขั้นบัณฑิตศึกษามีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งแต่การดำเนินงานด้าน การสอนและการวิจัยซึ่งกระทำโดยคณาจารย์ของคณะ และได้มีการจัดตั้งคณะวิจิตรศิลป์ขึ้น ในปี พ.ศ. 2525 เปิดรับนักศึกษาตั้งแต่ ปีการศึกษา 2526 ในปี 2536 ได้จัดตั้งคณะเพิ่มขึ้นอีก 3 คณะ คือ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และคณะอุตสาหกรรมเกษตร และในปี พ.ศ. 2538 ได้จัดตั้งคณะเพิ่มอีก 1 คณะคือคณะสัตวแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการจัดตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ขึ้นเป็นคณะที่ 17 ในปีพ.ศ. 2548 ได้จัดตั้งอีกสองคณะ และหนึ่งวิทยาลัยคือ คณะการสื่อสารมวลชน คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (เทียบเท่าคณะ) ล่าสุดปีพ.ศ. 2549 ได้จัดตั้งคณะที่ 20 คือ คณะนิติศาสตร์ โดย การประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยของไทย สกอ ได้จัดให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ในกลุ่ม ดีเลิศ ทั้งการเรียนการสอน และการวิจัย
ในปี พ.ศ. 2550 ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ผ่าน สนช. และพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2551 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2551 เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐลำดับที่ 12
ตราประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นรูปช้างชูคบเพลิงมีสุภาษิตเป็นภาษาบาลีว่า “อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา” อยู่ในกรอบเส้นรอบวงด้านบนและคำว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2507” อยู่ด้านล่างตรงกลาง ระหว่างข้อความทั้งสองนี้ มี “ดอกสัก” คั่นกลางปรากฏอยู่ ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ซึ่งมีความหมายดังนี้
นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีนายกสภามหาวิทยาลัย ดังรายนามต่อไปนี้
21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 251121 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 251321 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีจำนวนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 36,379 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2556) จำแนกตามระดับการศึกษา ได้แก่ ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก และระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต
โดยมีคณะที่เปิดสอนจำนวนทั้งสิ้น 20 คณะ 1 วิทยาลัย และ 1 บัณฑิตวิทยาลัย ได้แก่
หลักสูตรในระดับปริญญาตรี มีหลักสูตรที่เปิดสอนในแต่ละคณะทั้งหมดประมาณ 100 หลักสูตรโดยจะมีการแบ่งหลักสูตรออกเป็น หลักสูตรภาคปกติ หลักสูตรภาคพิเศษ หลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรต่อเนื่อง และหลักสูตรสาขาวิชาร่วม โดยแต่ละคณะจะเป็นผู้กำหนดรายวิชาในแต่ละสาขาวิชาที่เปิดสอน
คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์คณะศึกษาศาสตร์คณะวิศวกรรมศาสตร์คณะทันตแพทยศาสตร์คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์คณะเทคนิคการแพทย์
บัณฑิตวิทยาลัย
คณะวิจิตรศิลป์คณะสัตวแพทยศาสตร์คณะเศรษฐศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะอุตสาหกรรมเกษตรคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยีคณะการสื่อสารมวลชนคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะนิติศาสตร์
ในปี พ.ศ. 2549 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทยใน "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย"โดยในภาพรวมผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยกลุ่มดัชนีชี้วัดด้านการวิจัยและกลุ่มดัชนีชี้วัดตามด้านการเรียนการสอน ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ในด้านการเรียนการสอนของประเทศไทยได้คะแนน 47.27% จากคะแนนเต็ม 80% และเป็นอันดับ 5 ในด้านการวิจัยของประเทศไทยได้คะแนน 78.68% จากคะแนนเต็ม 100%
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษา ผลปรากฏว่าในการการประเมินครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2553) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการประเมินในระดับดีในสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สาขาวิชาการประมง และ สัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่]]/ สัตวแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สาขาวิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์/ สหเวชศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสาขาพยาบาลศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในการประเมินครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2554) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการประเมินในระดับดีมากในสาขาวิชา Material Technology / Material และ Mining Engineering ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์, สาขาวิชาคณิตศาสตร์ ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สาขาวิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสาขาพยาบาลศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นิตยสาร เอเชียวีก (Asiaweek) ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วเอเชียระหว่าง พ.ศ. 2535–2543 (ปัจจุบันนิตยสารได้ปิดตัวลง) โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทมหาวิทยาลัยสหศาสตร์ (Multi-Disciplinary University) และประเภทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใน พ.ศ. 2543 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยประเภทสหศาสตร์อันดับที่ 62 ในภูมิภาคเอเชีย
คอกโครัลลีไซมอนส์ (Quacquarelli Symonds) ได้จัดทำอันดับมหาวิทยาลัยระดับภูมิภาคเอเชีย ประจำ พ.ศ. 2556 เมื่อพิจารณาเฉพาะมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ผลปรากฏว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการจัดอันดับในอันดับที่ 3 ในประเทศไทย และอยู่ลำดับที่ 98 ในระดับภูมิภาคเอเชีย
การจัดอันดับของสถาบันเอสซีอีมาโก (SCImago Institutions Ranking) ได้จัดอันดับสถาบันที่มีผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ ประจำ พ.ศ. 2556 ซึ่งจะไม่ได้จัดอันดับเฉพาะมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่จะนับสถาบันเฉพาะทางด้วย เช่น สถาบันเทคโนโลยี วิทยาลัย โรงพยาบาล โดยในภาพรวมแล้วมหาวิทยาลับเชียงใหม่ได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับที่ 3 ของประเทศไทย และอยู่อันดับที่ 891 ของโลก
เว็บโอเมทริกส์ (Webometrics) ซึ่งเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยตามจำนวนเอกสารตีพิมพ์ออนไลน์ และจำนวนเอกสารที่มีการอ้างอิง ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลของทุกมหาวิทยาลัยที่เผยแพร่ในฐานะข้อมูลต่าง ๆ ผ่านทางเวปไซต์ของสถาบัน และบนฐานข้อมูลอื่น ๆ โดยผลการจัดอันดับในเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ในอันดับที่ 4 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และอยู่อันดับที่ 383 ของโลก
หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต และประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง เป็นหลักสูตรที่มุ่งพัฒนานักวิชาการและนักวิชาชีพ ให้มีค:วามชำนาญในสาขาวิชาเฉพาะ สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนางานในสาขาวิชาชีพ นั้น ๆ การศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตจะต้องศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษา มีหน่วยกิตรวม ตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต โดยเป็นกระบวนวิชาในระดับบัณฑิตศึกษา ไม่น้อยกว่า 18 หน่วยกิต
หลักสูตรในระดับปริญญาตรี มีหลักสูตรที่เปิดสอนในแต่ละคณะทั้งหมดประมาณ 100 หลักสูตรโดยจะมีการแบ่งหลักสูตรออกเป็น หลักสูตรภาคปกติ หลักสูตรภาคพิเศษ (เสาร์-อาทิตย์) หลักสูตรภาคพิเศษ (ช่วงเย็น) หลักสูตรต่อเนื่อง และหลักสูตรสาขาวิชาร่วม โดยแต่ละคณะจะเป็นผู้กำหนดรายวิชาในแต่ละสาขาที่เปิดสอนเอง
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีในระบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
โครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี โครงการพัฒนาและส่งเสริมเยาวชนดีเด่นทางการกีฬา โครงการวิศวะสู่ชุมชน โครงการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โครงการบัณฑิตเพื่อชุมชน โครงการนักคิดเพื่อสังคม โครงการส่งเสริมนักเขียนและกวีล้านนา โครงการสื่อสารมวลชนเพื่อสังคม โครงการสื่อสารมวลชนสู่ชนบท โครงการผู้มีความสามรถพิเศษทางการสื่อสารมวลชน โครงการช้างเผือกคณะเศรษฐศาสตร์ โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนฯ (วมว.) โครงการเด็กดีมีที่เรียน โครงการสำนึกรักบ้านเกิดเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน โครงการผู้มีแววเป็นนักนิติศาสตร์ โครงการพิเศษสำหรับนักเรียนพิการ โครงการทายาทศิษย์เก่าบัญชี-บริหารธุรกิจ โครงการนักเรียนที่มีผลการเรียนดีและเป็นทายาทผู้ประกอบการธุรกิจ โครงการนักเรียนที่สนใจศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคม คณะมนุษยศาสตร์
โดยจะรับคัดเลือกแต่นักเรียนที่เรียนอยู่ในเขตพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เป็นเวลา 3 ปี โดยจะมีการจัดการสอบเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนธันวาคม
โดยผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกต้องผ่านกระบวนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) การทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT) โดยจะนำผลการทดสอบดังกล่าวมาเลือกคณะและสาขาวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้ตามความต้องการโดยผ่านทางการคัดเลือกของสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.)
- แผน ก แบบ ก 1 หมายถึง การเรียนที่มีเพียงการทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียว มีหน่วยกิตสะสมไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต และจะต้องทำกิจกรรมทางวิชาการตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ อาจมีการเรียนกระบวนวิชาเพิ่มเติมได้โดยไม่นับหน่วยกิตสะสม
- แผน ก แบบ ก 2 หมายถึง การเรียนที่เป็นลักษณะของการศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษาไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต และทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต หน่วยกิตสะสมเป็นไปตามโครงสร้างหลักสูตรของสาขาวิชา
- แผน ข หมายถึง การศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษา และทำการค้นคว้าแบบอิสระไม่น้อยกว่า 3-6 หน่วยกิต
มีการสอบคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งภาคปกติ และภาคพิเศษ โดยทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดสอบเอง
แบบ 1 เป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัย ที่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ แยกเป็น แบบ 1.1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต แบบ 1.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยม) ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 72 หน่วยกิต
แบบ 2 เป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัย โดยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพสูง และก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ และวิชาชีพ และศึกษากระบวนวิชาเพิ่มเติม แยกเป็น แบบ 2.1 สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต และศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษาไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต แบบ 2.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต และศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษาไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต
พื้นที่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวม 8,502 ไร่ พื้นที่บางส่วนเป็นที่ดินของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอง ซึ่งมีการซื้อหรือเวนคืนในช่วงการจัดตั้งมหาวิทยาลัย บางส่วนหน่วยงานราชการอื่น โดยเฉพาะกรมป่าไม้ อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ และมีบางส่วนได้รับจากผู้มีจิตศรัทธา พื้นที่เหล่านี้กระจายอยู่ตามบริเวณต่างๆ ดังนี้
ปี พ.ศ. 2507 เป็นปีแรกของการเปิดดำเนินการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 291 คน ศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญสม มาร์ติน ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีที่รับผิดชอบดูแลนักศึกษามีความคิดที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีประเพณีต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น และเป็นประเพณีที่น่าประทับใจ น่าจดจำไว้ด้วยความภาคภูมิใจ ประกอบกับจังหวัดเชียงใหม่มีหนทางขึ้นดอยสุเทพ โดยครูบาศรีวิชัยเป็นผู้นำทำหนทางดังกล่าว นับว่าเป็นผลงานที่แสดงถึงความศรัทธาและความสามัคคีเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นหลังจากการปฐมนิเทศนักศึกษาในปีแรกแล้ว จึงได้ชักชวนนักศึกษารุ่นแรกทุกคนเดินขึ้นดอยสุเทพพร้อมกันด้วยความสามัคคี เพื่อนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ ด้วยความศรัทธาและแสดงถึงความเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างสมบูรณ์ ประเพณีดังกล่าวนี้นักศึกษารุ่นหลังยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาตราบจนทุกวันนี้และเป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ที่น่าภาคภูมิของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเพณีรับน้องขึ้นดอยเป็นประเพณีของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่จัดขึ้นประมาณต้นเดือนกรกฎาคมของทุกปี ตามประวัติแล้วประเพณีนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ลูกช้างเชือกใหม่ทุกคน และดอยสุเทพซึ่งวัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวเชียงใหม่ โดยในวันรับน้องขึ้นดอยนั้นแต่ละคณะจะจัดตั้งขบวนบริเวณหน้าศาลาธรรมตั้งแต่เช้าตรู่โดยริ้วขบวนจะประกอบไปด้วยเฟรชชีและพี่ๆแต่ละชั้นปีเดินขึ้นไปพร้อมกันโดยทุกคนจะแต่งกายแบบล้านนาทำให้มีสีสันสวยงามตื่นตาตื่นใจ
ประเพณีน้องรถไฟเป็นกิจกรรมหนึ่งของการรับน้องของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นประเพณีประจำปีอย่างหนึ่งที่จัดขึ้นโดยรุ่นพี่ของแต่ละคณะจะมาต้อนรับนักศึกษาใหม่ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ และอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครหรือพื้นที่นอกเขตภาคเหนือ โดยจะเริ่มต้นกิจกรรมกันที่สถานีรถไฟหัวลำโพง โดยปกติจะเหมารถไฟ ชั้น 3 ทั้งขบวน (ทั้งหมดหลายขบวน) โดยแบ่งตู้รถไฟกันตามคณะและจำนวนของรุ่นพี่และรุ่นน้องในคณะนั้นๆ โดยรุ่นพี่ของแต่ละคณะก็จะเตรียมกิจกรรมและเกมส์ต่างๆ มีการสอนร้องเพลงประจำแต่ละคณะ เพลงประจำมหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งเป็นการให้รุ่นน้องได้ทำกิจกรรมบนรถไฟเกือบตลอดทั้งคืนที่รถไฟวิ่งมุ่งหน้าไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งโดยปกติเมื่อไปถึงจังหวัดเชียงใหม่แล้วรุ่นพี่จะพาน้องใหม่ไปไหว้พระที่ศาลาธรรมเป็นเหมือนการรับขวัญน้องที่มาใหม่จากแดนไกล หลังจากนั้นรุ่นพี่ก็จะพาน้องใหม่เข้าไปพักตามหอพักนักศึกษา (หอใน) ที่น้องใหม่จองไว้ตั้งแต่วันที่มาปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่
ประเพณีรับน้องรถไฟเป็นกิจกรรมครั้งแรกๆ ที่รุ่นน้องและรุ่นพี่ได้พบเจอกัน และร่วมกิจกรรมตลอดระยะเวลาราว 15 ชั่วโมง และยังมีเพื่อนฝูงและผู้ปกครองมาส่งรุ่นน้องทำให้บรรยากาศที่สถานีรถไฟหัวลำโพงในวันนั้นจึงเต็มไปด้วยผู้คนมากมายในการแสดงความยินดีการได้เริ่มต้นการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษาจะได้แจกบัตรคล้องคอ (หรือติดเสื้อ) เขียนชื่อเล่นแต่ละคนเอาไว้ รุ่นน้องนั้นมักจะถูกเรียกว่า "ลูกช้าง" เพราะช้างเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในปี พ.ศ. 2549 งานรับน้องรถไฟได้ถูกยกเลิกในปีนั้น เนื่องจากเกิดเหตุการณ์อุทกภัยฉับพลันในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้รางรถไฟได้รับความเสียหาย เส้นทางรถไฟไม่สามารถใช้ได้ และในปี พ.ศ. 2553 งานรับน้องรถไฟได้ทำการย้ายสถานที่จากสถานีรถไฟหัวลำโพงมายังสถานีรถไฟรังสิตรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสถานีปลายทางจากสถานีรถไฟเชียงใหม่เป็นสถานีรถไฟสารภี เนื่องจากเกิดสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและการก่อจลาจลในหลายพื้นที่ของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553
ปัจจุบันประเพณีรับน้องรถไฟยังคงดำเนินอยู่ต่อไป เพื่อสืบสานประเพณีที่ดีงาม อันเก่าแก่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอาไว้สืบไป
สปอร์ตเดย์ และสปอร์ตไนท์เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความสามัคคีและน้ำใจนักกีฬาของแต่ละคณะโดยจะจัดขึ้นทุกๆปีในเดือนพฤศจิกายน โดยจะจัดกิจกรรมกันตั้งแต่ตอนเช้าจนถึงกลางดึก โดยในงานจะมีการประกวดเชียร์ลีดเดอร์ สแตนเชียร์ พาเหรด และการแสดงโชว์ของสแตนเชียร์ที่เรียกว่าไคลแมกซ์ โดยแต่ละคณะจะทำการซักซ้อมมาเป็นอย่างดีในการเชียร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เริ่มเปิดสอนในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 โดยระยะแรกมีเพียง 3 คณะ ได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ และพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯมาทรงประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508 และในปีเดียวกันนี้เองที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับโอนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มาสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนั้นพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2509) จึงเป็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรพร้อมกับมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ณ หอประชุมแพทยาลัย มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2510) จัด ณ พลับพลาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 3-5 (พ.ศ. 2512 –2514 ) จัด ณ พลับพลาบริเวณสนามหน้าตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปีพุทธศักราช 2515 เมื่อการสร้างศาลาอ่างแก้วแล้วเสร็จ มหาวิทยาลัยจึงได้ย้ายสถานที่ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมายังศาลาอ่างแก้ว ดังนั้น พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 6–30 (พ.ศ. 2515–2539) จึงจัด ณ ศาลาอ่างแก้ว ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีเหตุการณ์ที่ควรบันทึกไว้คือ ในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 25 (พ.ศ. 2534) เป็นปีฉลอง 25 ปีแห่งพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดทำเหรียญที่ระลึกพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 25 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเหรียญทองคำหนัก 25 บาท จำนวน 1 เหรียญ เพื่อขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายเหรียญที่ระลึกดังกล่าวแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 25 เพื่อเป็นศิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปีพุทธศักราช 2540 หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนั้นการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 31 (พ.ศ. 2540) จึงเป็นปีที่เริ่มใช้หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตร