ภาษาสันสกฤต เป็นภาษาที่รับอิทธิพลมาจากอินเดียและส่งผลมาถึงอาณาจักรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สันสกฤต : ???????? ????, สํสฺกฤตา วากฺ; อังกฤษ: Sanskrit) เป็นภาษาที่เก่าแก่ที่สุดภาษาหนึ่งในภาษากลุ่มอินโด-ยูโรเปียน (หรืออินเดีย-ยุโรป) สาขาย่อยอินโด-อิเรเนียน (อินเดีย-อิหร่าน) และอยู่ในกลุ่มย่อยอินโด-อารยัน (อินเดีย-อารยะ) โดยมีระดับวิวัฒนาการในระดับใกล้เคียงกับภาษาละตินและภาษากรีก เป็นต้น โดยทั่วไปถือว่าเป็นภาษาที่ตายแล้ว ทว่ายังมีผู้ใช้ภาษาสันสกฤตอยู่บ้างในแวดวงที่จำกัดในประเทศอินเดีย โดยมีการคิดคำศัพท์ใหม่ ๆ ขึ้นมาด้วย ในศาสนาฮินดูเชื่อว่า ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาสื่อที่เทพเจ้าใช้สื่อสารกับมวลมนุษย์ เพื่อถ่ายทอดความรู้แจ้งและปัญญาญาณแก่เหล่าฤษีทั้งหลายแต่ครั้งดึกดำบรรพ์
คำว่า สํสฺกฤต (???????) แปลว่า "กลั่นกรองแล้ว" ส่วนคำว่า สํสฺกฤตา วากฺ (???????? ????) จะใช้เพื่อเรียก "ภาษาที่กลั่นกรองแล้ว" ซึ่งเป็นภาษาของชนชั้นพราหมณ์ ตรงข้ามกับภาษาพูดของชาวบ้านทั่วไปที่เรียกว่าปรากฤต ภาษาสันสกฤตมีพัฒนาการในหลายยุคสมัย โดยมีหลักฐานเก่าแก่ที่สุด คือภาษาที่ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวท (เมื่อราว 1,200 ปีก่อนคริสตกาล) อันเป็นบทสวดสรรเสริญพระเจ้าในลัทธิพราหมณ์ในยุคต้น ๆ อย่างไรก็ตาม ในการจำแนกภาษาสันสกฤตโดยละเอียด นักวิชาการอาจถือว่าภาษาในคัมภีร์ฤคเวทเป็นภาษาหนึ่งที่ต่างจากภาษาสันสกฤตแบบแผน (Classical language) และเรียกว่า ภาษาพระเวท (Vedic language) ภาษาพระเวทดั้งเดิมยังมิได้มีการวางกฎเกณฑ์ให้เป็นระเบียบรัดกุมและสละสลวย และมีหลักทางไวยากรณ์อย่างกว้าง ๆ ปรากฏอยู่ในบทสวดในคัมภีร์พระเวทของศาสนาฮินดู เนื้อหาคือบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า เอกลักษณ์ที่ปรากฏอยู่เฉพาะในภาษาพระเวทคือระดับเสียง (Accent) ซึ่งกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และถือเป็นสิ่งสำคัญของการสวดพระเวทเพื่อให้สัมฤทธิผล
ภาษาสันสกฤตมีวิวัฒนาการมาจากภาษาชนเผ่าอารยัน หรืออินโดยูโรเปียน (Indo-European) บรรพบุรุษของพวกอินโด-อารยัน ตั้งรกรากอยู่เหนือเอเซียตะวันออก (ตอนกลางของทวีปเอเชีย - Central Asia) โดยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง กลุ่มอารยันต้องเร่ร่อนทำมาหากินเหมือนกันชนเผ่าอื่น ๆ ในจุดนี้เองที่ทำให้เกิดการแยกย้ายถิ่นฐาน การเกิดประเพณี และภาษาที่แตกต่างกันออกไป ชนเผ่าอารยันได้แยกตัวกันออกไปเป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มที่ 1 แยกไปทางตะวันตกเข้าสู่ทวีปยุโรป กลุ่มที่ 2 ลงมาทางตะวันออกเฉียงใต้ อนุมานได้ว่าน่าจะเป็นชนชาติอิหร่านในเปอร์เซีย และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุด กลุ่มนี้แยกลงมาทางใต้ตามลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus) ชาวอารยันกลุ่มนี้เมื่อรุกเข้าในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุแล้ว ก็ได้ไปพบกับชนพื้นเมืองที่เรียกว่า ดราวิเดียน (Dravidian) และเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมและภาษา โดยชนเผ่าอารยันได้นำภาษาพระเวทยุคโบราณเข้าสู่อินเดียพร้อม ๆ กับความเชื่อทางศาสนา ซึ่งในยุคต่อมาได้เกิดตำราไวยากรณ์ภาษาสันสกฤตคือ อษฺฏาธฺยายี (??????????? "ไวยากรณ์ 8 บท") ของปาณินิ เชื่อกันว่ารจนาขึ้นในช่วงพุทธกาล ปาณินิเห็นว่าภาษาสันสกฤตแบบพระเวทนั้นมีภาษาถิ่นปนเข้ามามากพอสมควรแล้ว หากไม่เขียนไวยากรณ์ที่เป็นระเบียบแบบแผนไว้ ภาษาสันสกฤตแบบพระเวทที่เคยใช้มาตั้งแต่ยุคพระเวทจะคละกับภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ ทำให้การประกอบพิธีกรรมไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น จึงแต่งอัษฏาธยายีขึ้น ความจริงตำราแบบแผนไวยากรณ์ก่อนหน้าปาณินิได้มีอยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่อเกิดอัษฏาธยายีตำราเหล่านั้นก็ได้หมดความนิยมลงและสูญไปในที่สุด ผลของไวยากรณ์ปาณินิก็คือภาษาเกิดการจำกัดกรอบมากเกินไป ทำให้ภาษาไม่พัฒนา ในที่สุด ภาษาสันสกฤตแบบปาณินิ หรือภาษาสันสกฤตแบบฉบับ จึงกลายเป็นภาษาเขียนในวรรณกรรม ซึ่งผู้ที่สามารถจะอ่าน เขียนและแปลได้จะต้องใช้เวลามากพอสมควร
เกิดขึ้นจากการวางกฎเกณฑ์ของภาษาสันสกฤตให้มีแบบแผนที่แน่นอนในสมัยต่อมา โดยนักปราชญ์ชื่อ ปาณินิตามประวัติเล่าว่าเป็นผู้เกิดในตระกูลพราหมณ์ แคว้นคันธาระราว 57 ปีก่อนพุทธปรินิพพาน บางกระแสว่าเกิดราว พ.ศ. 143 ปาณินิได้ศึกษาภาษาในคัมภีร์พระเวทจนสามารถหาหลักเกณฑ์ของภาษานั้นได้ จึงจัดรวบรวมขึ้นเป็นหมวดหมู่ เรียบเรียงเป็นตำราไวยากรณ์ขึ้น 8 บทให้ชื่อว่า อัษฏาธยายี มีสูตรเป็นกฎเกณฑ์อธิบายโครงสร้างของคำอย่างชัดเจน นักวิชาการสมัยใหม่มีความเห็นว่า วิธีการศึกษาและอธิบายภาษาของปาณินิเป็นวิธีวรรณนา คือศึกษาและอธิบายตามที่ได้สังเกตเห็นจริง มิได้เรียบเรียงขึ้นตามความเชื่อส่วนตัว มิได้เรียบเรียงขึ้นตามหลักปรัชญา คัมภีร์อัษฏาธยายีจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นตำราไวยากรณ์เล่มแรกที่ศึกษาภาษาในแนววิทยาศาสตร์และวิเคราะห์ภาษาได้สมบูรณ์ที่สุด[ต้องการอ้างอิง] ความสมบูรณ์ของตำราเล่มนี้ทำให้เกิดความเชื่อในหมู่พราหมณ์ว่า ตำราไวยากรณ์สันสกฤตหรือปาณินิรจนานี้ สำเร็จได้ด้วยอำนาจพระศิวะ อย่างไรก็ตาม นักภาษาศาสตร์เชื่อว่าการวางแบบแผนอย่างเคร่งครัดของปาณินิ ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาษาสันสกฤตต้องกลายเป็นภาษาตายอย่างรวดเร็วก่อนเวลาอันควร[ต้องการอ้างอิง] เพราะทำให้สันสกฤตกลายเป็นภาษาที่ถูกจำกัดขอบเขต (a fettered language) ด้วยกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ที่เคร่งครัดและสลับซับซ้อน ภาษาสันสกฤตที่ได้ร้บการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ให้ดีขึ้นโดยปาณินินี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เลากิกภาษา" หมายถึงภาษาที่ใช้กับสิ่งที่เป็นไปในทางโลก
ภาษาสันสกฤตผสม (Buddhist Hybrid Sanskrit or Mixed Sanskrit) เป็นภาษาสันสกฤตที่นักวิชาการบางกลุ่มได้จัดไว้เป็นพิเศษ เนื่องจากมีความแตกต่างจากภาษาพระเวทและภาษาสันสกฤตแบบแผน (ตันติสันสกฤต) ภาษาสันสกฤตแบบผสมนี้คือภาษาที่ใช้บันทึกวรรณคดีสันสกฤตทางพระพุทธศาสนา ทั้งในนิกาย สรรวาสติวาท และ มหายาน ภาษาสันสกฤตชนิดนี้คาดว่าเกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 3-4 นักปราชญ์บางท่านถือว่าเกิดขึ้นร่วมสมัยกับตันติสันสกฤต คือในปลายสมัยพระเวทและต้นของยุคตันติสันสกฤต โดยปรากฏอยู่โดยส่วนมากในวรรณกรรมของพระพุทธศาสนามหายาน อาทิ พระสูตร เช่น ลลิตวิสฺตร ลงฺกาวตารสูตฺร ปฺรชฺญาปารมิตา สทฺธรฺมปุณฺฑรีกสูตฺร และศาสตร์อันเป็นคำอธิบายหลักพุทธปรัชญาและตรรกวิทยา เช่น มธฺยมิกการิกา อภิธรฺมโกศ มหาปฺรชฺญาปารมิตาศาสฺตฺร มธฺยานฺตานุคมศาสฺตฺร เป็นต้น
ไวยากรณ์ของภาษาสันสกฤตมีความซับซ้อนมากกว่าหลาย ๆ ภาษา โดยเฉพาะกฎเกณฑ์การสนธิ แต่ก็นับว่ามีความสอดคล้องกับหลายภาษาในกลุ่มภาษาอินโด-ยูโรเปียน เช่น กรีกหรือละติน อย่างที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตาม ไวยากรณ์สันสกฤตอาจเทียบเคียงได้กับของภาษาบาลี แต่ยังมีความยุ่งยากและซับซ้อนกว่าพอสมควร
ภาษาสันสกฤตมีรูปอักษร 49 ตัว แบ่งเป็นพยัญชนะ 34 ตัว สระ 14 ตัว การศึกษาภาษาสันสกฤตในประเทศไทย นิยมใช้อักษร 3 ชนิด คือ อักษรไทย อักษรเทวนาครี และอักษรโรมัน ในที่นี้จะแสดงสระและพยัญชนะด้วยอักษรไทย
สระ 14 ตัวได้แก่ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ไอ เอา แบ่งได้เป็น 3 ขั้นคือ ขั้นปกติ ขั้นคุณ ขั้นพฤทธิ์
พยัญชนะไทยที่เขียนลำพังโดยไม่มีสระอื่นถือว่ามีเสียงอะ ถ้ามีจุดข้างล่างถือว่าไม่มีเสียงสระ
ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่มีการลงวิภัตติปัจจัย แจกนามได้ถึง 8 การก {แบ่งเป็น 3 พจน์ (เอกพจน์, ทวิพจน์, พหูพจน์) และสามเพศ (สตรีลิงค์, ปุลลิงก์ และนปุงสกลิงก์) }
สำหรับกริยา (ธาตุ) ในภาษาสันสกฤตนั้นมีความซับซ้อนยิ่งกว่าคำนาม กล่าวคือ จำแนกกริยาไว้ถึง 10 คณะ แต่ละคณะมีการเปลี่ยนรูป (เสียง) แตกต่างกันไป กริยาเหล่านี้จะแจกรูปตามประธาน 3 แบบ (ปฐมบุรุษ, มัธยมบุรุษ และอุตมบุรุษ) นอกจากนี้กริยายังต้องแจกรูปตามกาล (Tense) 6 ชนิด และตามมาลา (Mood) 4 ชนิด
ภาษาสันสกฤตไม่มีอักษรสำหรับเขียนชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ และก็คล้ายกับภาษาอื่นหลายภาษา นั่นคือสามารถเขียนได้ด้วยอักษรหลายชนิด อักษรเก่าแก่ที่ใช้เขียนภาษาสันสกฤตมีหลายชนิดด้วยกัน เช่น อักษรขโรษฐี (Kharosth?) หรืออักษรคานธารี (G?ndh?r?) นอกจากนี้ยังมีอักษรพราหมี (อักษรทั้งสองแบบพบได้ที่จารึกบนเสาอโศก) อักษรรัญชนา ซึ่งนิยมใช้จารึกคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในอินเดียเหนือและเนปาล รวมถึง อักษรสิทธัม ซึ่งใช้บันทึกคัมภีร์พุทธศาสนารวมถึงบทสวดภาษาสันสกฤตในประเทศจีนและญี่ปุ่นโดยเฉพาะในนิกายมนตรยาน อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปนิยมเขียนภาษาสันสกฤตด้วยอักษรเทวนาครี (Devan?gar?) ส่วนอักษรอื่น ๆ เป็นความนิยมในแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้เนื่องจากอักษรที่ใช้ในอินเดีย มักจะเป็นตระกูลเดียวกัน จึงสามารถดัดแปลงและถ่ายทอด (transliteration) ระหว่างชุดอักษรได้ง่าย
แม้กระทั่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีจารึกภาษาสันสกฤตที่ใช้ อักษรปัลลวะ อักษรขอม นอกจากนี้ชาวยุโรปยังใช้อักษรโรมันเขียนภาษาสันสกฤต โดยเพิ่มเติมจุดและเครื่องหมายเล็กน้อยเท่านั้น
ภาษาสันสกฤตและบาลีมีเผยแพร่ในประเทศไทยมาช้านานแล้ว แต่ส่วนใหญ่จำกัดผู้เล่าเรียนอยู่แต่ในวัดและในวังเท่านั้น เมื่อมีการตั้งมหาวิทยาลัยก็มีคณาจารย์หลายคนสอนสันสกฤต ทั้งเป็นส่วนตัวและระดับมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นรากฐานให้เกิดการศึกษาภาษาสันสกฤตอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น มีนักภาษาสันสกฤต หรือนักสันสกฤตที่มีชื่อเสียงชาวไทยและชาวอินเดียที่นำสันสกฤตมาปักหลักสอนในประเทศไทย มีการสอนหลักสูตรภาษาสันสกฤตในระดับปริญญาตรี และหลักสูตร(บาลี-สันสกฤต, พุทธศาสตร์) ในระดับปริญญาโทและเอกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงได้มีการก่อตั้ง ศูนย์สันสกฤตศึกษาขึ้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร
นักวิชาการที่สอนภาษาสันสกฤตและวรรณคดีสันสกฤตระดับมหาวิทยาลัยในอดีตและปัจจุบันถือว่ายังน้อยมากในประเทศไทย