มงกุฎพระสันตะปาปา หรือ มงกุฎสามชั้น (อังกฤษ: Papal Tiara หรือ Triple Tiara, ละติน: Triregnum, อิตาลี: Trir?gne, ฝรั่งเศส: Trir?gne) เป็นมงกุฎที่มีอัญมณีตกแต่งสามชั้นที่เป็นมงกุฎประจำตำแหน่งพระสันตะปาปา ที่ว่ากันว่ามีรากฐานมาจากสมัยไบแซนไทน์และเปอร์เซีย ตราอาร์มของพระสันตะปาปามีรูปมงกุฎมาตั้งแต่สมัยโบราณ พร้อมด้วยกุญแจนักบุญซีโมนเปโตร
พระสันตะปาปาแห่งโรมและอาวีญงสวมมงกุฎมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 5 (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1314) มาจนถึงสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ผู้ทรงทำพิธีราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระสันตะปาในปี ค.ศ. 1963 พระองค์ทรงเลิกใช้มงกุฎพระสันตะปาปาหลังจากสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง โดยทรงทำการวางมงกุฎลงบนแท่นบูชาในมหาวิหารนักบุญเปโตรอย่างเป็นทางการ และทรงอุทิศเงินเท่ากับมูลค่าของมงกุฎให้แก่คนยากจน แต่ใน “ธรรมนูญการเลือกตั้งพระสันตะปาปาต่อจากพระสันตะปาปาปอลที่ 6” (Romano Pontifici Eligendo) ของธรรมนูญพระสันตะปาปาของปี ค.ศ. 1975 ก็ยังกล่าวถึงผู้ดำรงตำแหน่งต่อจากสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ว่าจะได้รับการสวมมงกุฎ
แต่สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 1 ผู้ดำรงตำแหน่งต่อมาทรงตัดสินพระทัยที่จะไม่ทรงทำการราชาภิเษก และทรงทำพิธีที่เรียกว่า “พิธีรับตำแหน่งพระสันตะปาปา” (Papal Inauguration) แทนที่ หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันแล้วสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ก็ทรงประกาศต่อผู้เข้าร่วมพิธีรับตำแหน่งของพระองค์ว่า:
พระสันตะปาปาพระองค์สุดท้ายที่ได้รับการสวมมงกุฎคือสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ในปี ค.ศ. 1963 แต่หลังจากที่ได้ทรงทำพิธีแล้วพระองค์ก็ไม่ทรงได้ใช้มงกุฎอีกเลย และทรงเปิดโอกาสให้ผู้ครองตำแหน่งต่อจากพระองค์ตัดสินใจในกรณีนี้ด้วยตนเอง สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 1 ผู้ที่เรายังคงระลึกถึงในหัวใจของเรา ไม่มีพระประสงค์ที่จะมีมงกุฎ และผู้สืบตำแหน่งต่อจากพระองค์ในวันนี้ก็เช่นเดียวกัน ในเวลานี้มิใช่เป็นเวลาที่ควรจะหวนกลับไปหาพิธี และ วัตถุที่ถือว่ากันอย่างผิดผิดว่าเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจของพระสันตะปาปา ในเวลานี้เป็นเวลาที่เราควรจะหันไปเข้าหาพระเป็นเจ้าและปวารณาตนเอง และ อุทิศตนเองให้แก่การใคร่ครวญถึงความอำนาจอันยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใดของพระเยซูคริสต์เอง
แม้ว่าพระสันตะปาปาจะเลิกสวมมงกุฎประจำตำแหน่งไปแล้ว แต่มงกุฎพระสันตะปาปาก็ยังคงใช้เป็นสัญลักษณ์ของตำแหน่งบนธงและตราอาร์มของสันตะสำนักและนครรัฐวาติกัน จนกระทั่งเมื่อมาถึงสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 มงกุฎพระสันตะปาปาก็ยังคงใช้เป็นสิ่งตกแต่งส่วนหนึ่งของตราประจำพระองค์ของพระสันตะปาปา (กฎของ[[สันตะสำนัก]ของปี ค.ศ. 1969 ระบุห้ามใช้หมวกสูงในตราอาร์ม) แต่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ทรงละเมิดธรรมเนียมดังกล่าวโดยทรงใช้ หมวกสูงบนตราอาร์มส่วนพระองค์แทนที่มงกุฎพระสันตะปาปา หมวกสูงที่ทรงใช้มีสามชั้นตามแบบมงกุฎพระสันตะปาปาสามชั้นที่ใช้กันมาแต่ก่อน แต่บนตราอาร์มของสันตะสำนักและของนครรัฐวาติกันสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ทรงตัดสินพระทัยใช้มงกุฎพระสันตะปาปาสามชั้นตามธรรมเนียมที่เป็นมา
จากหนังสือของเจมส์-ชาร์ลส์ นูนัน และ บรูโน ไฮม์ ระดับล่างสุดของมงกุฎของหมวกพระสันตะปาปาที่ตามธรรมเนียมแล้วเป็นสีขาวเริ่มใช้เป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 9 เมื่อพระสันตะปาปาทรงรับตำแหน่งเป็นผู้นำของรัฐพระสันตะปาปา ฐานมงกุฎก็ได้รับการตกแต่งด้วยอัญมณีให้คล้ายกับมงกุฎของเจ้า และสันนิษฐานต่อไปว่าระดับสองได้รับการเพิ่มเติมโดยสมเด็จพระสันตะปาปาโบนิเฟสที่ 8 ในปี ค.ศ. 1298 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอาณาจักรศาสนา หลังจากนั้นไม่นานนักก็ได้มีการเพิ่มระดับที่สามและแถบผ้าสองชาย (lappet) ในปี ค.ศ. 1314 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 5 ผู้เป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่ทรงสวมมงกุฎสามชั้น
แต่จิตรกรรมฝาผนังในชาเปลเซนต์ซิลเวสเตอร์ (เสก ค.ศ. 1247) ภายในโบสถ์ซันตีกวัตโตร โกโรนาตี (Santi Quattro Coronati) ในกรุงโรมมีภาพพระสันตะปาปาทรงมงกุฎสองชั้นที่มีแถบผ้าสองชาย
อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่ามงกุฎเริ่มมาจาก “หมวกทอร์ค” (Toque) เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1130 ก็ได้มีการเพิ่มมงกุฎเข้าไป เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นประมุขของรัฐพระสันตะปาปา ในปี ค.ศ. 1301 สมเด็จพระสันตะปาปาโบนิเฟสที่ 8 ก็ทรงเพิ่มมงกุฎที่สองในช่วงที่ต้องทรงมีความขัดแย้งกับพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส เพื่อทรงแสดงถึงความมีอำนาจทางศาสนาที่ถือว่าเหนืออำนาจทางอาณาจักร ในปี ค.ศ. 1342 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 12 ทรงเพิ่มมงกุฎที่สามขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางจริยธรรมเหนืออำนาจของพระมหากษัตริย์ของอาณาจักรทั้งปวง และเป็นกันยืนยันรับรองความเป็นเจ้าของอาวีญง
สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ทรงเข้าพิธีราชาภิเษกสวมมงกุฎเป็นพระสันตะปาปาเช่นเดียวกับพระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้านั้นทั้งหมด มงกุฎของพระองค์เป็นมงกุฎที่สร้างถวายโดยเมืองมิลานซึ่งเป็นเมืองที่พระองค์เคยทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระคาร์ดินัล และต่อมาเป็นบิชอปก่อนที่จะทรงได้รับเลือกให้เป็นสมเด็จพระสันตะปาปา มงกุฎที่ว่านี้แตกต่างจากมงกุฎอื่นๆ ก่อนหน้านั้นตรงที่ไม่ได้ตกแต่งเต็มที่ด้วยอัญมณีอันมีค่า และเป็นทรงกรวยแหลม และมีน้ำหนักเบากว่ามงกุฎที่ใช้กันมาก่อนหน้านั้น
ในตอนปลายของช่วงที่สองของสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1963 สมเด็จพระสันตะปาปาปอลทรงดำเนินลงจากบัลลังก์ในมหาวิหารนักบุญเปโตร และทรงวางมงกุฎลงบนแท่นบูชาในท่าที่ทรงแสดงความถ่อมพระองค์ และการสละอำนาจและความรุ่งโรจน์ทางโลกเพื่อให้เหมาะสมกับบรรยากาศของความเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ/ปรัชญาของสภาที่ประชุม หลังจากนั้นก็ไม่มีพระสันตะปาปาองค์ใดที่ทำการสวมมงกุฎอีก
มงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ได้รับการมอบให้แก่มหาวิหารสักการสถานแห่งชาติการปฏิสนธินิรมล (Basilica of the National Shrine of the Immaculate Conception) ในวอชิงตัน ดี.ซี. โดยผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปาแห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1968 เพื่อเป็นเครื่องแสดงถึงมิตรภาพของพระองค์ที่มีต่อคริสตจักรโรมันคาทอลิกในสหรัฐอเมริกา มงกุฎตั้งแสดงอย่างถาวรอยู่ที่หออนุสรณ์ (Memorial Hall) พร้อมด้วยแถบผ้าคล้องคอ (Stole) ที่สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 ทรงใช้เมื่อทรงทำการเปิดสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง
การตัดสินใจเลิกใช้มงกุฎซึ่งเป็นสัญลักษณ์อันสูงสุดของสถาบันพระสันตะปาปาของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความขัดแย้งเป็นอันมากในกลุ่มอนุรักษนิยมโรมันคาทอลิกบางกลุ่ม ที่ดำเนินการเรียกร้องให้นำกลับมาใช้อีก บางคนถึงกับกล่าวหาพระองค์ว่าเป็นพระสันตะปาปาเท็จ โดยกล่าวว่าไม่มีพระสันตะปาปาที่ถูกต้องพระองค์ใดที่จะยอมสละการใช้มงกุฎพระสันตะปาปา
ในบรรดาพระสันตะปาปาเท็จของลัทธิเซเดวาคันท์ (Sedevacantism) ก็มีเคลเมนเต โดมิงเกซ อี โกเมซที่ทำพิธีราชาภิเษกโดยสวมมงกุฎ ซึ่งเป็นการแสดงการใช้มงกุฎในการแสดงอำนาจ ขณะที่อีกผู้หนึ่งลูเซียน พุลเวอร์มาร์เคอร์ผู้ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาไพอัสที่ 13 ในปี ค.ศ. 1998 ใช้มงกุฎในตราอาร์ม
สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 1 ทรงเป็นผู้ยุติประเพณีการราชาภิเษกและการสวมมงกุฎพระสันตะปาปาที่ทำกันมานานถึง 1000 ปี พระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะไม่ทรงเอาผลประโยชน์จาก “ธรรมนูญการเลือกตั้งพระสันตะปาปาต่อจากพระสันตะปาปาปอลที่ 6” (Romano Pontifici Eligendo) ของธรรมนูญพระสันตะปาปาของปี ค.ศ. 1975 ที่ระบุเกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งต่อจากสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ว่า: “ขั้นตอนสุดท้าย, พระสันตะปาปาก็จะได้รับการสวมมงกุฎโดยพระคาร์ดินัลโปรโตดีกัน และในเวลาอันเหมาะสม ก็จะทรงได้รับอำนาจในการเป็นเจ้าของมหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรันตามประเพณีที่ได้ปฏิบัติกันมา” ต่อข้อความเกี่ยวกับพิธีราชาภิเษกดังกล่าวสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงกล่าวว่าทั้งพระองค์เองและพระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้านั้นต่างก็ไม่มีความประสงค์ที่จะเข้าพิธีราชาภิเษกหรือสวมมงกุฎ
ใน “ธรรมนูญการเลือกตั้งพระสันตะปาปาโดยพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2” (Universi Dominici Gregis) ของปี ค.ศ. 1996 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมนูญพระสันตะปาปา พระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงปรับปรุงแก้ไขกฎที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งพระสันตะปาปา และทรงถอดข้อความที่เกี่ยวกับพิธีราชาภิเษกพระสันตะปาปา (coronation) ออกทั้งหมด และแทนที่ด้วย “พิธีรับตำแหน่ง” (inauguration) เป็น: “หลังจากพิธีรับตำแหน่งของพระสันตะปาปา และในเวลาอันเหมาะสม พระสันตะปาปาก็จะทรงได้รับอำนาจในการเป็นเจ้าของมหาวิหารนักบุญยอห์นลาเตรัน ตามประเพณีที่ได้ปฏิบัติกันมา”
คำบรรยายนี้ก็เช่นเดียวกับเอกสารของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ถ้อยคำที่ใช้เป็นคำบรรยายที่ไม่ใช่คำกำหนด นอกจากนั้นแล้วก็ยังมิได้ทรงวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะของ “พิธีรับตำแหน่งของพระสันตะปาปา” ที่อาจจะยังคงเป็นไปในรูปของพิธีราชาภิเษกก็ได้ แต่จะอย่างไรก็ตามพระสันตะปาปาองค์ใหม่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่วางไว้พระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้านั้น และทรงมีเสรีภาพที่เปลี่ยนแปลงได้ตามพระประสงค์ของพระองค์
ของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงดำเนินตามนโยบายในการใช้สัญลักษณ์ของมงกุฎในตราทางการของสถาบันพระสันตะปาปา มงกุฎพระสันตะปาปายังคงใช้บนตราอาร์มของพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 1 และ พระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ผู้ไม่ได้ทรงเคยใช้มงกุฎจริง แต่พระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงอนุมัติให้ใช้ตราอาร์มของพระองค์ที่ไม่มีมงกุฎในตอนปลายสมัยการเป็นพระสันตะปาปาของพระองค์ เช่นเดียวกับพื้นโมเสกตรงทางเข้ามหาวิหารนักบุญเปโตรได้รับการเปลี่ยนจากภาพมงกุฎพระสันตะปาปามาเป็นหมวกสูง และตราอาร์มของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ก็ทรงใช้ภาพหมวกสูงแทนมงกุฎพระสันตะปาปา: “สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงตัดสินพระทัยไม่ใช้มงกุฎบนตราอาร์มส่วนพระองค์ พระองค์ทรงใช้หมวกสูงแทนที่ซึ่งไม่มียอดเป็นลูกโลกประดับกางเขน เช่น มงกุฎ”
แต่ละปีก็จะมีการนำมงกุฎพระสันตะปาปาไปวางบนพระเศียรของรูปปั้นสัมริดของนักบุญเปโตรในมหาวิหารนักบุญเปโตรตั้งแต่ธรรมาสน์นักบุญเปโตร (Chair of Saint Peter) ที่ตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์จนกระทั่งถึงวันฉลองนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลในวันที่ 29 มิถุนายน แม้ว่าประเพณีจะไม่ได้ทำกันใน ค.ศ. 2006 แต่ก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 2007
แม้ว่าการกล่าวถึงมงกุฎพระสันตะปาปาจะฟังดูแล้วเหมือนกับกล่าวถึงมงกุฎเดียวโดยเฉพาะ แต่อันที่จริงแล้วมงกุฎพระสันตะปาปามีด้วยกันหลายองค์ ในปัจจุบันมีด้วยกันทั้งสิ้น 22 องค์ มงกุฎพระสันตะปาปารุ่นแรกๆ (โดยเฉพาะมงกุฎของ[[สมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ]] และมงกุฎที่กล่าวกันว่าเป็นของสมเด็จพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ที่ 1) ถูกทำลายถอดเป็นชิ้นๆ หรือถูกยึดไปโดยผู้รุกราน ที่สำคัญคือโดยกองทัพของ หลุยส์ อเล็กซานเดอร์ แบร์ทิเยร์ (Louis Alexandre Berthier) ในปี ค.ศ. 1798 หรือโดยพระสันตะปาปาเอง เช่นเมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7 ทรงมีโองการให้นำเอามงกุฎ และเครื่องยศต่างๆ ของพระสันตะปาปาทั้งหมดมาหลอมในปี ค.ศ. 1527 เพื่อรวบรวมเงิน 400,000 ดูคัตเมื่อจ่ายเป็นค่าไถ่จากกองทัพของจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่มาล้อม มงกุฎเงินมีด้วยกันกว่ายี่สิบมงกุฎๆ ที่เก่าที่สุดสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1798 สำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1800 เมื่อโรมถูกยึดครองโดยฝรั่งเศสสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 7 ก็ทรงได้รับการสวมมงกุฎนอกอาณาจักรที่เวนิสด้วยมงกุฎที่ทำด้วยกระดาษประดับด้วยอัญมณีที่อุทิศโดยสตรีชาวเวนิส
มงกุฎหลายมงกุฎเป็นมงกุฎที่ได้รับการอุทิศให้แก่พระสันตะปาปาโดยประมุขหรือผู้นำของอาณาจักร รวมทั้งจากสมเด็จพระราชินีนาถอีซาเบลลาที่ 2 แห่งสเปน สมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 1 แห่งเยอรมนี จักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟที่ 1 แห่งออสเตรีย และจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 มงกุฎหลังสร้างจากวัสดุที่มาจากมงกุฎพระสันตะปาปาเดิมที่ถูกทำหลายหลังจากโรมถูกยึด และมอบให้แก่สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 7 เนื่องในโอกาสการเสกสมรสของพระองค์กับโฌเซฟีน เดอ โบอาร์เนส์ เมื่อค่ำวันก่อนที่จะทรงทำพระราชพิธีราชาภิเษก มงกุฎอื่นเป็นของขวัญจากมุขมณฑลเดิมก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา
ในบางกรณีก็จะมีการแข่งขันกันในด้านมูลค่าและขนาดของมงกุฎที่ถวายพระสันตะปาปาระหว่างเมืองต่าง ๆ ตัวอย่างเช่นมงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 13 และ ของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6
พระสันตะปาปาไม่ทรงจำกัดว่าจะต้องทรงมงกุฎใดมงกุฎหนึ่งเช่นในกรณีของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 13 บางโอกาสพระองค์ก็ทรงมงกุฎที่ทรงได้รับในปี ค.ศ. 1959 หรือบางครั้งก็ทรงมงกุฎที่สร้างสำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 ในปี ค.ศ. 1877 หรือสำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 ในปี ค.ศ. 1922
มงกุฎพระสันตะปาปาที่ยังคงมีอยู่ตั้งแสดงอยู่ที่วาติกัน แต่บางมงกุฎก็ถูกขายไปเพื่อหาเงินให้แก่องค์การโรมันคาทอลิก บางมงกุฎก็เป็นที่นิยมหรือมีความสำคัญกว่ามงกุฎอื่น เช่นมงกุฎเบลเยียมที่สร้างในปี ค.ศ. 1871 หรือมงกุฎที่สร้างในปี ค.ศ. 1877 หรือมงกุฎทองที่สร้างในปี ค.ศ. 1903 มงกุฎทั้งสามนี้ถูกส่งไปรอบโลกที่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงประวัติของสิ่งของที่เป็นของวาติกัน หรือมงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ได้รับการอุทิศให้แก่มหาวิหารสักการสถานแห่งชาติการปฏิสนธินิรมล ในสหรัฐอเมริกาเป็นต้น
มงกุฎพระสันตะปาปาที่ยังเหลือให้เห็นอยู่จะเป็นทรงกลมแบบกรวยป้านเหมือนรังผึ้ง ตรงกลางทำด้วยเงิน มงกุฎบางองค์ก็เป็นกรวยค่อนข้างแหลม และมงกุฎบางองค์ก็เป็นทรงสาลี่ มงกุฎส่วนใหญ่แล้วยกเว้นแต่ของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 จะตกแต่งเต็มที่ด้วยอัญมณีอันมีค่า และจะมีลักษณะเป็นสามชั้นแต่ละชั้นคาดด้วยทอง บางครั้งก็จะเป็นรูปกางเขน บางครั้งก็จะเป็นใบไม้ แต่ยอดจะเป็นกางเขนบนเหนือลูกโลก (กางเขนประดับลูกโลก) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจของพระเยซูเหนือโลกทั้งหมด
มงกุฎแต่ละองค์ก็จะมีแถบสองชาย (ชายหมวก (lappet)) ห้อยลงมาทางด้านหลังที่ปักตกแต่งด้วยด้ายทอง เป็นตราประจำพระองค์หรือสัญลักษณ์ของพระสันตะปาปาผู้เป็นเจ้าของมงกุฎ
มงกุฎองค์ที่แปลกที่สุดคือมงกุฎที่ทำด้วยกระดาษ (papier-m?ch?) แปะเป็นรูปมงกุฎสำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 7 เมื่อทรงต้องทำพิธีราชาภิเษกในขณะที่ทรงลี้ภัย และมงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ที่เป็นทรงลูกปืนและไม่ตกแต่งด้วยอัญมณีมากเท่าใดนัก และแทนที่จะเป็นมงกุฎสามอันซ้อนกันแต่ละระดับก็คาดเป็นเครื่องหมายแทนที่
มงกุฎที่ถวายแก่สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 ในปี ค.ศ. 1877 โดยทหารรักษาพระองค์ของวาติกัน (Palatine Guard) เนื่องในโอกาสครบรอบจูบิลีมีลักษณะคล้ายคลึงเป็นอันมากกับมงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 16 และเป็นมงกุฎที่เป็นที่นิยมใช้โดยพระสันตะปาปาหลายพระองค์ที่รวมทั้งสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11, สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 และ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23
นอกไปจากมงกุฎกระดาษแล้วมงกุฎที่เบาที่สุดเป็นมงกุฎที่สร้างสำหรับพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 ในปี ค.ศ. 1959 ที่หนัก 910 กรัม เช่นเดียวกับมงกุฎของพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 ที่สร้างในปี ค.ศ. 1922 แต่มงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 กลับหนักถึง 4.5 กิโลกรัม มงกุฎที่หนักที่สุดเป็นมงกุฎที่สร้างในปี ค.ศ. 1804 ที่ถวายให้แก่พระสันตะปาปาโดยจักรพรรดินโปเลียนในโอกาสการฉลองวันเสกสมรสและวันที่เป็นพระจักรพรรดิ ที่หนักถึง 8.2 กิโลกรัม แต่ก็เป็นมงกุฎที่ไม่ได้ใช้ เพราะขนาดของมงกุฎว่ากันว่าจงใจสร้างให้เล็กกว่าพระเศียรของพระสันตะปาปาปิอุสที่ 7
พระสันตะปาปาหลายพระองค์ทรงสร้างมงกุฎใหม่สำหรับพระองค์เอง อาจจะมาจากสาเหตุหลายอย่างที่รวมทั้งเล็กไป, ใหญ่ไป หรือทั้งสองอย่าง หรือแทนที่จะใช้มงกุฎกระดาษสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 16 ทรงสั่งให้สร้างมงกุฎน้ำหนักเบาขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1840 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 มีอายุได้แปดสิบในคริสต์ทศวรรษ 1870 พระองค์ทรงรู้สึกว่ามงกุฎอื่นๆ ที่ทรงสวมน้ำหนักหนักเกินไป และมงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 16 ก็มีขนาดเล็กไป พระองค์จึงทรงมีโองการให้สร้างมงกุฎใหม่ที่เบากว่า ในปี ค.ศ. 1908 สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 10 ก็ทรงมีโองการให้สร้างมงกุฎใหม่ที่เบาอีกองค์หนึ่ง
วิธีการสร้างมงกุฎในคริสศตวรรษที่ 20 สามารถทุ่นน้ำหนักของมงกุฎได้มากขึ้นกว่าเดิมเช่นมงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 และ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 13 ที่มีน้ำหนักเพียง 900 กรัมเท่านั้น
ความหมายของมงกุฎสามชั้นไม่ทราบอย่างเป็นที่แน่นอน เพราะมีการตีความหมายกันไปหลายแบบ และยังคงมีการเสนอทฤษฎีใหม่ๆ แม้ในปัจจุบัน บางทฤษฎีก็กล่าวว่าหมายถึงอำนาจสามอย่างของพระสันตะปาปา ที่ตอนบนสุดแสดงถึงอำนาจของการเป็นผู้อภิบาลสากล (Universal Pastor) ระดับสองหมายถึงอำนาจสูงสุดของการเป็นประมุขทางศาสนา (Universal Ecclesiastical Jurisdiction) และระดับล่างสุดคืออำนาจสูงสุดในโลกมนุษย์ (Temporal Power) ความหมายอื่นที่มีผู้เสนอคือทรงเป็น ประมุขหรือบิดาเหนือเจ้าและพระมหากษัตริย์ทั้งหลาย ประมุขของโลก และนักบวชผู้แทนของพระมหาไถ่ (พระเยซู) เมื่อพระสันตะปาปาทำพิธีสวมมงกุฎก็จะมีการอ่านบทว่า:
บางทฤษฎีก็ว่าเกี่ยวข้องกับหน้าที่สามอย่างของพระเยซูผู้ทรงเป็นปุโรหิต ผู้เผยพระวจนะ และกษัตริย์ ซึ่งเป็นการตีความหมายโดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ในพิธีรับตำแหน่งของพระองค์ หรือพระเยซูทรงเป็น “อาจารย์ ผู้วางกฎ และผู้พิพากษา” หรือความหมายตามธรรมเนียมของมงกุฎสามชั้นที่ตีกันมาก็จะหมายถึง “ความเด็ดขาดของคริสตจักรในโลก”, “ความทรมานหลังจากการตายก่อนที่จะขึ้นสวรรค์” และ “ชัยชนะของคริสตจักรที่จะได้รับตลอดไป” หรือความหมายของอาร์ชบิชอปคอร์เดโร ลันซา ดี มอนเตเซโมโล ผู้ออกแบบตราอาร์มปราศจากมงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ที่ว่า “ระเบียบแบบแผน, การปกครอง และ การตัดสิน” (order, jurisdiction and magisterum) หรืออีกความหมายหนึ่งก็ว่าเป็นสัญลักษณ์ของโลกสามโลก “สวรรค์, มนุษย์ และ โลกมนุษย์” (celestial, human and terrestrial worlds) ลอร์ดทไวนิงเสนอว่าการมีมงกุฎสามชั้นก็เหมือนกับพิธีราชภิเษกของจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องทรงทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเยอรมนี และอิตาลี และจักรพรรดิแห่งชาวโรมัน ฉะนั้นพระสันตะปาปาก็จะต้องเน้นความมีอำนาจทางศาสนาให้เท่าเทียมกับจักรพรรดิโดยใช้มงกุฎสามชั้น
ความขัดแย้งเกี่ยวกับมงกุฎพระสันตะปาปาเกี่ยวข้องกับคริสตจักรเซเวนเดย์แอดเวนติสต์และนิกายโปรเตสแตนต์อื่น ๆ เกี่ยวกับคำว่า “Vicarius Filii Dei” (ผู้แทนพระบุตรของพระเป็นเจ้า) ที่จารึกบนมงกุฎ วลีนี้สามารถถอดเป็นตัวเลขได้ (หรืออ้างว่าตัวอักษรแต่ละตัวมีค่าเท่ากับเลขโรมัน) ที่เมื่อรวมกันแล้วก็จะเป็น “666” ที่ตามพระธรรมวิวรณ์ คือตัวเลขสัญลักษณ์ของสัตว์เดรัจฉาน (Number of the Beast) ซึ่งทำให้มีการอ้างว่ากันการที่ประมุขของคริสตจักรโรมันคาทอลิกสวมมงกุฎนี้ก็เท่ากับว่าเป็นพระสันตะปาปาเท็จ (Antichrist)
แต่อันที่จริงแล้ว “Vicarius Filii Dei” ไม่เคยเป็นหนึ่งในตำแหน่งของพระสันตะปาปา{31} แม้ว่า “จักรพรรดิคอนแสตนตินอุทิศดินแดน” (Donation of Constantine - เอกสารปลอมจากยุคกลางที่ใช้ชื่อจักรพรรดิในการยอมรับอำนาจในการเป็นประมุขของพระสันตะปาปา) จะใช้วลีนี้ในการกล่าวถึงนักบุญเปโตรโดยตรง
แหล่งข้อมูลสี่แหล่งสนับสนุนข้ออ้างที่ว่านี้ รวมทั้งพยานอีกสองคนที่อ้างว่าได้เห็นสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 16 สวมมงกุฎที่มีคำว่า “Vicarius Filii Dei” อยู่บนมงกุฎในปี ค.ศ. 1832 และ ค.ศ. 1845 นอกจากนั้นก็ยังมีรูปจากต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ของงานพระศพของพระสันตะปาปาที่อ้างว่ามีรูปมงกุฎที่มีคำจารึกดังกล่าว และกล่าวว่ามงกุฎที่ว่านี้ใช้ในการราชาภิเษกยูเจนิโอ พาเชลลิเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 ในปี ค.ศ. 1939
คำกล่าวอ้างที่คล้ายคลึงกันกล่าวว่าคำว่า “Mysterium” กล่าวว่าปรากฏบนมงกุฎพระสันตะปาปามาจนกระทั่งถึงการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ กล่าวกันว่าคำว่า “Mysterium” รวมแล้วเป็นเลข “666” ที่หมายถึง “Harlot of Babylon” ที่ตาม “พระธรรมวิวรณ์ 17:5” เป็นคำจารึกบนหน้าผากของฮาร์ลอท
พิธีมิสซาที่มหาวิหารนักบุญเปโตรเมื่อคริสต์ทศวรรษ 1960 บนแท่นบูชาจะมีทั้งหมวกสูงและมงกุฎพระสันตะปาปา]] มงกุฎสามชั้นจะเป็นมงกุฎที่ไม่ใช้ทำพิธีทางศาสนาเช่นในพิธีศีลมหาสนิท ในโอกาสนั้นพระสันตะปาปาก็เช่นเดียวกับบิชอปองค์อื่นๆ ก็จะใช้หมวกสูงแทนที่ และจะทรงใช้มงกุฎในโอกาสการเดินแห่ และระหว่างพิธีก็อาจจะวางมงกุฎและหมวกบนแท่นบูชาระหว่างพิธีมิสซาใหญ่ของพระสันตะปาปาได้ (Pontifical High Mass)
ฉะนั้นมงกุฎพระสันตะปาปาจึงเป็นสิ่งที่ใช้สวมเฉพาะในโอกาสการแห่ที่เป็นทางการ หรือในโอกาสที่ทรงประทับบน “บัลลังก์พระสันตะปาปา” (Sedia gestatoria) ที่ได้รับการแบบไปในขบวนแห่ ที่มาหยุดใช้ลงในสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทันที่ที่ทรงได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปา พระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้านั้นก็ทรงตัดสินพระทัยที่จะไม่ใช้แต่ในที่สุดก็ทรงยอมเพื่อให้ประชาชนได้มองเห็นพระองค์ นอกจากโอกาสดังว่าแล้วก็อาจจะใช้ในโอกาสที่เป็นทางการต่างๆ และเมื่อทรงประทานพรเนื่องในโอกาสวันคริสต์มัสหรืออีสเตอร์จะระเบียงมหาวิหารนักบุญเปโตร ซึ่งเป็นวาระทางศาสนาสองวาระเท่านั้นที่จะทรงมงกุฎพระสันตะปาปา
โอกาสที่สำคัญที่ในการใช้มงกุฎพระสันตะปาปาคือในพิธีราชาภิเษกที่ใช้เวลาหกชั่วโมง เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่จะได้รับการแห่บน “บัลลังก์พระสันตะปาปา” พร้อมด้วยข้าราชบริพารถือ “Flabellum” ที่ทำด้วยขนนกกระจอกเทศไปยังบริเวณที่ประกอบพิธี ที่ตามปกติแล้วจะเกิดขึ้นที่มหาวิหารนักบุญเปโตร
สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ทรงเลือกทำพิธีที่สั้นกว่า แต่พิธีก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ของการยอมรับหน้าที่อย่างเป็นทางการ แต่อันที่จริงแล้วผู้ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาและบิชอปแห่งโรมก็จะถือตำแหน่งตั้งแต่เมื่อได้รับเลือกในการประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปาแล้ว พระสันตะปาปาสองพระองค์ต่อจากนั้น (จอห์น ปอลที่ 1 และ จอห์น ปอลที่ 2) ไม่ทรงมีพิธีราชาภิเษกเยี่ยงกษัตริย์ แต่ทรงเลือกพิธีการรับตำแหน่งแทนที่ ในปี ค.ศ. 2005 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงเลิกใช้มงกุฎพระสันตะปาปาบนตราอาร์มและทรงใช้หมวกสูงแทนที่
นักบวชโรมันคาทอลิกอีกเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถมีมงกุฎในตราอาร์มได้ คืออัครบิดรแห่งลิสบอน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1716 ที่ถือตำแหน่งโดยอาร์ชบิชอปแห่งลิสบอนตั้งแต่ ค.ศ. 1740 ความแตกต่างระหว่างตราอาร์มสองตรานี้คือ ตราอาร์มของพระสันตะปาปาจะมีมงกุฎและกุญแจนักบุญเปโตร
ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 สุลต่านสุลัยมานแห่งจักรวรรดิออตโตมันทรงว่าจ้างช่างฝีมือที่เวนิสให้ออกแบบมงกุฎสี่ชั้นตามแบบมงกุฏพระสันตะปาปาเพื่อทรงว่าพระองค์ทรงมีอำนาจเหนือพระสันตะปาปา มงกุฏลักษณะนี้ใช้สำหรับสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน แต่คงมิได้ทรงใช้สวม แต่ใช้วางไว้ข้างพระที่นั่งขณะที่ทรงรับผู้เข้าเฝ้าโดยเฉพาะราชทูต ยอดมงกุฎเป็นขนนกพู่ใหญ่
ในสมัยกลางไพ่ทาโรต์จะมีอยู่ใบหนึ่งที่เป็นรูปสตรีสวมมงกุฎพระสันตะปาปาที่เรียกว่า “ลาพาเพสซา” (La Papessa) หรือ พระสันตะปาปาหญิง หรือ นักบวชสตรีสูงศักดิ์ ความหมายหรือสัญลักษณ์ของไพ่ใบนี้ไม่เป็นที่ทราบแน่นอน สตรีที่สวมมงกุฎบ้างก็กล่าวกันว่าเป็นพระสันตะปาปาหญิงโจน ที่ตามตำนานของยุคกลางและต่อมาโปรเตสแตนต์เชื่อกันว่าเป็นสตรีที่ปลอมตัวเป็นชายและได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปา ไพ่รูปนี้บางใบก็จะเป็นภาพเด็ก, บางใบเป็นภาพที่แสดงว่าถูกเปิดเผยว่าเป็นสตรีเมื่อให้กำเนิดแก่ทารกระหว่างการแห่, และอื่นๆ ไพ่ใบที่เป็นสตรีสวมมงกุฎพระสันตะปาปาเริ่มขึ้นระหว่างการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ เป็นภาพพระสันตะปาปาหญิงโจนและบุตร ซึ่งเป็นการพยายามของฝ่ายโปรเตสแตนต์ในการสร้างความเสื่อมเสียให้แก่สถาบันพระสันตะปาปาของโรมันคาทอลิก
แต่มงกุฎพระสันตะปาปาต่อมาหายไป ภาพพระสันตะปาปาหญิงก็สวมแต่เพียงมงกุฎสตรีของสมัยกลาง นอกจากนั้นก็ยังมีไพ่ที่เป็นรูปพระสันตะปาปาที่บางรูปก็สวมมงกุฎพระสันตะปาปา