วิทยาเขตสงขลา
140 หมู่ 4 ถนนกาญจนวานิช ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลาวิทยาเขตพัทลุง
222 หมู่ 2 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง
มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา เดิมเป็นวิทยาเขตหนึ่งของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ต่อมา ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ มีชื่อว่า มหาวิทยาลัยทักษิณ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทักษิณได้ผ่านกระบวนการตามกฎหมายครบทุกขั้นตอน และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2539 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยทักษิณ โดยชื่อ มหาวิทยาลัยทักษิณ สื่อถึง "มหาวิทยาลัยแห่งภาคใต้"
มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดอยู่ในกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาที่เน้นการผลิตบัณฑิตและพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรม ได้รับการประเมินจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับดี โดยเฉพาะในด้านการบริการแก่สังคม ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมและด้านการประกันคุณภาพภายในที่ได้รับการประเมินในระดับดีมาก ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยประกอบด้วย 2 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตสงขลาและวิทยาเขตพัทลุง รวมทั้งมีศุนย์อยู่ในกรุงเทพมหานคร 1 แห่ง จัดการเรียนการสินในระดับปริญญาตรี โท และเอก ครอบคลุมสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์
วิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา ได้เปิดการเรียนการสอนเป็นครั้งแรกเมื่อปีการศึกษา 2512 ในหลักสูตรปริญญาการศึกษาบัณฑิต เฉพาะหลักสูตร 2 ปี และในปีการศึกษา 2517 จึงเริ่มรับนิสิตเข้าเรียนในหลักสูตรปริญญาการศึกษาบัณฑิต หลักสูตร 4 ปี และได้ดำเนินการจัดการศึกษาและผลิตบัณฑิตโดยมีความเจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ในปีพุทธศักราช 2517 วิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา จึงเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายใต้ชื่อ “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา”
มหาวิทยาลัยทักษิณมีตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเป็นรูปตำราการศึกษา 3 เล่ม สีเทา (สีประจำมหาวิทยาลัย) สะท้อนปรัชญาของมหาวิทยาลัย “ปัญญา จริยธรรม และการพัฒนา” ล้อมรอบด้วยอักษรสีฟ้า (สีประจำมหาวิทยาลัย) เป็นภาษาไทย “มหาวิทยาลัยทักษิณ” และภาษาอังกฤษ “THAKSIN UNIVERSITY” ซึ่งหมายถึงมหาวิทยาลัยแห่งภาคใต้ ด้านบนเหนือรูปตำราการศึกษาเป็นมงกุฎเปล่งรัศมีสีฟ้า ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นเลิศและเกียรติยศ ด้วยในปีพุทธศักราช 2539 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้ ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ ตรงกับวโรกาสอันเป็นมหามงคลสมัยปีกาญจนาภิเษก ในศุภวาระที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี
มหาวิทยาลัยทักษิณมีต้นไม้และดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยคือ ต้นปาริชาต หรือทองหลาง (ชื่อสามัญ: Tiger’s Claw หรือ Indian Coral Tree ชื่อวิทยาศาสตร์:Erythrina variegata L.) เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ อยู่ในวงศ์ถั่ว (LEGUMINOSAE หรือ FABACEAE) ดอกมีลักษณะเป็นช่อสีแดงเข้ม เป็นต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพระไตรปิฎก คนไทยโบราณเชื่อว่าเป็นไม้มงคล หรือต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ปลูกบนสวรรค์ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ต้นประวาลพฤกษ์ ซึ่งประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มออกช่อดอกแล้วบานสะพรั่งเมื่อถึงปลายเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่นิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณสำเร็จการศึกษา
สีประจำมหาวิทยาลัยทักษิณ สืบเนื่องมาจากสีประจำวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา คือสีเทา-ฟ้า
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธศรีศากยมุนินทร์ ศรีนครินทรวิโรฒมงคล” ซึ่งมีความหมายว่า “องค์พระพุทธเจ้า ที่เป็นมิ่งมหามงคล แห่งมหาวิทยาลัย” และมหาวิทยาลัยได้กระทำพิธัอัญเชิญพระพุทธศรีศากยมุนินทร์ศรีนครินทรวิโรฒมงคลมาประดิษฐาน ณ มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534
นับแต่ปี พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา วิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา,มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา,มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้,มหาวิทยาลัยทักษิณ มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารมาแล้ว ดังนี้
หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น
ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ในกิจการของมหาวิทยาลัยทักษิณ และพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยทักษิณเป็นประจำทุกปีนับแต่แรกเริ่มก่อตั้งจวบจนกาลปัจจุบัน โดยพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยจัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ณ หอประชุมปาริชาต มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา
กิจกรรมเทา-งามสัมพันธ์ เกิดขึ้นหลังจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒวิทยาเขตต่างๆ ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยนเรศวร แม้ว่าวิทยาเขตต่างๆ จะได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ แต่ด้วยความตระหนักถึงความผูกพันทั้ง 5 มหาวิทยาลัย จึงมีปณิธานที่จะร่วมมือกันในภารกิจอันควรแก่มหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกันจัดงานเทา-งามสัมพันธ์ ขึ้น โดยใช้สี “เทา” ซึ่งเป็นสีประจำโดยรวมของทุกวิทยาเขตเป็นพื้นฐาน และเพิ่มคำว่า “งาม” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายและมีคุณค่ายิ่ง มีความหมายรวมเป็น “เทา-งามสัมพันธ์” ในปี 2538 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา หรือมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นเจ้าภาพโดยมีรูปแบบกิจกรรมที่เน้นด้านกีฬาและด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นหลัก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย โดยอธิการบดีร่วมเล็งเห็นความสำคัญต่อภารกิจของมหาวิทยาลัยและประเทศชาติ จึงได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือมหาวิทยาลัยในเครือเทา-งามสัมพันธ์ เป็นต้นมา ซึ่งมีข้อตกลงชัดเจนใน 4 ด้านคือด้านการวิจัย ด้านการบริหารวิชาการแก่สังคม ด้านการสร้างความสามัคคีระหว่างมหาวิทยาลัยในเครือเทา-งาม ตลอดจนถึงการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและการกีฬา และด้านการพัฒนาองค์กรบริหาร การจัดการและวิชาการ
เป็นแหล่งรวบรวม ประเมิน คุณค่า จัดเก็บและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการสืบค้นและให้บริการ แก่ผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้า รวมทั้งได้ทราบถึงพัฒนาการของ มหาวิทยาลัยทักษิณ
เป็นหน่วยงานบริการทางวิชาการมีฐานะเทียบเท่าคณะ มีประวัติการก่อตั้งสำนักคอมพิวเตอร์ ก่อตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 เริ่มต้นจากการเป็น “ศูนย์บริการการศึกษาและประมวลผลไมโครคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา” ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา โดยคณะกรรมการบริหารวิทยาเขต ได้อนุมัติให้ใช้เงินสำรองของมหาวิทยาลัย จัดตั้งขึ้น เป็นโครงการเงินทุนหมุนเวียน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์คอมพิวเตอร์มศว สงขลา” และ “ศูนย์คอมพิวเตอร์ มศว ภาคใต้” ตามลำดับการดำเนินงานใช้รูปแบบคณะกรรมการดำเนินการประจำศูนย์คอมพิวเตอร์และดำเนินงานด้วยค่าใช้จ่ายจาก เงินงบประมาณรายได้ของมหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2529 มหาวิทยาลัยได้อนุมัติงบประมาณเงินรายได้ จำนวน 736,000 บาท ( เจ็ดแสนสามหมื่นหกพันบาทถ้วน) ให้ก่อสร้างอาคารที่ทำการหลังแรก ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวมีพื้นที่ปฏิบัติการ 220 ตารางเมตร การก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2530
พ.ศ. 2532 เริ่มได้รับอนุมัติให้บรรจุข้าราชการคือ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระบบงานคอมพิวเตอร์ระดับ 3 และต่อมาก็บรรจุตำแหน่ง พนักงานเครื่องคอมพิวเตอร์ ระดับ 2 เพื่อเป็นบุคลากรช่วยใน การพัฒนาด้านคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2536 ได้รับงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 24,668,000 บาท (ยี่สิบสี่ล้านหกแสนหกหมื่น-แปดพันบาทถ้วน) เป็นงบประมาณผูกพันระยะเวลา 3 ปี เพื่อทำการก่อสร้างอาคารที่ทำการหลังใหม่ (อาคารปัจจุบัน) เป็นอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่ 2,793 ตารางเมตร การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2538 และ เปิดให้ใช้การได้ในปีเดียวกัน
พ.ศ. 2539 เมื่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้ ได้รับการยกวิทยฐานะเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทักษิณ พ.ศ. 2539 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง ส่วนราชการ ในมหาวิทยาลัยทักษิณ ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2541 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 115 ตอนที่ 89ก ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2541 หน้า 4-5 กำหนดให้สำนักคอมพิวเตอร์เป็นส่วนราชการหนึ่งในมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เริ่มดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน
เดิมเป็นอาคาร 2 ชั้นเริ่มเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2512 ต่อมาเนื่องจากอาคารเสื่อมสภาพ ประกอบกับวัสดุห้องสมุดและผู้ใช้บริการเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงได้สร้างอาคารใหม่ขึ้นเป็นอาคาร 5 ชั้น มีเนื้อที่ 9,660 ตารางเมตร ที่นั่งอ่านประมาณ 1,200 ที่นั่ง เปิดให้บริการ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2538 เป็นหน่วยงานบริการทางวิชาการ ของมหาวิทยาลัย
ดำเนิน งานโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความสนับสนุนความเป็นเลิศ ของมหาวิทยาลัย ทั้งในด้าน การสอน การวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มีภารกิจ ที่สำคัญคือ ทำหน้าที่เป็นศูนย์วิชาการที่รวบรวม วัสดุสารสนเทศ สำหรับให้บริการด้าน การเรียน การสอน และ การศึกษาค้นคว้าวิจัยแก่นิสิต อาจารย์ ข้าราชการ และบุคลากรอื่น ๆ ของ มหาวิทยาลัย ตลอดจนบุคคลภายนอก
ปณิธาน หอสมุดมุ่งสู่ความเป็นเลิศในการบริการสารสนเทศด้วยจิตสำนึกที่ดีและเทคโนโลยีที่เหมาะสม
วิสัยทัศน์ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นห้องสมุดมีชีวิตที่ให้ความพึงพอใจสูงสุดในด้านการให้บริการและทรัพยากรสารสนเทศทุกรูปแบบ ทั้งที่เป็นสากลและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีการประสานความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และเชื่อมโยงเครือข่ายทางการศึกษาเพื่อผู้ใช้บริการสามารถ เข้าถึงข้อมูลได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ อันเป็นประโยชน์ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดี
พันธกิจ สำนักหอสมุดเป็นองค์กรที่มีการจัดหา รวบรวม สร้างสรรค์ และพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ ทุกรูปแบบ ทั้งภูมิปัญญา ท้องถิ่นและสากล มีระบบการให้บริการอ่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความ พึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการด้วยเทคโนโลยี่ทันสมัย ดยมีการบริหารและจัดการที่
องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนจะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาเป็นเครื่องมือที่สำคัญ มหาวิทยาลัยก็เช่นเดียวกันจำเป็นต้องกำหนดให้งานวิจัยเป็นภารกิจหลัก ภารกิจหนึ่งที่ทุกคนในองค์กรต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ ทั้งนี้เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่สำหรับพัฒนาการเรียน การสอน และนำไปพัฒนาแก้ไขปัญหาท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจและสังคมของชาติโดยรวม มหาวิทยาลัยจึงต้องเป็นแหล่งผลิตนักวิจัยและสร้างผลงานวิจัยที่สำคัญยิ่งให้แก่ประเทศเพื่อ สร้างวิทยาการหรือภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศในอนาคตได้
ภาพรวมของภารกิจวิจัยของมหาวิทยาลัยทักษิณในอดีตจนถึงปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง อาจอ่อนล้าและเข้มแข็งบ้างในบางช่วงเวลา ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการขาดแคลนบุคลากร งบประมาณ และครุภัณฑ์ ที่เสริมสร้างแรงจูงใจให้กับบุคลากรซึ่งต้องทำงานหนักอยู่แล้วมีกำลังมากพอที่จะต้องทำงานหนักขึ้นไปอีก มหาวิทยาลัยเองมีส่วนเป็นอย่างมากที่จะสร้างแรงจูงใจขั้นพื้นฐานให้กับบุคลากรแต่ก็ไม่ได้ทำอย่าง ต่อเนื่องซึ่งดูได้จากการให้ความสำคัญกับภารกิจนี้ค่อนข้างน้อยในอดีตที่ผ่านมา กล่าวคือบางสมัยกำหนดภารกิจวิจัยให้อยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มงานส่งเสริมและประกันคุณภาพการศึกษา ในบางสมัยก็ให้อยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มงานบริการการศึกษา บุคลากรที่จะรองรับก็ไม่มีเนื่องจากเป็นงานฝาก เริ่มจะมีอัตรากำลัง เพื่อรับผิดชอบงานจริงๆ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2546 จำนวน 1 คน และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 อีก 1 คน จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าทำไมงบประมาณวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้รับเพียง 700,000-800,000 บาท ต่อปีเท่านั้น และเริ่มกระเตื้องขึ้นบ้างในปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 3,000,000 บาท
การขับเคลื่อนการวิจัยของมหาวิทยาลัยดำเนินการอย่างเชื่องช้ามาตลอดเวลานั้นเพราะในระยะที่ผ่านมายังขาดการส่งเสริมและสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย จึงเป็นผลทำให้เกิดจุดอ่อนของงานวิจัย เช่น ขาดนักวิจัยที่มีคุณภาพ งานวิจัยส่วนมากเป็นการวิจัยเฉพาะเรื่องขาดการบูรณาการร่วมกัน และสิ่งที่สำคัญคือ ความอ่อนแอของหน่วยประสานงานที่จะไปช่วยส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัย ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากขาดแคลนบุคลากรในด้านการดำเนินงาน และไม่มีนโยบายสนับสนุนการวิจัยของมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน ดังนั้นในปี 2548 ภารกิจส่งเสริมการวิจัย ภายใต้กลุ่มงานบริการการศึกษา ซึ่งมีบุคลากรในการดำเนินงานเพียง 2 คน ได้เริ่มต้นกำหนดเป้าหมายการวิจัยของมหาวิทยาลัยชัดเจนขึ้น ภายหลังการกำหนดกลยุทธ์ร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และภารกิจส่งเสริมการวิจัย และดำเนินการในหลายกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้นักวิจัยเริ่มพัฒนาชุดโครงการวิจัย ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างสูงจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ โดยมี ศ.ดร.เกษม จันทร์แก้ว เป็นประธานกรรมการพัฒนาชุดโครงการวิจัย จากผลการดำเนินงานดังกล่าวทำให้สามารถพัฒนาชุดโครงการวิจัยที่มีคุณภาพและผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงบประมาณ จำนวน 8 ชุดโครงการ และโครงการเดี่ยว 4 โครงการ โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2549 เป็นเงิน 13,687,800 บาท เป็นโครงการต่อเนื่องผูกพันงบประมาณ เป็นเวลา 3 ปี (2549-2551) รวมงบประมาณทั้งสิ้นเป็นวงเงินประมาณ 26 ล้านบาท การพัฒนาที่ทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างสูงนี้เป็นผลมาจากทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งของนักวิจัย หน่วยประสานงานและหน่วยสนับสนุนงบประมาณ
การพัฒนางานวิจัยให้บรรลุผลสำเร็จได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ประสาน ส่งเสริมและสนับสนุนการการวิจัยทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย การพัฒนาศักยภาพนักวิจัยเพื่อนำไปสู่งานวิจัยที่มีคุณภาพ การแสวงหาแหล่งทุนการสนับสนุนทรัพยากรด้านการวิจัย การสร้างบรรยากาศการวิจัยเพื่อจูงใจให้บุคลากรทำวิจัยมากขึ้นและการส่งเสริมการเผยแพร่ผลงานวิจัยในรูปแบบการบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี และเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2548 สภามหาวิทยาลัยทักษิณได้ประกาศจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนา ขึ้น
การจัดอันดับโดย เว็บโอเมตริกซ์ (Webometrics) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บไซต์ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก โดยบ่งบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของสถาบัน เพื่อใช้ร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ในการประเมินผลงานวิจัยของสถาบัน ซึ่งทางเว็บโอเมตริกซ์ได้จัดอันดับปีละ 2 ครั้งในเดือนมกราคม และกรกฎาคม ล่าสุดเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 มหาวิทยาลัยทักษิณ อยู่ในอันดับที่ 2,772 ของโลก อันดับที่ 99 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับที่ 35 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย