ภาษาเคิร์ด มีผู้พูดราว 31 ล้านคน ในอิรัก (รวมทั้งในเขตปกครองตนเองของชาวเคิร์ด) อิหร่าน ตุรกี ซีเรีย เลบานอน จัดอยู่ในกลุ่มภาษาอิหร่านตะวันตกเฉียงเหนือ ตระกูลอินโด-ยุโรป ภาษาที่ใกล้เคียงคือ ภาษาบาโลชิ ภาษาคิเลกิ และภาษาตาเลียส ภาษาเปอร์เซียที่อยู่ในกลุ่มภาษาอิหร่านตะวันตกเฉียงใต้จัดเป็นภาษาใกล้เคียงด้วยแต่มีความแตกต่างมากกว่า 3 ภาษาข้างต้น
เมื่อประมาณ 500 ปีก่อนพุทธศักราช เผ่าที่พูดภาษากลุ่มอิหร่านได้แพร่กระจายเข้าไปในบริเวณที่เรียกเคอร์ดิสถานในปัจจุบัน เป็นกลุ่มชนที่พูดภาษากลุ่มอิหร่านตะวันตกเฉียงเหนือ นักภาษาศาสตร์เชื่อว่าผู้พูดภาษาเมเดียในยุคเหล็กเป็นบรรพบุรุษของผู้พูดภาษาเคิร์ดในปัจจุบัน มีหลักฐานที่แสดงถึงอิทธิพลของภาษาฮูร์เรียคือไวยากรณ์แบบสัมพันธการก อีกภาษาหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อภาษาเคิร์ดคือภาษาแอราเมอิก (M.R. Izady (1993)) หนึ่งในสามของชื่อเผ่าและสองในสามของชื่อภูมิประเทศในภาษาเคิร์ดมาจากภาษาฮูร์เรีย
แม้ว่าภาษาเคิร์ดจะมีที่มาจากภาษากลุ่มอิหร่านตะวันตกเฉียงเหนือ แต่ความรู้เกี่ยวกับภาษานี้ในยุคก่อนอิสลามมีน้อยมาก ภาษาที่รู้จักดีในกลุ่มนี้คือภาษาเมเดียซึ่งก็มีข้อมูลไม่มากนักเช่นกันหนังสือศักดิ์สิทธิ์ของยาซิดิส Mishefa Res (หนังสือสีดำ) เขียนด้วยภาษาเคิร์ด กุมันชีโดยบุตรของเชค อาคีอิส เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 – 22 กวีนิพนธ์ภาษาเคิร์ดยุคคลาสสิกและกวีได้มีการพัฒนาขึ้นจนมีรูปแบบของภาษาทางวรรณคดี
ปัจจุบันภาษาเคิร์ดเป็นภาษาราชการในอิรักในขณะที่เคยถูกห้ามใช้ในซีเรียเมื่อก่อนเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2545 รัฐบาลตุรกีมีการควบคุมการใช้ภาษาเคิร์ด ห้ามใช้ในวิทยุกระจายเสียงและการศึกษา จนกระทั่ง พ.ศ. 2544 การใช้ภาษาเคิร์ดถูกรัฐบาลตุรกีออกกฎคุมเข้มงวดมาก แม้แต่การร้องเพลงเป็นภาษาเคิร์ดก็ทำไม่ได้
การใช้อักษรเขียนภาษาเคิร์ดยังไม่ได้รับการยอมรับในตุรกี และการใช้อักษรเฉพาะสำหรับภาษาเคิร์ด X W Q ที่ไม่มีใช้ในภาษาตุรกีถูกห้ามจนถึง พ.ศ. 2551 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา นักกิจกรรมทางสิทธิมนุษยชนและนักการเมืองต้องขึ้นศาลเพราะใช้ภาษาเคิร์ดแม้จะเป็นส่วนน้อยเพียงไม่กี่คำ เช่นการส่งบัตรอวยพรที่มีคำว่า “สวัสดีปีใหม่” เป็นภาษาเคิร์ด การจำแนกใช้การปรากฏของอักษร X W Q ที่ไม่มีใช้ในภาษาตุรกีเป็นสำคัญ
ในอิหร่านมีการใช้ภาษาเคิร์ดในสื่อท้องถิ่นและหนังสือพิมพ์ได้ แต่ห้ามใช้ในโรงเรียน ทำให้ชาวเคิร์ดในอิหร่านจำนวนมากเข้าไปในเคอร์ดิสถานของอิรักเพื่อเรียนภาษาแม่ของตนเอง
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 ตุรกียอมให้มีสถานีโทรทัศน์ออกอากาศเป็นภาษาเคิร์ดได้ 1 ช่อง แต่ไม่ให้มีการ์ตูนสำหรับเด็ก หรือรายการการศึกษาที่สอนภาษาเคิร์ดและออกอากาศได้เพียง 45 นาทีต่อวัน หรือ 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีแถบอักษรวิ่งเป็นภาษาตุรกี
ภาษาเคิร์ดมีสำเนียงหลักสองสำเนียงคือสำเนียงเหนือและสำเนียงกลาง สำเนียงกลางเรียกโซจานีใช้พูดทางตะวันตกของอิหร่าน และภาคกลางของเคอร์ดิสถานในอิรัก สำเนียงเหนือหรือกุรมันชีใช้พูดทางเหนือของเคอร์ดิสถานในอิรัก เทือกเขาคอเคซัส ซีเรีย และตุรกี นักภาษาศาสตร์บางกลุ่มจัดให้ภาษาเคิร์ดมีสามสำเนียง โดยเพิ่มสำเนียงใต้ซึ่งเป็นสำเนียงของชาวซาซัสที่มักอ้างตัวเองเป็นชาวเคิร์ด
ภาษาเคิร์ดมีระบบการเขียนต่างกันถึงสามระบบ ในอิหร่านและอิรักใช้อักษรอาหรับดัดแปลง แต่ก็เริ่มใช้อักษรละตินบ้างแล้วในอิรัก ในตุรกีและซีเรียใช้อักษรละติน ส่วนชาวเคิร์ดที่เคยรวมอยู่ในสหภาพโซเวียตใช้อักษรซีริลลิกดัดแปลง ปัจจุบันมีแผนการที่จะรวมการเขียนภาษาเคิร์ดให้เป็นเอกภาพ
เป็นภาษาตัวอย่างของภาษาสัมพันธการก (ergative language) โดยในภาษานี้ กรรมเกี่ยวพันหรือสัมพันธ์กับประธาน และกริยาเกี่ยวพันกับกรรม ซึ่งต่างจากภาษาในบริเวณใกล้เคียงเช่นภาษาตุรกี ภาษาเปอร์เซีย และภาษาอาหรับ ที่มีเครื่องหมายหรือการก สำหรับกรรม และรูปกริยาขึ้นกับประธานของประโยค