ภาษาเขมรตะวันตก หรือ ภาษาเขมรถิ่นจันทบุรี เป็นภาษาถิ่นหนึ่งของภาษาเขมร ใช้พูดในประชากรผู้มีเชื้อสายเขมรที่อาศัยอยู่บริเวณทิวเขาบรรทัดนับแต่ชายแดนกัมพูชาด้านตะวันตกจนถึงภาคตะวันออกของประเทศไทยโดยเฉพาะในจังหวัดจันทบุรีซึ่งมีชุมชนเชื้อสายเขมรตั้งถิ่นฐานใกล้แนวชายแดน กลุ่มชนเขมรในจันทบุรีได้อพยพมาจากจังหวัดพระตะบองและไพลิน เข้าอาศัยในบริเวณดังกล่าวก่อนการปักปันเขตแดนกับฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2449 และรับสัญชาติไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 เป็นต้นมา
ภาษาเขมรตะวันตกมีความแตกต่างจากสำเนียงอื่น ด้วยยังรักษาการเปรียบต่างระหว่างเสียงพูดปรกติ (modal voice) กับเสียงพูดลมแทรก (breathy voice) ซึ่งสูญไปแล้วในภาษาเขมรสำเนียงอื่น นักภาษาศาสตร์สันนิษฐานกันว่าเคยมีปรากฏการณ์จัดตั้งหน่วยเสียงพูดลมแทรกขึ้นในภาษาเช่นว่านี้ในขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงทางเสียงของภาษาเขมร
ทั้งนี้ในจังหวัดจันทบุรีมีชุมชนที่มีเชื้อสายเขมรในตำบลเทพนิมิต ตำบลหนองตาคง และตำบลคลองใหญ่ในอำเภอโป่งน้ำร้อน และมีชุมชนที่ตำบลทรายขาวในอำเภอสอยดาว โดยกลุ่มวัยที่ใช้ภาษาได้ดีคืออายุ 35 ปีขึ้นไป แต่ในวัยปัจจุบันกลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่นเริ่มไม่เห็นความสำคัญและสื่อสารได้น้อยลงกว่าคนรุ่นก่อน