ภาษาเซี่ยงไฮ้ (???? ในภาษาเซี่ยงไฮ้; จีนตัวย่อ: ??? หรือ ??; จีนตัวเต็ม: ??? หรือ ??) หรือบางครั้งเรียกสำเนียงเซี่ยงไฮ้เป็นสำเนียงของภาษาอู๋ที่ใช้พูดในเมืองเซี่ยงไฮ้และบริเวณโดยรอบ จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต ภาษาเซี่ยงไฮ้เป็นเช่นเดียวกับสำเนียงอื่น ๆ ของภาษาอู๋คือสามารถเข้าใจกันได้กับภาษาจีนสำเนียงอื่น ๆ น้อยมากโดยเฉพาะภาษาจีนกลาง หรือแม้แต่กับสำเนียงย่อยอื่นๆของภาษาอู๋
ภาษาเซี่ยงไฮ้เป็นตัวแทนของภาษาอู๋เหนือ (บริเวณทางใต้ของเจียงซูและทางเหนือของเจ้อเจียง) มีผู้พูดเกือบ 14 ล้านคน จัดเป็นสำเนียงที่มีผู้พูดมากที่สุดในบรรดาสำเนียงของภาษาอู๋ทั้งหมด ในเอกสารทางตะวันตก คำว่าภาษาเซี่ยงไฮ้หมายถึงภาษาอู๋ทั้งหมดโดยไม่ได้เน้นเฉพาะสำเนียงของภาษาอู๋ที่ใช้พูดในเซี่ยงไฮ้
ภาษาเซี่ยงไฮ้มีเสียงพยัญชนะและสระเดี่ยวมาก มีเสียงพยัญชนะโฆษะ ในขณะที่ทั้งภาษาจีนกลางและภาษาจีนกวางตุ้งไม่มีเสียงโฆษะ
ภาษาเซี่ยงไฮ้ไม่มีการสอนในโรงเรียน ไม่ได้ใช้ในการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์และมีการควบคุมการใช้ในสื่อออกอากาศ ทำให้ผู้ดำเนินรายการไม่เสี่ยงที่จะใช้ภาษาเซี่ยงไฮ้ รายการทางโทรทัศน์ที่ใช้ภาษาเซี่ยงไฮ้เริ่มมีหลัง พ.ศ. 2533 แต่เป็นจำนวนน้อย ชาวเซี่ยงไฮ้ในชนบทที่อายุมากยังฟังวิทยุภาษาเซี่ยงไฮ้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้รณรงค์ให้ใช้ภาษาจีนกลางมากขึ้น เช่น คำขวัญที่ว่า "เป็นคนเซี่ยงไฮ้สมัยใหม่ พูดภาษาจีนกลาง"
ใน พ.ศ. 2548 รัฐบาลได้พยายามสนับสนุนให้ชาวเซี่ยงไฮ้ใช้ภาษาจีนกลางมากยิ่งขึ้น คนงานในอุตสาหกรรมบริการในเซี่ยงไฮ้ต้องใช้ภาษาจีนกลางเท่านั้น และตั้งแต่ พ.ศ. 2533 ต้องผ่านการทดสอบภาษาจีนกลางก่อน ถ้าไม่ผ่านหรือออกเสียงไม่ถูกต้องต้องกลับไปเรียนภาษาจีนกลางใหม่
ผู้พูดภาษาเซี่ยงไฮ้ไม่สามารถเข้าใจกันได้กับผู้พูดภาษาจีนกลางสำเนียงใดเลย โดยมีความเข้าใจกันได้กับภาษาจีนกลางมาตรฐานเพียง 50% ซึ่งใกล้เคียงกับความเข้าใจกันได้ระหว่างภาษาฝรั่งเศสกับภาษาเยอรมัน ผู้พูดภาษาเซี่ยงไฮ้ยุคใหม่ได้รับอิทธิพลจากภาษาจีนกลาง ทำให้ภาษาเซี่ยงไฮ้ของวัยรุ่นในเมืองต่างจากภาษาเซี่ยงไฮ้ของคนรุ่นก่อน และมีการสอดแทรกประโยคจากภาษาจีนกลางเข้าไปในการสนทนาในชีวิตประจำวัน
ภาษาเซี่ยงไฮ้จัดอยู่ในกลุ่มของภาษาอู๋ซึ่งสำเนียงต่างๆของภาษาในกลุ่มนี้สามารถที่จะเข้าใจกันได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนไปพูดภาษาจีนกลาง แม้จะมีความแตกต่างทางด้านวรรณยุกต์และความแปรผันในแต่ละพื้นที่บ้าง
หมายเหตุ: อักษรจีนที่ใช้ไม่ได้เป็นมาตรฐานและใช้เฉพาะการอ้างอิงเท่านั้น IPA ถอดเสียงจากภาษาเซี่ยงไฮ้ยุคกลาง(?????) ซึ่งใช้โดยผู้ที่มีอายุ 20 - 60 ปี