มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เริ่มแรกนั้นได้รับการก่อตั้งในชื่อ “วิทยาลัยไทยเทคนิค” เมื่อปี พ.ศ. 2505 ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยกรุงเทพ” และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2527 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2527 โดยจัดการเรียนการสอนใน 11 คณะ รวมทั้ง วิทยาลัยนานาชาติ และบัณฑิตวิทยาลัย ครอบคลุมสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปัจจุบัน เปิดดำเนินการสอน ใน 2 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท กรุงเทพมหานคร และวิทยาเขตรังสิต จังหวัดปทุมธานี
นีสรมหาวิทยาลัยกรุงเทพถือกำเนิดขึ้น จากการก่อตั้ง "วิทยาลัยไทยเทคนิค" (อังกฤษ: Thai Polytechnic Institute) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยสุรัตน์ และปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ (เจ้าของกิจการกลุ่มโอสถสภา) ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของทั้งสอง ภายในซอยบ้านกล้วยใต้ ริมถนนพระรามที่ 4 (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวิทยาเขตกล้วยน้ำไท) ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นถนนลูกรังอยู่ แต่เป็นย่านค้าขายของเหล่าบรรดานายห้างต่างชาติ รวมถึงท่าเรือสินค้าที่คลองเตยด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ผู้บริหารเปลี่ยนชื่อสถาบันแห่งนี้เสียใหม่เป็น "วิทยาลัยกรุงเทพ" (อังกฤษ: Bangkok College) เนื่องจากชื่อเดิม สร้างความสับสนต่อประชาชนทั่วไป ที่คิดว่าเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษา โดยสมัยแรกๆ กระทรวงศึกษาธิการมิได้รับรอง การจัดการศึกษาของโรงเรียน[ต้องการอ้างอิง] แต่เนื่องจากเป็นวิทยาลัยเอกชนแห่งแรก ที่เปิดสอนในระดับปริญญา ผู้บริหารจึงขอความร่วมมือทางวิชาการ จากมหาวิทยาลัยแฟรลีดิกคินสัน (Fairleigh Dickinson University) สหรัฐอเมริกา ให้เป็นผู้รับรองวิทยฐานะของปริญญา โดยในสมัยนั้น ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยกรุงเทพ จะมีปริญญาสองใบคือ จากวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยแฟรลีดิกคินสันด้วย
ในระยะต่อมา วิทยาลัยกรุงเทพขยายตัวขึ้นเป็นลำดับ ขณะเดียวกัน มีการก่อตั้งวิทยาลัยเอกชน เพิ่มเติมขึ้นอีกหลายแห่ง เช่นวิทยาลัยการค้าหรือวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ส่งผลให้การแข่งขันของสถาบันการศึกษาเอกชนสูงขึ้น ผู้บริหารวิทยาลัยกรุงเทพ จึงวางโครงการขยายการศึกษา เพื่อยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2527 ทบวงมหาวิทยาลัยจึงยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยกรุงเทพ" (พร้อมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย)
มหาวิทยาลัยกรุงเทพมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งการเปิดวิทยาเขตแห่งใหม่ บริเวณย่านรังสิต จังหวัดปทุมธานี ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปตามถนนพหลโยธินเป็นระยะทาง 14 กิโลเมตร ภายในพื้นที่กว่า 400 ไร่ ซึ่งผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมีความคาดหวัง ที่จะสร้างวิทยาเขตรังสิต ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีบรรยากาศ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่ในย่านชานเมือง อาคารเรียนต่างๆ มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ประกอบด้วยสวนหย่อม ซึ่งปลูกต้นไม้ไว้มาก รวมถึงขุดทะเลสาบ แต่เนื่องจากในยุคแรกที่ขยายวิทยาเขตนั้น ย่านรังสิตยังคงห่างไกลจากความเจริญของเมือง นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงพากันขนานนามวิทยาเขตรังสิตว่าเป็น กระท่อมปลายนา
มหาวิทยาลัยกรุงเทพใช้รูปเพชร ประกอบในตราประจำมหาวิทยาลัย มาโดยตลอดตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้ง ซึ่งมีที่มาจากนามของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยคือ สุรัตน์ ซึ่งแปลว่าแก้วอันประเสริฐ ซึ่งก็หมายถึงเพชรนั่นเอง การนำรูปเพชรมาใช้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย จึงเป็นการให้เกียรติและรำลึกถึงผู้ก่อตั้ง นอกจากนั้น เพชรยังสื่อความหมายถึงคุณค่า และความแข็งแกร่ง อุปมาดั่งมหาวิทยาลัย เป็นเสมือนสถานที่ "เจียระไน" ให้นักศึกษากลายเป็นเพชร ซึ่งทรงเกียรติทรงคุณค่า มีความมั่นคงแข็งแกร่ง และเป็นที่ยอมรับของสังคม โดยรูปแบบดั้งเดิมเรียกว่า เพชรในชัยพฤกษ์ ซึ่งเป็นตราที่ประกอบไปด้วยรูปเพชรอยู่ตอนบน เล่มหนังสืออยู่ตอนล่าง และล้อมรอบด้วยช่อชัยพฤกษ์ แต่ปัจจุบัน (ตั้งแต่ปีการศึกษา 2548) มีการออกแบบเพิ่มสีสัน เพื่อให้สื่อความหมายชัดเจนขึ้น เพิ่มความทันสมัยมากขึ้น โดยที่ยังคงใช้รูปเพชรลอยตัวอยู่ในเส้นวงกลม
ที่มาของสีสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยนั้น จากหลักฐานและบันทึกทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย แต่เดิมมหาวิทยาลัยใช้ สีเขียวอมฟ้า เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย ดังจะเห็นได้จาก ปกเสื้อครุยของบัณฑิตรุ่นแรก ๆ ที่เป็นสีเขียวอมฟ้า และจากเพลงมาร์ชของมหาวิทยาลัย ที่ยังคงมีเนื้อร้องว่า ธงเขียวเชิดให้เด่นไกลนานเนาว์ มาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน ได้เปลี่ยนมาใช้ สีม่วง และ สีแสด เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย โดยเปลี่ยนแปลงสีประจำมหาวิทยาลัยนั้น เพื่อเป็นเกียรติกับสองบูรพาจารย์ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย เนื่องจากสีม่วงเป็นสีประจำวันเสาร์ และสีแสดเป็นสีประจำวันพฤหัสบดี
เป็นต้นไม้มงคลที่ใช้ในพิธีการมงคลตามความเชื่อของคนไทย นำมาใช้เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้นชัยพฤกษ์ ณ บริเวณด้านหน้าอาคารฝั่งทิศใต้ ของอาคารหอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ นับเป็นพระกรุณาธิคุณและเป็นมิ่งขวัญของชาวมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ต้นชัยพฤกษ์แห่งมิ่งมงคลนี้ จะหยั่งรากลึกลงในหัวใจของชาวมหาวิทยาลัยกรุงเทพสืบต่อไป
เพลงประจำมหาวิทยาลัย ที่ใช้ในพิธีการและโอกาสต่างๆ นั้น มีทั้งเพลงมาร์ช และเพลงความรู้คู่ความดี เป็นเพลงที่ใช้มาตั้งแต่มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ลักษณะคำร้อง ทำนอง และแนวดนตรี จึงเป็นไปในลักษณะย้อนยุค
ครุย เป็นเครื่องแต่งกายแสดงวิทยฐานะของผู้สวมใส่ และแสดงความเป็นบัณฑิตแห่งสถาบัน ใช้สำหรับในพิธีการสำคัญของมหาวิทยาลัย เช่น พิธีไหว้ครู พิธีประสาทปริญญาบัตร เป็นต้น ชุดครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ใช้รูปแบบเสื้อคลุมแบบยุโรปสมัยกลาง โดยเป็นเสือคลุมยาวคลุมเข่า สีดำ สำหรับบัณฑิตระดับปริญญาโทขึ้นไปมีแถบกำมะหยี่สีดำที่สาบเสื้อและแขนเสื้อทั้งสอง
ปกเสื้อครุย เป็นผ้าสามเหลี่ยมที่คล้องคอโดยให้ชายปกห้อยไปทางด้านหลัง ปกเสื้อครุยจะเป็นผ้ากำมะหยี่สีต่างๆ ขลิบด้วยสีส้มซึ่งเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย โดยปกเสื้อครุยจะมีสีสันที่ต่างกันไปตามสีของคณะ ซึ่งมีสีและความหมายดังนี้
ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 119 ซอยสุขุมวิท 40 (ซอยบ้านกล้วยใต้) แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ 25 ไร่ 3 งาน 49 ตารางวา เป็นสถานที่เรียนของนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 ภาคปกติ นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติทุกชั้นปี นักศึกษาปริญญาโทและเอก และนักศึกษาภาคพิเศษ สถานที่ทำการของสำนักงานอธิการบดี วิทยาลัยนานาชาติ บัณฑิตวิทยาลัย คณะวิชาต่างๆ ห้องปฏิบัติการ ห้องเรียน ห้องสัมมนา สำนักหอสมุด ศูนย์คอมพิวเตอร์ศูนย์กีฬาในร่มและหน่วยงานบริการอื่นๆ
ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 9/1 หมู่ 5 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ 14 กิโลเมตร มีพื้นที่ 441 ไร่ 1งาน 67 ตารางวา เป็นสถานที่ศึกษาของนักศึกษาในระดับปริญญาตรีภาคปกติทุกคณะ ทุกชั้นปี นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ตั้งของสนามกีฬา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ และพิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยเครื่องถ้วยโบราณที่สำคัญและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วิทยาเขตรังสิต ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14001 ทั้งระบบจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งนับเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 14001 ทั้งระบบ
มหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์กับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ทั่วโลกเป็นอย่างดี นำมาซึ่งความร่วมมือและการสนับสนุนทางด้านวิชาการรวมทั้งด้านวัฒนธรรมในโครงการต่างๆ เช่น โครงการแลกเปลี่ยนคณาจารย์และนักศึกษา โครงการศึกษาดูงาน ตลอดจนการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านการบริหารมหาวิทยาลัยระหว่างผู้บริหารระดับสูงมหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ที่ได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมอธิการบดีระหว่างประเทศ (International of University Presidents IAUP) ซึ่งในปี 2527 ดร.เจริญ คันธวงศ์ อธิการบดีกิตติคุณ ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการ และดร.ธนู กุลชล อธิการบดีได้รับเลือกเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 3 ปี
ในปี พ.ศ. 2549 ดร.ธนู กุลชล เป็นอธิการบดีเพียงคนเดียวจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการสัมมนาในหัวข้อเรื่อง The Social Benefits of the Research University of in the 21st Century ซึ่งจัดขึ้นโดยเลขาธิการสหประชาชาติ ฯพณฯ โคฟี อันนัน ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2550 ดร.มัทนา สานติวัตร อธิการบดี ได้รับเชิญจาก ฯพณฯ บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ เข้าร่วมสัมมนา The Secretary-General's Global Colloquium of University Presidents ในหัวข้อ Global Climate Change ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ในด้านการพัฒนาคุณภาพเกี่ยวกับการเรียนการสอนและบุคลากร หรืออาจารย์ผู้สอน มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนในด้านวิชาการจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงดีเด่นของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ อาทิ
การจัดอันดับโดย เว็บโอเมตริกซ์ (Webometrics) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บไซต์ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก โดยบ่งบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของสถาบัน เพื่อใช้ร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ในการประเมินผลงานวิจัยของสถาบัน ซึ่งทางเว็บโอเมตริกซ์ได้จัดอันดับปีละ 2 ครั้งในเดือนมกราคม และกรกฎาคม ล่าสุดเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 25578 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อยู่ในอันดับที่ 3,115 ของโลก อันดับที่ 71 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับที่ 36 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ล่าสุด
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดให้มีการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร โดยมีการกำหนดเป็นหัวข้อกิจกรรมต่างๆ เป็น 2 ลักษณะ ลักษณะแรก เป็นกิจกรรมเชิงบังคับ และลักษณะที่สอง เป็นกิจกรรมที่สามารถเลือกทำได้ ซึ่งนักศึกษาจะต้องบันทึกกิจกรรมต่างๆ ที่ทำลงในสมุดบันทึกกิจกรรม หรือ Electronic Diamond Book ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญว่านักศึกษาได้เรียนรู้กิจกรรมนอกหลักสูตร และได้รับการรับรองจากมหาวิทยาลัยว่าตนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ อันมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนานักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์เปี่ยมด้วยความรู้คู่ความดี ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข
นักศึกษาทุกหลักสูตรปริญญาตรี ต้องทำกิจกรรมให้ครบทั้งหมด โดย 4 ปีภาคปกติจะต้องมีจำนวนกิจกรรมที่กำหนดไม่น้อยกว่า 16 กิจกรรม ปีละไม่ต่ำกว่า 50 ชั่วโมง ครบ 8 หมวด และ 3 กิจกรรมบังคับ ส่วนการได้รับทรานสคริปและเกียรติบัตรแสดงการเข้าร่วมทำกิจกรรม ภาคปกติจะต้องมีจำนวนกิจกรรมที่กำหนดไม่น้อยกว่า 32 กิจกรรม ปีละไม่ต่ำกว่า 50 ชั่วโมง ครบ 8 หมวด และ 3 กิจกรรมบังคับ และภาคพิเศษต้องมีจำนวนกิจกรรมที่กำหนดไม่น้อยกว่า 8 กิจกรรม ครบ 8 หมวด และ 1 กิจกรรมบังคับ (ชมหอศิลป์) ส่วนการได้รับทรานสคริปและเกียรติบัตรแสดงการเข้าร่วมทำกิจกรรม ภาคปกติจะต้องมีจำนวนกิจกรรมที่กำหนดไม่น้อยกว่า 16 กิจกรรม ครบ 8 หมวด และ 1 กิจกรรมบังคับ (ชมหอศิลป์) จึงจะถือว่าทำกิจกรรมนอกหลักสูตรและได้รับประสบการณ์เพื่อพัฒนาตนเองสมคุณค่าแห่งการเป็นบัณฑิต
มหาวิทยาลัยกรุงเทพจัดให้มีพิธีปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่เป็นประจำทุกปี โดยเป็นการปฐมนิเทศรวมทั้งมหาวิทยาลัย ท่านอธิการบดี คณะผู้บริหาร คณบดี คณาจารย์ ให้เกียรติเข้าร่วมในพิธีดังกล่าวเป็นประจำทุกปี ซึ่งในงานจะมีพิธีบายสีสู่ขวัญ และการแสดงจากพี่จากคณะและชมรมต่างๆ คอนเสิร์ตจากศิลปินดารา เพื่อเป็นการต้อนรับน้องใหม่ ในแต่ละปีจะมีชื่องานที่แตกต่างกันไป เช่น
Sport Day เป็นการแข่งขันกีฬาภายในของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งจัดโดยสโมสรนักศึกษาภาคปกติ เป็นการแข่งขันกีฬาระหว่างนักศึกษาคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่สนามกีฬาสุรี บูรณธนิต และสนามกีฬาภายใน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีการจัดประเพณีลอยกระทงเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทย ในงานจะมีการประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ ประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง การออกร้านขายของของคณะ และชมรมต่างๆ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยเขตรังสิต