มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
222 ถนนมหาวิทยาลัย ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช 80160ศูนย์วิทยบริการ จ.สุราษฎร์ธานี
อาคาร PC Tower ชั้น 8-9 ถนนกาญจนวิถี ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84000
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (อังกฤษ: Walailak University; อักษรย่อ:มวล.) เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคใต้ตอนบน ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พุทธศักราช 2535 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีรูปแบบเป็น “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล” บริหารอิสระจากระบบราชการ มีระบบบริหารงานเป็นของตนเอง เป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ (Comprehensive University) ที่มีการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้มีลักษณะเป็นเมืองมหาวิทยาลัยในรูปแบบ Residential University และเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน โดยจัดพื้นที่ทั้งหมดของมหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ ในลักษณะอุทยานการศึกษา และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีวิทยาเขตเดียว โดยกำหนดให้จัดระบบการศึกษาแบบไตรภาค (Trimester System) โดยหนึ่งปีการศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ภาคการศึกษา มีระบบสหกิจศึกษา (Cooperative Education) ที่นักศึกษาได้มีการศึกษาทั้งในองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และมีการปฏิบัติงานจริงจะทำให้นักศึกษาที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีทั้งความรู้ทางวิชาการและมีความชำนาญในทางปฏิบัติควบคู่กันการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. 2535 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2535 มีความก้าวหน้าและพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ขยายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่เยาวชนในภาคใต้และภูมิภาคต่าง ๆ พร้อมทั้งดำเนินงานด้านการวิจัยและการบริการวิชาการเพื่อสนองตอบแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรม
ในปี พ.ศ. 2510 ชาวนครศรีธรรมราช เริ่มรณรงค์เรียกร้องให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดนครศรีธรรมราช จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2531 ให้จัดตั้งวิทยาลัยนครศรีธรรมราช สังกัดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศในอนาคต แต่ก็ได้ยกเลิกมติดังกล่าวในเวลาต่อมา และอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2534
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามว่า “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” อันเป็นสร้อยพระนามในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
13 มีนาคม พ.ศ. 2535 สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติให้ความเห็นชอบพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. 2535 29 มีนาคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พุทธศักราช 2535 ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จึงถือเอาวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2535 เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย และให้วันที่ 29 มีนาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2536 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานพระอนุญาตให้อัญเชิญอักษรย่อคือพระนาม "จ.ภ." ซึ่งเป็นพระนามย่อของพระองค์ มาเป็นตราประจำมหาวิทยาลัย
24 มิถุนายน พ.ศ. 2536 จัดตั้งสำนักงานอธิการบดี และหน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพมหานคร ณ อาคารทบวงมหาวิทยาลัย ถนนศรีอยุธยา เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร และในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 สภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีศาสตราจารย์ ดร. เกษม สุวรรณกุล เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยท่านแรก และมีศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
21 มกราคม พ.ศ. 2539 มหาวิทยาลัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานชื่อ “อุทยานการศึกษาเฉลิมพระเกียรติ”
29 มีนาคม พ.ศ. 2539 ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ณ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงถือว่าวันนี้เป็นวันมงคลยิ่งของชาวมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตั้งแต่นั้นมา
17 ตุลาคม พ.ศ. 2540 จัดแถลงข่าว เรื่องการเปิดรับนักศึกษา ปีการศึกษา 2541 และเปิดการเรียนการสอนวันแรกในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2541
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งอยู่บนที่ดินสาธารณประโยชน์ หมู่ที่ 2 ตำบล โพธิ์ทอง หมู่ที่ 2 3 6 8 และหมู่ที่ 10 ตำบลไทยบุรี และหมู่ที่ 1 5 6 และหมู่ที่ 9 ตำบลหัวตะพาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื้อที่ประมาณ 9,000ไร่ ปัจจุบันตั้งอยู่ เลขที่ 222 หมู่10 ต.ไทยบุรี อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช 80161
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงพระราชทานอนุญาตให้อัญเชิญตราพระนามของพระองค์มาเป็นตรามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีตราพระนามเป็นองค์ประกอบหลักอยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยชื่อของมหาวิทยาลัย ด้วยตัวอักษรเป็นสีม่วงเข้ม และพื้นเป็นสีม่วงอ่อน พระนามย่อ “จภ” นั้นเป็นสีแสดทึบตรงกลาง ตัวอักษรตัว “จ” และได้ขอพระราชทานกราบทูลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เพื่อขอพระราชทานพระอนุญาตตราพระนามฯ เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2536 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานพระอนุญาตให้อัญเชิญตราพระนามของพระองค์เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย
สีประจำมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คือ สีแสด - ม่วง ด้วยเหตุผลดังนี้ สีแสด เป็นสีวันประสูติของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี สีม่วง เป็นสีหลักของจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสีประจำพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนทฺธโช) เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ และผู้อำนวยการจัดการศึกษามณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลปัตตานี ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ชาวนครศรีธรรมราชนับถือยกย่องว่าเป็นผู้จัดการศึกษาสมัยใหม่ของเมืองนี้
ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือต้นประดู่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Pterocarpus indicus willd ชื่อวงศ์ FABACEAE ชื่อสามัญ Padauk ชื่ออื่น ๆ เรียกว่า Burmese Rosewood, ประดู่ ดู่บ้าน ภาคใต้เรียกว่า สะโน ต้นประดู่ส่วนมากพบในป่าเบญจพรรณทางภาคใต้ เป็นไม้ที่นิยมปลูกให้ร่มเงา ในเมืองนครศรีธรรมราช เคยปลูกบริเวณศาลาหน้าจวนเจ้าเมือง ซึ่งรู้จักกันในนาม“ศาลาประดู่หก”