มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด (อังกฤษ: University of Oxford) ตั้งอยู่ในเมืองอ๊อกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร และเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ มีอายุกว่า 800 ปี ไม่มีหลักฐานประวัติการก่อตั้งแน่นอน แต่มีหลักฐานว่าอ๊อกซฟอร์ดได้เริ่มสอนมาตั้งแต่ พ.ศ. 1639 (ค.ศ. 1096) และ ในปี พ.ศ. 1710 (ค.ศ. 1167) หลังจากที่พระเจ้าเฮนรีที่ 2 ของอังกฤษ ทรงห้ามมิให้ชาวอังกฤษเดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยปารีส ซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยนั้น นักศึกษาและนักวิชาการอังกฤษที่เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ สมัยนั้นจึงพากันไปรวมตัวที่เมืองอ๊อกซฟอร์ด มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดจึงเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์และการสนับสนุนการเงินจากคหบดีต่าง ๆ ปี พ.ศ. 1710 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด
ตำนานเล่าว่าหลังอ๊อกซฟอร์ดตั้งมาเป็นเวลาหลายสิบปีก็เกิดจลาจลระหว่างนักวิชาการ กับชาวเมืองอ๊อกซฟอร์ดจนมีหญิงสาวชาวบ้านคนหนึ่งถูกแขวนคอเสียชีวิต นักวิชาการและนักศึกษาอ๊อกซฟอร์ดจำนวนหนึ่งพากันหนีไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ไปยังเมืองเคมบริดจ์ แล้วก่อตั้งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ขึ้น โดยเอาวิธีจัดหลักสูตร, วิธีจัดการศึกษาในรูปแบบวิทยาลัยและระบบติวเตอร์ที่มีในอ๊อกซฟอร์ดไปใช้ ดังนั้น มาตรฐานการศึกษาของอ๊อกซฟอร์ดและเคมบริดจ์จึงคล้ายกัน เพราะเหตุที่มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งเกิดในระยะไล่เลี่ยกันมาช้านาน จึงมีประวัติการแข่งขันทางวิชาการระหว่างกันนานตามไปด้วย สองมหาวิทยาลัยนี้ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในสหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดมีคณาจารย์และนักศึกษามากกว่าเคมบริดจ์ ในทางวิชาการ อ๊อกซฟอร์ดจะเน้นหนักไปทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ส่วนเคมบริดจ์ก็เน้นหนักไปทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ทั้งสองมหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นต่างกัน
มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดมีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในด้านคุณภาพการวิจัย การเรียนการสอน และคุณภาพบัณฑิต โดยเฉพาะมาตรฐานการศึกษาและคุณภาพของการวิจัย มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดไม่เพียงมีเกียรติภูมิมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ยังเป็นต้นแบบในการพัฒนาของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อทุกวันนี้หลายแห่งทั้งในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา
แต่เพราะความที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดตั้งขึ้นในระยะแรกของโลก (ต่อจากมหาวิทยาลัยโบโลญย่า ในอิตาลีและ มหาวิทยาลัยปารีส ในฝรั่งเศส) จึงเป็นสดมภ์หลักในการค้นคว้าวิจัยทางวรรณคดี, ประวัติศาสตร์, คัมภีร์ศาสนา, ภาษา, โบราณคดี, ศิลาจารึก, ดนตรี, การละคร, มานุษยวิทยา ฯลฯ มุ่งสอนนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตในอุดมคติ เพราะเดิมผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเป็นพวกบาทหลวงในศาสนาคริสต์ วิทยาลัยทุกแห่งที่ก่อตั้งระยะแรกจึงมีโบสถ์ไว้สวดมนต์หรือประกอบพิธีศาสนาด้วย เนื่องจากจุดเน้นด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดแต่เดิมคือการศึกษาแนวศิลปศาสตร์แบบอนุรักษนิยม ดังนั้น เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นทีหลัง ซึ่งมุ่งพัฒนาวิทยาศาสตร์และหลักวิชาธุรกิจแบบทุนนิยมโดยเฉพาะ โดยมีทุนสนับสนุนจากรัฐบาลและเอกชนจำนวนมาก ภาพลักษณ์เดิมของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดก็อาจไม่ดึงดูดใจนักวิทยาศาสตร์หรือนักธุรกิจเหล่านี้เท่าใดนัก
แต่ในรอบ 70 กว่าปีมานี้ ทั้งก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สองอันเป็นช่วงที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ปฏิรูปมหาวิทยาลัยในเยอรมนี โดยใช้มหาวิทยาลัยเบอร์ลินเป็นต้นแบบเพื่อเร่งวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทหารจนคุกคามประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อรัฐบาลอังกฤษต้องการความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี ทั้งกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรหันไปเน้นวิทยาศาสตร์และการบริหารจัดการ โดยจัดสรรทุนให้สาขาเหล่านี้ทำวิจัยมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นช่วงที่ทำให้มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้เปรียบมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดมากเพราะเน้นวิทยาศาสตร์มากกว่า มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดจึงปรับตัวและเร่งพัฒนาวิทยาศาสตร์และบริหารธุรกิจจนประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม ปัจจุบัน ทั้งสองสาขานี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในลักษณะก้าวกระโดดในอ๊อกซฟอร์ดตามกระแสความต้องการของโลกสมัยใหม่ ความที่อ๊อกซฟอร์ดมีรากฐานทางวิชาการที่เข้มแข็ง ผ่านสั่งสมประสบการณ์บริหารวิชาการมาอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 800 ปีส่งผลให้อ๊อกซฟอร์ดทุกวันนี้สามารถก้าวมาอยู่ระดับแนวหน้าของโลก แม้แต่ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระยะเวลาไม่กี่ปี
ปัจจุบันนี้ มีวิทยาลัยที่สังกัดมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด 39 แห่ง ซึ่งผู้สมัครสามารถเลือกเข้าไปอยู่ได้ ถ้ามีคุณสมบัติตรงตามที่วิทยาลัยต้องการ วิทยาลัยต่างๆ
อ๊อกซฟอร์ดเป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ มหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ เช่น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอังกฤษ, มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เยล พรินซ์ตัน ฯลฯ ในสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยหลายแห่งในแคนาดา ออสเตรเลีย ฯลฯ ล้วนแต่เคยใช้มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดเป็นต้นแบบในการพัฒนา ไม่ว่าจะในรูปสถาปัตยกรรม ระบบการศึกษา วัฒนธรรมการใช้ชีวิตของนักศึกษาและครูอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัย และระบบจัดการศึกษา ตึกเรียนของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ และเจมส์ บอนด์
วารสาร Research Forthnight ซึ่งเป็นนิตยสารที่เชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรป ได้ยกให้อ๊อกซฟอร์ดเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งในอังกฤษด้านกำลังการวิจัย (Research Power) อ๊อกซฟอร์ดยังมีภาควิชาหลายภาควิชาที่ใหญ่ที่สุดในโลก เช่น ภาควิชาเคมี และ ภาควิชาคลาสสิกส์ (ภาษาและวรรณคดีกรีกและละติน) ส่วนสถาบันบริหารธุรกิจซาอิด (Said Business School) ของอ๊อกซฟอร์ดได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาบันบริหารธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดของยุโรป และสามารถจัดหลักสูตรบริหารจัดการทางธุรกิจหลักสูตรปีเดียวได้ดีที่สุดในสหราชอาณาจักร ส่วนการจัดการเรียนการสอนวิชาบริหารธุรกิจระดับปริญญาตรีในอ๊อกซฟอร์ดได้รับการยกย่องจาก Times Good University Guides ว่าดีที่สุดในสหราชอาณาจักรทุกปี ล่าสุด หนังสือแนะแนวมหาวิทยาลัยสำหรับนักเรียนมัธยมอังกฤษของหนังสือพิมพ์ไทมส์ชื่อ Good University Guides และหนังสือพิมพ์ The Guardian ได้จัดอันดับให้อ๊อกซฟอร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของอังกฤษ
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดจำนวนมากเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอังกฤษ, ร่วมในคณะนักบวชพิวริตันก่อตั้งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, ในสหรัฐอเมริกา ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด คือ เจเรมี เบนทัม ผู้นำปรัชญาประโยชน์นิยมซึ่งเคยศึกษาที่วิทยาลัยควีนส์ในอ๊อกซฟอร์ด เป็นผู้ก่อตั้ง University College London ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ มหาวิทยาลัยลอนดอน ในอังกฤษ, อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยเยล, ผู้พิพากษาศาลสูงสุดของอินเดีย, พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างที่ทรงปรับปรุงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากโรงเรียนมหาดเล็ก ก็ทรงได้รับอิทธิพลความคิดจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดนั่นเอง
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดยังได้สร้างนายกรัฐมนตรีอังกฤษมาแล้ว 25 คน เคยมีบุคคลสำคัญมาศึกษาที่อ๊อกซฟอร์ดก่อนได้ตำแหน่งสำคัญทางการเมือง อาทิ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา, อินเดียและนายกรัฐมนตรีอินเดีย, นายกรัฐมนตรีไทย, นายกรัฐมนตรีจาไมกา, นายกรัฐมนตรีแคนาดา, นายกรัฐมนตรีศรีลังกา, นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย, วุฒิสมาชิกในรัฐสภาคองเกรส, ประธานาธิบดีกานา เป็นต้น
มหาวิทยาลัยที่เป็นคู่แข่งขันของอ๊อกซฟอร์ด คือ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทั้งสองมหาวิทยาลัยนี้เก่าแก่ที่สุดในอังกฤษ จึงจับคู่กันพัฒนา มีหลายนโยบายที่ทำไปในทิศทางเดียวกัน จึงเรียกนักศึกษาและครูอาจารย์ของสองมหาวิทยาลัยนี้รวม ๆ ว่าพวก อ๊อกซบริดจ์ เพราะคนเหล่านี้โดยพื้นฐานแล้วมาจากระบบการศึกษาที่เหมือนกัน เมื่อนโยบายชัดเจนแล้วก็แข่งขันกันด้านคุณภาพวิชาการในหมู่ครูอาจารย์ และการกีฬาในหมู่นักศึกษา โดยเฉพาะกีฬาแข่งเรือจัดเป็นกีฬาที่มีชื่อเสียงที่สุดที่นักศึกษาสองมหาวิทยาลัยแห่งนี้จัดกันขึ้น สถานีโทรทัศน์บีบีซีถ่ายทอดสดการแข่งขันในช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายนของทุกปี
การแข่งขันทางวิชาการของสองมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่แห่งนี้ ได้เป็นต้นตำรับของการแข่งขันกันทางวิชาการของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ตามมา อาทิ ฮาร์วาร์ด-เยล ในสหรัฐอเมริกา, เคโอ-วาเซดะ ในญี่ปุ่น, เมลเบิร์น-ซิดนีย์ ในประเทศออสเตรเลีย, ปักกิ่ง-ชิงหว๋า ในประเทศจีน เอ็มกู (มหาวิทยาลัยมอสโก)-เซนปีเตอร์สเบิร์ก ในประเทศรัสเซีย
อ๊อกซฟอร์ดมีสำนักหอสมุดกลางชื่อว่าบ๊อดเลียน (Bodlean Library) และมีห้องสมุดในเครือข่ายกระจายไปตามภาควิชาต่างๆ มากมาย สำนักหอสมุดของอ๊อกซฟอร์ดเป็นห้องสมุดมหาวิทยาลัยแห่งที่สองที่จดทะเบียนเป็นห้องสมุดสงวนลิขสิทธิ์ (Copyright Library) ถัดจากสำนักหอสมุดแห่งชาติของอังกฤษ (The British Library) หมายความว่า หนังสือที่จัดพิมพ์ทุกเล่มในสหราชอาณาจักรจะต้องส่งไปยังห้องสมุดของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดจำนวนหนึ่งเพื่อเข้าห้องสมุด ด้วยเหตุนี้ สำนักหอสมุดของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดจึงมีหนังสือที่จัดพิมพ์ใหม่ให้ค้นคว้ามากมาย นอกเหนือจากต้นฉบับคัมภีร์โบราณ (Old manuscripts) ที่บันทึกด้วยภาษาต่างๆ อาทิ กรีก ฮิบรู ฮิทไทท์ สันสกฤต ฯลฯ ที่หามิได้ที่อื่น
เพราะมีคัมภีร์ต้นฉบับดั้งเดิมมากมาย คณาจารย์มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดจึงสามารถจัดทำพจนานุกรมฉบับตั้งโต๊ะออกมาเผยแพร่ได้สำเร็จ เช่น พจนานุกรมภาษากรีก ภาษาละติน ภาษาฮิบรู ภาษาอังกฤษ ฯลฯ หนังสือเหล่านี้สร้างชื่อให้อ๊อกซฟอร์ดมาหลายศตวรรษ มีจัดแสดงที่ร้านหนังสือสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ถนนไฮสตรีต ย่านใจกลางเมือง อ๊อกซฟอร์ด ดังนั้น สำนักหอสมุดอ๊อกซฟอร์ดจึงมีการถ่ายเทหนังสือวิชาการเก่าที่มีเนื้อหาล้าสมัยออกจากห้องสมุดทุกๆปี แล้วเอาหนังสือใหม่ที่ผ่านการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยเข้าไปแทน
อ๊อกซฟอร์ดไม่ได้เน้นปริมาณหนังสือว่าจะต้องมากที่สุด แต่มุ่งเน้นคุณภาพของหนังสือที่นำเข้าเก็บในห้องสมุด ตามข้อมูลมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดมีหนังสือไม่ต่ำกว่า 10 ล้านเล่ม หนังสือเหล่านี้ล้วนแต่ผ่านการคัดเลือกอย่างดี มหาวิทยาลัยมีนโยบายให้นักศึกษาได้ค้นอ่านข้อเขียนของนักวิชาการระดับท็อปของโลก หนังสือไหนที่มีชื่อเสียงล้วนแต่มีให้ค้นอ่านที่อ๊อกซฟอร์ด ถึงไม่มี สำนักหอสมุดก็สามารถขอยืมจากภายนอกมาให้อ่านได้ นอกจากนี้ ยังมีสาระสังเขป (abstract) วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาเด่นๆ จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงต่างๆ ทั่วโลกให้นักศึกษาได้ค้นคว้าศึกษาและยังมีระบบอำนวยความสะดวก กล่าวคือมีเจ้าหน้าที่ไว้ช่วยบริการให้นักศึกษาและครูอาจารย์ค้น คว้าทำวิจัยได้อย่างรวดเร็วด้วย
แม้ว่าการใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดจะได้ชื่อว่าเครียด แต่ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง บัตรนักศึกษาของมหาวิทยาลัย อ๊อกซฟอร์ดสามารถช่วยได้ส่วนลดจากการซื้อสินค้าตามร้านต่างๆ หลายรายการถ้าหากใช้ซื้อสินค้าที่ตั้งอยู่ในเมืองอ๊อกซฟอร์ด ลดค่าตั๋วเข้าชมการแสดงหรือละเล่นต่างๆ ได้ส่วนหนึ่ง
สถานที่เล่นกีฬาซึ่งมหาวิทยาลัยเตรียมไว้ให้นักศึกษาปรกติจะได้มาตรฐานโอลิมปิก เช่น สนามเล่นฟุตบอล สนามเล่นสคว็อช สระว่ายน้ำ สถานีสำหรับฝึกพายเรือของวิทยาลัยต่างๆ สนามฝึกแบดมินตัน สนามฝึกเทนนิส สนามฝึกคริเกต นอกจากนี้ ยังมีสำนักหรือกลุ่มผู้ฝึกมวยจีน อันได้แก่มวยไท้เก๊ก (Tai Chi Chuan) เพลงมวยหย่งชุน (Wing Chun Kung Fu) ซึ่งแตกแขนงมาจากเส้าหลินใต้ จัดกิจกรรมกันเป็นระยะๆ เพื่อดึงดูดให้นักศึกษาเข้าร่วม
Aarhus ? Barcelona ? Bergen ? โบโลญญา ? Bristol ? Budapest ? เคมบริดจ์ ? Coimbra ? Dublin ? เอดินบะระ ? Galway ? Geneva ? G?ttingen ? Granada ? Graz ? Groningen ? Heidelberg ? Ia?i ? Jena ? Krak?w ? Leiden ? Leuven ? Louvain-la-Neuve ? Lyon ? Montpellier ? อ๊อกซฟอร์ด ? Padua ? Pavia ? Poitiers ? Prague ? Salamanca ? Siena ? Tartu ? Thessaloniki ? Turku I ? Turku II ? Uppsala ? W?rzburg