มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร (อังกฤษ: Sakonnakhon Rajabhat University) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2507 ในชื่อ "โรงเรียนฝึกหัดครูสกลนคร"
ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จะได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เป็นประจำทุกปี ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง ไปทางจังหวัดอุดรธานี ระยะทาง 6 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 612 ไร่ เดิมเป็นที่ดินของกระทรวงกลาโหม และของกรมตำรวจ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพลตำรวจภูธร 4 จังหวัดสกลนคร แต่ได้ยุบเลิกไปรวมกับภาคอื่น ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ใช้สถานที่ก่อสร้างศาลากลางจังหวัดสกลนคร การก่อสร้างตัวอาคารได้เสร็จสิ้นเมื่อ พ.ศ. 2506 แต่ยังใช้ไม่ได้ กระทรวงมหาดไทย ได้เปลี่ยนโครงการไปสร้างศาลากลางจังหวัดใหม่ที่บริเวณศูนย์ราชการในปัจจุบัน จังหวัดสกลนคร กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ขอที่ดินและสิ่งก่อสร้างเพื่อตั้งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู ซึ่ง พณฯจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีใด้มีบัญชาให้มอบที่ดิน และสิ่งก่อสร้างให้กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู โรงเรียนฝึกหัดครูสกลนคร จึงได้ถือกำเนิดขึ้น เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2507
โรงเรียนฝึกหัดครูสกลนคร เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2507 รับนักศึกษารุ่นแรก จำนวน 70 คน (ชาย 48 หญิง 22 คน) โดยฝากเรียนไว้กับวิทยาลัยครูอุบลราชธานี วิทยาลัยครมหาสารคามและวิทยาลัยครูอุดรธานี มีนายจำนง ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม เป็นอาจารย์ใหญ่ ปีการศึกษา 2508 รับนักศึกษาเพิ่ม 152 คน มีครู - อาจารย์ 18 คน ปีการศึกษา 2509 เริ่มเปิดสอนในระดับ ป.กศ.สูง เป็นปีแรก รับนักศึกษา รับนักศึกษา จำนวน 146 คน มีครูอาจารย์ 24 คน นายพจน์ ธัญญขันธ์ ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ การดำเนินงานของโรงเรียนฝึกหัดครูสกลนครได้เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับมีการรับนักศึกษาเพิ่มขึ้น มีครูอาจารย์เพิ่มมากขึ้น อาคารและสิ่งก่อสร้างก็เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการจึงยกฐานะขึ้นเป็น "วิทยาลัยครูสกลนคร" เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2513และได้ขยายการผลิตครูออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคปกติ และภาคค่ำ
ปีการศึกษา 2519 สภาการฝึกหัดครูได้จัดให้มีการเรียนการสอนแบบทวิภาค ดังนั้น สถาบันจึงเปลี่ยนชื่อจาก "นักศึกษาภาคค่ำ" เป็น "นักศึกษาต่อเนื่อง" จนถึงปี 2521
ปีการศึกษา 2521 ได้เปิดสอนในระดับปริญญาตรี 2 ปีหลัง (หลังอนุปริญญา) เป็นปีแรกและเปิดอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำการ (อคป.)
ปีการศึกษา 2529 เปิดสอนในโครงการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) ในหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี และปริญญาตรี 2 ปีหลัง
สถาบันราชภัฏสกลนคร ต่อมา เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้แก่วิทยาลัยครูทั่วประเทศว่า "สถาบันราชภัฏ" ในปี พ.ศ. 2537 รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538 ต่อรัฐสภา เมื่อผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2538 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 112 ตอนที่ 4 ก ลงวันที่ 24 มกราคม 2538 จากพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ กองสาสนะ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของสถาบันราชภัฏสกลนคร
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 121 ตอนพิเศษ 23 ก ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2547 มีผลให้สถาบันราชภัฏสกลนครได้รับยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2547 และผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครคือ ผศ.ดร.วัฒนา สุวรรณไตรย์ และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครคนปัจจุบัน คือ รศ.ดร.ชนินทร์ วะสีนนท์
การจัดอันดับโดย เว็บโอเมตริกซ์ (Webometrics) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บไซต์ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก โดยบ่งบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของสถาบัน เพื่อใช้ร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ในการประเมินผลงานวิจัยของสถาบัน ซึ่งทางเว็บโอเมตริกซ์ได้จัดอันดับปีละ 2 ครั้งในเดือนมกราคม และกรกฎาคม ล่าสุดเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร อยู่ในอันดับที่ 2,575 ของโลก อันดับที่ 90 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับที่ 32 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย