วิทยาเขตบางเขนถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาวเขตจตุจักร กรุงเทพมหานครวิทยาเขตกำแพงแสนตำบลกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมวิทยาเขตศรีราชาตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรทางด้านการเกษตร ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ เดิมเป็นโรงเรียนช่างไหมในปี พ.ศ. 2447 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนการเพาะปลูก หลังจากนั้นรวมเข้ากับโรงเรียนแผนที่เป็นโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ มีผลให้วิทยาการทางการเกษตรพัฒนาและก้าวหน้า ใน พ.ศ. 2486 รัฐบาลได้ปรับปรุงและรวมกิจการของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บางเขนกับโรงเรียนวนศาสตร์ (เดิมคือ โรงเรียนการป่าไม้ จังหวัดแพร่) มาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แรกเริ่ม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดสอนเฉพาะด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ต่อมาได้ขยายสาขาวิชาครอบคลุมทั้งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ บริหารธุรกิจ และศิลปศาสตร์ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
การประเมินของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยจัดการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาผลปรากฏว่าในการประเมินครั้งที่ 3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการประเมินในระดับดีมากในสาขาวิชาการจัดการศัตรูพืช (Pest Management) จากภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติอีกด้วย
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มี 4 วิทยาเขตได้แก่ วิทยาเขตบางเขน วิทยาเขตกำแพงแสน วิทยาเขตศรีราชา และวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ทั้งยังมีโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรีอีกหนึ่งแห่งด้วย เปิดการสอน 29 คณะ 1 วิทยาลัย และสถาบันสมทบอีก 2 แห่ง มีหลักสูตร 373 หลักสูตร เป็นหลักสูตรนานาชาติ 38 หลักสูตร นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสถาบันวิจัยขึ้นตามจังหวัดต่าง ๆ หลายแห่งเพื่อดำเนินการวิจัยในศาสตร์ต่าง ๆ
ในปี พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัยให้อุดหนุนการทำไหมและทอผ้าของประเทศ ทรงได้ว่าจ้าง ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ทดลองเลี้ยงไหมตามแบบฉบับของญี่ปุ่น รวมทั้งสอนและฝึกอบรมนักเรียนไทยในวิชาการเลี้ยงและการทำไหม โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมช่างไหม กระทรวงเกษตราธิการในขณะนั้น ทรงจัดตั้งโรงเรียนช่างไหมขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2447 ณ ท้องที่ตำบล ทุ่งศาลาแดง กรุงเทพมหานคร ซึ่งนับว่าเป็นสถาบันการศึกษาอันเกี่ยวกับการเกษตรแห่งแรก จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนช่างไหมเป็น โรงเรียนวิชาการเพาะปลูก ในปี พ.ศ. 2449 เนื่องจากมีวิชาการเพาะปลูกพืชอื่น ๆ เข้ามาประกอบ
ต่อมา โรงเรียนเกษตราธิการ ได้ถือกำเนิดขึ้น ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ณ วังประทุมวัน โดยที่กระทรวงเกษตราธิการได้ทำการรวบรวมโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดของกระทรวง 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนแผนที่ (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2425) โรงเรียนกรมคลอง (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448) และโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก เป็นโรงเรียนเดียวกันเพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตราธิการ ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์ หลักสูตรแรกของประเทศไทย โดยได้เริ่มดำเนินการสอนหลักสูตรใหม่นี้ในปี พ.ศ. 2452
ด้วยเหตุที่วัตถุประสงค์ของโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการตรงกับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเรื่องของการจัดตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงจัดตั้งขึ้นในกระทรวงธรรมการ โรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการจากเดิมที่สังกัดกระทรวงเกษตราธิการจึงย้ายมาสังกัดกระทรวงธรรมการ ในปี พ.ศ. 2456 โดยใช้ วังวินด์เซอร์ เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนของโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการที่ยุบเข้ารวมกับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงส่งนักเรียนไทยไปเรียนต่างประเทศจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีพระยาเทพศาสตร์สถิตย์และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ทั้ง 2 ท่านได้เริ่มก่อตั้งโรงเรียนด้านการเกษตรโดยสังกัดกระทรวงเกษตราธิการขึ้นมาอีกครั้ง ในนาม "โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม" ตั้งอยู่ที่ ตำบลหอวังในปี พ.ศ. 2460 ภายหลังจึงได้มีการย้ายการเรียนการสอนไปที่ ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ในปี พ.ศ. 2461
ในปี พ.ศ. 2474 หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้ร่วมกันขยายการจัดตั้ง โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ไปสู่ระดับภูมิภาคมากขึ้น โดยภาคกลางตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ภาคเหนือตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคอีสานตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา และภาคใต้ตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา
พ.ศ. 2478 โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมในภูมิภาคต่าง ๆ ได้ปิดตัวลงตามข้อบังคับของการปรับเปลี่ยนระบบราชการในขณะนั้น จึงได้มีการยุบรวมโรงเรียนในส่วนภูมิภาคทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน หลวงอิงคศรีกสิการ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และพระช่วงเกษตรศิลปการ เป็นสามบูรพาจารย์ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงเสนอให้รักษาโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม (ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่โจ้) ไว้ที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่เพียงแห่งเดียว และเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม" ต่อมาจึงได้มีการยกฐานะของโรงเรียนจนก่อตั้งเป็น "วิทยาลัยเกษตรศาสตร์" มีฐานะเป็นกองวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในกรมเกษตรและประมง ตามความต้องการของกระทรวงเกษตราธิการ
ต่อมากระทรวงเกษตราธิการได้จัดตั้งสถานีเกษตรกลางขึ้นในท้องที่ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) ดังนั้น จึงได้ย้ายวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งอยู่ที่อำเภอบางเขนในปี พ.ศ. 2481 และให้ส่วนราชการที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็น "โรงเรียนเตรียมเกษตรศาสตร์" เพื่อเป็นการเตรียมนิสิตให้วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ อำเภอบางเขนต่อไป
ในปี พ.ศ. 2486 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกฐานะวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาปนาขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" มีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงเกษตราธิการ และให้แต่งตั้งข้าราชการประจำ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัย หลวงสินธุสงครามชัย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรก โดยมีการเปิดสอนใน 4 คณะ ได้แก่ คณะกสิกรรมและสัตวบาล คณะการประมง คณะวนศาสตร์ และคณะสหกรณ์ เป็นคณะแรกตั้ง (ในปัจจุบันคือ คณะเกษตรคณะประมงคณะวนศาสตร์คณะเศรษฐศาสตร์ และ คณะบริหารธุรกิจ)
ในปี พ.ศ. 2509 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยหม่อมหลวงชูชาติ กำภูอธิการบดีในขณะนั้นได้พิจารณาเห็นว่าพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บางเขนคับแคบ ไม่สามารถจะขยายงานด้านการศึกษาทางเกษตรให้กว้างขวางเพื่อรับกับภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของชาติในอนาคตได้ จึงได้ดำริที่จะหาพื้นที่ที่เหมาะสมที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯที่มีดินดีเหมาะเกษตรและมีโครงการชลประทานผ่านเตรียมไว้แต่เนิ่น ๆ ก่อนราคาที่ดินจะมีราคาแพง ซึ่งต่อมาในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 รัฐบาลในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมเพื่อให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดตั้งวิทยาเขตกำแพงแสน โดยทางมหาวิทยาลัยได้ทำการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่เดิมและก่อสร้างอาคารเรียน ที่พัก และอาคารสำนักงานซึ่งสามารถเสร็จสิ้นเมื่อกลางปีพ.ศ. 2521 และเริ่มจัดการเรียนการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522
ต่อมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีแนวคิดที่จะขยายโอกาสทางการศึกษาตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยจึงได้มีแนวคิดที่จะจัดตั้ง วิทยาเขตศรีราชา วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร วิทยาเขตสุพรรณบุรี วิทยาเขตกระบี่ และวิทยาเขตลพบุรี ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสามารถจัดตั้งวิทยาเขตศรีราชาในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2542 และวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนครในปี พ.ศ. 2543 ส่วนวิทยาเขตสุพรรณบุรีปัจจุบันยังอยู่ในสถานะภาพของการเป็นโครงการจัดตั้ง ส่วนวิทยาเขตกระบี่และวิทยาเขตลพบุรีนั้นเนื่องจากมีปัญหาในด้านงบประมาณในการดำเนินงานจึงทำให้สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีมติยกเลิกการจัดตั้งทั้ง 2 วิทยาเขต
จนถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการขยายการศึกษาเพิ่มขึ้นโดยเปิดคณะและสาขาวิชาเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีที่เปิดทำการสอนแล้วทั้งหมด 29 คณะ 1 วิทยาลัยและสถาบันสมทบอีก 2 แห่ง มีจำนวนหลักสูตรทั้งหมด 373 หลักสูตร
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2558 ส่งผลทำให้มหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้คำว่า "เกษตรศาสตร์" เป็นชื่อภาษาไทยของมหาวิทยาลัย และใช้อักษรโรมันว่า "Kasetsart"
"เกษตรศาสตร์" มาจากคำว่า เกษตร (เขต หรือ แผ่นดิน) และ ศาสตร์ (ความรู้ หรือ การศึกษา) ซึ่งรวมกันมีความหมายโดยทั่วไปว่า การศึกษาเกี่ยวกับเขตและแผ่นดิน หรือ ศาสตร์แห่งแผ่นดิน คำนี้ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Agriculture แปลว่า การเพาะปลูกแบบรูปธรรม มีรากคำมาจากภาษาละตินคือคำว่า agr?cult?ra : agr? หมายความถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรม และคำว่า cult?ra หมายความถึง วัฒนธรรม, สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือ การเพาะปลูก[ลิงก์เสีย]
คำว่า "เกษตร" อันเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยนั้น มีที่มาจากกระทรวงเกษตราธิการต้องการจัดตั้งสถาบันการศึกษาวิชาการเกษตรอันเนื่องด้วยวิชาการผลิตและการค้าเพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่าง ๆ ของกระทรวงเป็นการเฉพาะ
ในระหว่าง พ.ศ. 2518 ได้มีการวิ่งเต้นขอให้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากบุคคลกลุ่มหนึ่ง โดยอ้างเหตุผลนานัปการทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการแถลงข่าวโจมตีซึ่งกันและกัน ระหว่างฝ่ายที่อยากให้เปลี่ยนชื่อและไม่ประสงค์ให้เปลี่ยนชื่อ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้อนุญาตให้นิสิตหยุดเรียนครึ่งวันเพื่อจัดทำประชามติในเรื่องนี้ ภายหลังจึงมีการเห็นสมควรให้มีการใช้ชื่อ เกษตรศาสตร์ เป็นชื่อของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการระลึกและย้ำเตือนถึงศาสตร์อันเป็นรากฐานวัฒนธรรม ความรู้ และวิทยาการของแผ่นดินไทย
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้มีพระราชดำรัสถึงความหมายของคำว่าเกษตรศาสตร์ตามชื่อของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไว้ว่า
คำว่าเกษตรศาสตร์ อันเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยนี้นั้น ฟังดูมีความหมายจำกัดอยู่เพียงการทำนา แต่ความจริง เกษตรศาสตร์ ตามความหมายในปัจจุบัน กินความกว้างขวางมาก คือรวมเอาวิชาหรือศาสตร์ทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจิตใจของมนุษย์เข้าไว้เกือบทั้งหมด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงสอนวิชาการสาขาต่าง ๆ มากมายหลายสาขา ทั้งฝ่ายวิทยาศาสตร์ ทั้งฝ่ายศิลปศาสตร์ เรียกได้ว่าครบถ้วนที่จะเป็นมหาวิทยาลัยในความหมายสากลอย่างสมบูรณ์
คำ "เกษตรศาสตร์" ที่เป็นวิสามานยนามอันเป็นชื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ อ่านว่า "กะ-เสด-สาด"[ต้องการอ้างอิง] แต่ในกรณีที่หมายถึงวิชาว่าด้วยการเกษตร คำนี้อ่านว่า "กะ-เสด-ตฺระ-สาด"
ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 (ฉบับที่ 247) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เล่มที่ 126 ตอนพิเศษ 98 ง โดยตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แบ่งเป็น 2 ภาค ได้แก่
หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ อาคารจั่วสามมุข ทำการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2497 ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2500 มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นอาคารในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย
อาคารจั่วสามมุขเป็นอาคารออกแบบด้วยศิลปะแบบไทยประยุกต์ มีเอกลักษณ์เป็นหน้าจั่วแบ่งมุขออกเป็น 3 ยอด ภายหลังจึงกลายเป็นต้นแบบของอัตลักษณ์ทางปรัชญาเกษตรศาสตร์ มี 3 ลักษณะทางจิตวิญญาณเกษตรศาสตร์ประกอบกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
จั่วสามมุข เอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งหน้าจั่วนี้มีลักษณะของความโดดเด่นตรงที่มีความกว้างของส่วนฐาน ส่วนกลาง และส่วนยอดที่เท่าเทียมกัน หมายความถึงการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนแห่งสยามประเทศ ภายในจำลักลาย, บัว 3 ดอก เป็นดอกบัวที่ขึ้นพ้นเหนือน้ำ อันมีเต่าและปลาเป็นตัวแทนของสัตว์ร้ายต่าง ๆ แหวกว่ายอยู่ หมายถึงบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาทั้ง 3 ระดับคือบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ที่ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ นานัปการตามหลักที่ปรากฏในพุทธโอวาท และมีการประกอบสัญลักษณ์, พระอุณาโลม อันมีลักษณะพ้องกับเลข ๙ เป็นเครื่องหมายอันเป็นนิมิตหมายที่ดี หมายถึง ความรู้และความสว่างแก่โลก
ทั้งนี้สัญลักษณ์จั่วสามมุขยังปรากฏเป็นศิลปกรรมตามสถานที่ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น อาคารสารนิเทศ 50 ปี, อาคารวชิรานุสรณ์, อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๔ รอบพระชันษาจุฬาภรณ์, อาคารประจำวิทยาเขตต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งบริเวณขอบรั้วโดยรอบมหาวิทยาลัยก็ถอดแบบให้มีลักษณะเป็น "จั่วสามมุข" ด้วยเช่นกัน
เพลงพระราชนิพนธ์ เกษตรศาสตร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509 โดยโปรดเกล้าฯ ให้ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร แต่งคำร้องถวาย
สีประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คือ สีเขียวใบไม้ ซึ่งเป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
ต้นนนทรี เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2506 เพราะต้นนนทรี เป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย ดังนั้นที่ประชุมสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2506 จึงได้เลือกให้ต้นนนทรีเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหลวงอิงคศรีกสิการอธิการบดีในขณะนั้นได้นำข้อสรุปของที่ประชุมกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินมายังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ บริเวณหน้าหอประชุม มก. เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 และมีพระราชดำรัสถึงบุคลากรและนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในคราวนั้นว่า
ขอฝากต้นไม้นี้ให้มหาวิทยาลัยและนิสิตช่วยกันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่าตัวเองนั้นจะอยู่กันได้ก็ด้วยแผ่นดินไทย ขอให้ช่วยรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วย คนไทยถ้าไร้แผ่นดินก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย วิทยาเขตที่เปิดเรียนแล้ว 5 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร, วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม, วิทยาเขตศรีราชา จังหวัดชลบุรี, วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร และโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
ส่วนทางด้านโครงการจัดตั้งวิทยาเขตลพบุรี ได้มีมติสภามหาวิทยาลัยให้ตั้งเป็น สถานีวิจัยในสังกัดสถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ มีการจัดการเรียนการสอนเป็นการจัดการเรียนการสอนนอกสถานที่ภายในจังหวัดลพบุรี และโครงการจัดตั้งวิทยาเขตกระบี่ ให้ตั้งเป็นศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดกระบี่ เพื่อให้บริการในลักษณะการต่อยอดด้านวิชาการต่าง ๆ
วิทยาเขตกำแพงแสนเป็นวิทยาเขตที่ 2 ตั้งอยู่ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ปัจจุบัน มีหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอน 5 คณะ ได้แก่
เป็นวิทยาเขตลำดับที่ 3 ตั้งอยู่ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ปัจจุบัน มีหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอน 5 คณะ ได้แก่
เป็นวิทยาเขตลำดับที่ 4 ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ปัจจุบัน มีหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอน 4 คณะ ได้แก่
เป็นการขยายโอกาสการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปยังพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศ ในปัจจุบัน ยังไม่มีการจัดตั้งคณะอย่างเป็นทางการในวิทยาเขตนี้ โดยให้คณะในวิทยาเขตอื่นรับผิดชอบ ปัจจุบันได้มีการเปิดสอนในบางหลักสูตรแล้ว ได้แก่
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณทางด้านการวิจัยมากที่สุดและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมหาวิทยาลัยได้วางนโยบาย มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยอย่างสมบูรณ์ โดยปรับปรุงกลไกเสริมสร้างเครือข่ายงานวิจัยในภาพรวมให้เข้มแข็ง ตลอดจนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรของทางมหาวิทยาลัย ผลงานวิจัยของนักศึกษา ไปต่อยอดเทคโนโลยีที่ตอบสนองตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีโครงการวิจัยที่ได้รับเงินอุดหนุนวิจัยภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีการคัดเลือกผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดแบ่งตามประเภทของหลักเกณฑ์ต่าง ๆ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เงินอุดหนุนวิจัยทั่วไป ได้แก่ โครงการวิจัย 3 สาขา คือ โครงการวิจัยสาขาเกษตร โครงการวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์และพฤติกรรม และกลุ่มที่ 2 คือ เงินอุดหนุนวิจัยเฉพาะกิจ
นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการคัดเลือกให้เป็น"มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ" จากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้จัดตั้งสถาบันวิทยาการขั้นสูงขึ้น 4 ศูนย์ คือ ศูนย์วิทยาการขั้นสูงเพื่อเกษตรและอาหาร, ศูนย์วิทยาการขั้นสูงด้านทรัพยากรธรรมชาติเขตร้อน, ศูนย์วิทยาการขั้นสูงด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมเคมีอาหาร และการเกษตร, และ ศูนย์วิทยาการขั้นสูงด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม อันเป็นการวางโครงสร้างขนาดใหญ่เพื่อรองรับการสร้างผลงานวิจัย สร้างบุคลากรนักวิจัย และผลิตนวัตกรรมต่าง ๆ และเป็นการระดมสมองและบูรณาการความรู้จากบุคลากรทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนความเป็นเลิศทางวิชาการและแสดงศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทยไปสู่เวทีระดับนานาชาติ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมีหน่วยงานทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการบริหารการประสานงานด้านวิจัย และพัฒนาทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำหน้าที่ประสานและบริหารงานวิจัย และบริการวิชาการ และงานวิจัย ให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่กำหนดในพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัย อันนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่สมบูรณ์แบบ
ในปี พ.ศ. 2549 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ดำเนินการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทยใน "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย" โดยในภาพรวมผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยกลุ่มดัชนีชี้วัดด้านการวิจัยและกลุ่มดัชนีชี้วัดตามด้านการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับดีเยี่ยมและเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 8 ในด้านการเรียนการสอนของประเทศไทย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษา ผลปรากฏว่าในการประเมินครั้งที่ 3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการประเมินในระดับดีมากในสาขาวิชาการจัดการศัตรูพืช (Pest Management) จากภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร
นอกจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานในประเทศไทยแล้ว ยังมีหน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีเกณฑ์การจัดอันดับและการให้คะแนนที่แตกต่างกัน ได้แก่
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยของเว็บโอเมตริกซ์ ประจำปี พ.ศ. 2558 จัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก อันดับ Webometrics จะบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ในเว็บไซต์ของสถาบัน โดยพิจารณาจากจำนวน Link ที่เชื่อมโยงเข้าสู่เว็บนั้นๆจากเว็บภายนอกโดยวัดจากการสืบค้นด้วยSearch Engine และนับจำนวนเอกสารตีพิมพ์ออนไลน์ในกลุ่มของไฟล์ .pdf .ps .ppt และ .doc และจำนวนเอกสารที่มีการอ้างอิง (Citation) แบบออนไลน์ผ่านกูเกิลสกอลาร์ (Google Scholar) โดยจะจัดอันดับปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ เดือนมกราคม และ เดือนกรกฎาคม โดยล่าสุดในเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2558 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศไทย และอยู่ในอันดับที่ 213 ของโลก
จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกโดยแควกเควเรลลี ไซมอนด์ส ประจำปี พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับในภาพรวมอยู่ในอันดับที่ 651-700 ของโลก ส่วนการจัดอันดับแบบแยกเป็นสาขาวิชา 5 สาขา พบว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ติดอันดับในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี อยู่ในอันดับที่ 389 โดยเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 5 ของประเทศไทยในการจัดอันดับแบบภาพรวม
ส่วนการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในทวีปเอเชียประจำปี พ.ศ. 2557 โดยแควกเควเรลลี ไซมอนด์ส ที่มีเกณฑ์การจัดอันดับแตกต่างจากระดับโลก พบว่า มหาวิทยาลัยวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับในภาพรวมอยู่ในอันดับที่ 151-160 ของเอเชีย ส่วนการจัดอันดับแบบแยกเป็นสาขาวิชา 5 สาขา พบว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ติดอันดับสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ โดยอยู่ในอันดับที่ 41 และเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 6 ของประเทศไทยในการจัดอันดับแบบภาพรวม
อันดับมหาวิทยาลัยโดย SCImago Institutions Ranking หรือ SIR ซึ่งเป็นการจัดอันดับสถาบันที่มีผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ ในปี พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 1044 ของโลก และเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย
อันดับที่จัดโดย University Ranking by Academic Performance หรือ URAP ปี พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 7 ของประเทศไทย และอันดับ 995 ของโลก โดยมีพื้นฐานทางด้านวิชาการตรงตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คุณภาพและปริมาณของบทความตีพิมพ์ทางวิชาการ บทความวิจัย การเผยแพร่ และการอ้างอิง
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ดำเนินภารกิจเพื่อสนองนโยบายการกระจายโอกาสทางการศึกษาของรัฐบาลใน 4 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตบางเขน, วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม, วิทยาเขตศรีราชา จังหวัดชลบุรี และวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร โดยมีแหล่งที่ตั้งและจำนวนพื้นที่ของแต่ละวิทยาเขต ดังนี้
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีนโยบายในการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (e-University) ที่สมบูรณ์แบบ จึงได้วางเครือข่ายโครงสร้างและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในทุกหน่วยงานและทุกวิทยาเขตให้มีความพร้อมรองรับการเป็น e-University
การดำเนินงานเพื่อพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินการไปแล้วคือ การวางโครงสร้างเครือข่ายสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งในวิทยาเขตบางเขนและวิทยาเขตต่าง ๆ โดยได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนในปี พ.ศ. 2546 รวม 34.5 ล้านบาท และมหาวิทยาลัยได้เตรียมงบประมาณรองรับการวางโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไว้แล้วรวมกว่า 192 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยได้วางระบบเครือข่ายสำนักงานอัตโนมัติ (Office Automation) และเริ่มใช้ระบบสำนักงานอัตโนมัติในหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว ดำเนินการบริหารการประชุมโดยเริ่มระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ในการประชุมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อลดปริมาณการใช้เอกสาร ประหยัดค่าใช้จ่ายและเพื่อความสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการวางระบบโครงสร้างเครือข่ายไร้สาย (Wireless Networking System) ในคณะ สำนัก สถาบัน และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็น Wireless Campus ซึ่งได้ดำเนินการแล้วหลายหน่วยงาน เช่น สำนักบริการคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สำนักงานอธิการบดี และ สำนักหอสมุด
โดยมีโครงการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินการไปแล้วประกอบด้วย โครงการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) โครงการระบบสำนักงานอัตโนมัติ (e-Office) โครงการระบบการเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) โครงการข่าวอิเล็กทรอนิกส์ (e-News) โครงการไวร์เลสแคมปัส (Wireless Campus) โครงการบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) โครงการจัดทำฐานข้อมูลงานวิจัย (e-Publication) โครงการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Library) โครงการพัฒนา/ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนงานบริหารของมหาวิทยาลัย (e-MIS) โครงการพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้มีความพร้อมด้านไอที (e-Personal) โครงการปรับปรุงและขยายเครือข่ายของมหาวิทยาลัย (e-Campus)
และมีแผนที่จะดำเนินงานในระยะต่อไปดังนี้ ดำเนินการโครงการ e-MIS ให้ครอบคลุมระบบงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย พัฒนาระบบสนับสนุนการเรียนการสอนเพื่อก้าวสู่การใช้ e-Learning ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและพัฒนาโครงการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการก้าวสู่การเป็น e-University ที่สมบูรณ์แบบต่อไป ดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายฐานข้อมูลอัจฉริยะทางการเกษตร (Intelligent Agriculture System - e-Ag) ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การให้บริการข้อมูลทางการเกษตรโดยระบบอัจฉริยะ (Intelligent Systems) และการสื่อสารโดยผ่านทางสถานีวิทยุของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งการให้บริการถามตอบข้อมูลผ่านทาง Agriculture Call Center ของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีในระบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ระยะเวลาในการเรียนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในระดับปริญญาตรีนั้นโดยหลักสูตรปกติจะเป็นหลักสูตร 4 ปี ยกเว้นบางสาขาวิชาที่ต้องมีการเรียนการสอนที่มากกว่า 4 ปีส่วนปริญญาโทและเอกนั้นเป็นไปตามที่หลักสูตรกำหนด
สำหรับนิสิตระดับปริญญาตรีนั้นนอกจากจะต้องเรียนตามที่หลักสูตรกำหนดแล้วระเบียบการศึกษาและข้อบังคับของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้กำหนดไว้ว่าผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีนั้นจะต้องทำกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ให้ครบหน่วยชั่วโมงกิจกรรม โดยกิจกรรมแต่ละประเภทจะเป็นการพัฒนานิสิตในด้านจริยธรรมและคุณธรรม วิชาการและทักษะวิชาชีพ สุขภาพ โดยเป็นการพัฒนาตนเองและเป็นการทำประโยชน์แก่สังคมอีกด้วย
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้บัญญัติข้อบังคับสำหรับการดำเนินกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและกิจกรรมมีประสิทธิภาพ สภามหาวิทยาลัยจึงมีประกาศสภามหาวิทยาลัย เรื่อง ข้อบังคับว่าด้วยธรรมนูญนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2549 ซึ่งบัญญัติไว้ว่าการดำเนินกิจกรรมนิสิตของมหาวิทยาลัยจะกระทำได้โดยองค์กรกิจกรรมนิสิต ดังต่อไปนี้
กิจกรรมของทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้นสามารถที่จะแบ่งได้ออกเป็นหลายลักษณะดังต่อไปนี้ กิจกรรมวิชาการ คือกิจกรรมที่ให้ความรู้แก่นิสิต อาทิ กิจกรรมก้าวแรกสู่บัณฑิตยุคใหม่ เป็นกิจกรรมแรกที่นิสิตชั้นปีที่ 1 จะต้องเข้าร่วมเป็นงานที่อธิบายประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัย วิทยาเขตต่าง ๆ งานเกษตรแห่งชาติ เป็นงานวิชาการด้านการเกษตรที่จัดร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งจัดในส่วนกลางที่วิทยาเขตบางเขน สลับกับภูมิภาคที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่าง ๆ โดยจัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2495 โดยใช้ชื่องานว่า "งานประจำปีเกษตรกลางบางเขน" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดงานอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีงานเกษตรแฟร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดแสดงงานวิชาการประจำปีซึ่งมีทุกวิทยาเขต โดยจะมีการจัดในสัปดาห์ในวันก่อตั้งของแต่ละวิทยาเขต สำหรับวิทยาเขตบางเขนจะมีการจัดงานปีเว้นปีโดยสลับกับงานเกษตรแห่งชาติ
กิจกรรมศิลปวัฒนธรรมอาทิ กิจกรรมคอนเสิร์ตประสานเสียงสามสถาบัน จุฬาฯ เกษตรศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (CKT) เป็นการแสดงคอนเสิร์ตร่วมของ 3 สถาบันที่ได้รับพระราชทานเพลงจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กิจกรรมลอยกระทง เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกปีโดยองค์การบริหารองค์การนิสิตกิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานและรักษาประเพณีอันดีงามของไทย พร้อมกิจกรรมการแสดงบนเวที การประกวดนางนพมาศ และงานธิดาเกษตร งานประกวดบุคคลที่มีความงามที่มีความรู้ด้านการเกษตร
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์และอาสาสมัครซึ่งก็คือการออกค่ายอาสา ซึ่งการออกค่ายอาสาสมัครของนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีหลายองค์กรนิสิต เช่น ชมรมค่ายอาสาพัฒนา ม.เกษตรศาสตร์, ชมรมนนทรีทักษิณ, ชุมนุมรัฐศาสตร์ เป็นต้น
มีหลักฐานจากสูจิบัตรวันพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 โดยสถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในคราวนั้นคือ ห้องโถงชั้นบนตึกสัตวบาล ซึ่งเป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตรระหว่าง พ.ศ. 2493 - 2495 (อาคารหอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปัจจุบัน)
ต่อมาพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรแก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษา ได้ใช้อาคารห้องสมุดกลางในขณะนั้นในระหว่างปี พ.ศ. 2496 ถึง 2499 และหลังจากหอประชุมใหญ่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2500 จึงได้ใช้อาคารหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนในเวลาต่อมา
ในปี พ.ศ. 2520 ได้มีการย้ายสถานที่ในการพระราชทานปริญญาบัตรจากหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปเป็น อาคารใหม่ สวนอัมพร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปทรงประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2519 - 2520 โดยอาคารใหม่ สวนอัมพร นี้ เป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตรระหว่าง พ.ศ. 2520 - 2528
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปี พ.ศ. 2529 ได้กลับมาจัดในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกครั้ง แต่เปลี่ยนสถานที่จากหอประชุมเป็นอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งมีขนาดกว้างขวางกว่าและจุผู้เข้าร่วมพิธีได้มากกว่า โดยในวาระนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีเปิดอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งตั้งชื่อตามพระนามพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และใช้เป็นสถานพระราชทานปริญญาบัตร ตั้งแต่ พ.ศ. 2529 จวบจนถึงปัจจุบัน
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2542 - 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2541 ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
และในปี พ.ศ. 2544 - 2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากทุกวิทยาเขต โดยมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี ในปี พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนเวลาการเปิดการสอนภาคต้นจากเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนสิงหาคมจึงได้เลื่อนกำหนดการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเป็นช่วงเดือนตุลาคม
วันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยถือเอาการมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฉบับแรก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดพิธีวางพวงมาลาคารวะสามบูรพาจารย์และพิธีรดน้ำบูรพาจารย์อาวุโส เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครบรอบทุกปี ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
วันรำลึกถึงรัชกาลที่ 8 ทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลางบางเขน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทอดพระเนตรการทำนาที่อำเภอบางเขน และกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 8 ทรงหว่านข้าวในแปลงนาหลังตึกขาว ซึ่งปัจจุบันคือตึกพืชพรรณของกรมวิชาการเกษตร เหตุการณ์ในวันนั้นจึงนับเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเกษตรของไทยและของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตลอดไป
วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีโปรด วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จฯ มาทรงปลูกต้นนนทรี จำนวน 9 ต้น ณ บริเวณด้านหน้าอาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพระราชทานต้นนนทรีเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยตามคำกราบบังคมทูลของทางมหาวิทยาลัย
และหลังจากทรงปลูกต้นนนทรีแล้ว ได้ทรงดนตรีที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นครั้งแรก โดยล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จเข้าสู่หอประชุม เพื่อทรงดนตรีร่วมกับวง อ.ส. วันศุกร์ ซึ่งมี อาจารย์ และ ศิษย์เก่า แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รวมอยู่ด้วย ได้แก่ อาจารย์ระพี สาคริก อวบ เหมะรัชตะ เป็นต้น เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่นำมาสู่การเสด็จ "เยี่ยมต้นนนทรี" และ "ทรงดนตรี" อีก 9 ครั้งในปีต่อ ๆ มา
วันหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เป็นวันรำลึกซึ่งหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ถึงชีพิตักษัย เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2514 หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ทรงเป็นประธานคณะกรรมการข้าวระหว่างชาติ ทรงได้รับรางวัลแมกไซไซด้านบริการสาธารณะ และที่สำคัญทรงได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่ โดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดพิธีรำลึกในวันที่ 22 มิถุนายน ของทุกปี ณ สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
วันสระสุวรรณชาดพระราชทาน เป็นวันครบรอบสระสุวรรณชาดซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานสำหรับการรักษาแบบธาราบำบัดให้สุนัขที่ป่วยด้วยโรคข้อกระดูกและระบบประสาท โดยเป็นเงินพระราชทานจากรายได้การจำหน่ายเสื้อคุณทองแดง พร้อมทั้งพระราชทานชื่อสระว่ายน้ำว่า สระสุวรรณชาด เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในครั้งนี้ด้วย