ภาษาลิมบูเป็นตระกูลภาษาย่อยทิเบต-พม่า ใช้พูดในเนปาล สิกขิม และตำบลดาร์จีลิงในรัฐเบงกอลตะวันตก อินเดีย โดยชาวลิมบู ซึ่งส่วนใหญ่จะพูดภาษาเนปาลเป็นภาษาที่สอง ชื่อภาษา “ลิมบู” เป็นคำจากภาษาอื่นและไม่รู้ที่มา ชาวลิมบูเรียกตนเองว่า “ยักทุมบา” และเรียกภาษาของตนว่า “ยักทุงปัน” มีสำเนียงสำคัญสี่สำเนียงคือ ปันแทร์ เพดาเป ชัตแทร์ และทัมบาร์ โคเล สำเนียงปันแทร์เป็นสำเนียงมาตรฐาน ในขณะที่สำเนียงเพดาเปเป็นสำเนียงที่เข้าใจได้ทั่วไป สิ่งตีพิมพ์ในภาษาลิมบูมักพิมพ์ควบคู่ไปกับภาษาเนปาล ภาษานี้เขียนด้วยอักษรเทวนาครีได้ด้วย
ภาษาลิมบู ภาษาเลปชา และภาษาเนวารีเป็นภาษาในตระกูลจีน-ทิเบต ที่ใช้พูดในแถบเทือกเขาหิมาลัยตอนกลางและมีตัวอักษรเป็นของตนเอง อักษรกีรันตีหรืออักษรลิมบูน่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่พุทธศาสนาเผยแพร่เข้าไปในสิกขิมเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 23 อักษรลิมบูน่าจะประดิษฐ์ขึ้นในสมัยเดียวกับอักษรเลปชา โดยอักษรเลปชาประดิษฐ์ขึ้นโดยกษัตริย์องค์ที่ 3 ของสิกขิม พยักโด นัม-กยัล ส่วนอักษรลิมบูประดิษฐ์โดยวีรบุรุษของชาวลิมบู เต-องซี ศิริยูงะ หรือศิริโยงะ ผู้นับถือศาสนาพุทธแบบสิกขิมที่ถูกลอบสังหารโดยพระตซงตามคำสั่งของกษัตริย์สิกขิม ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ ศิมะห์ ประทับ ชาห์เป็นกษัตริย์ของเนปาล อักษรทั้งสองชนิดแพร่หลายไปเพราะการเผยแพร่พุทธศาสนาในบริเวณนี้
อักษรที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่นี้ ได้รับอิทธิพลจากอักษรทิเบตและอักษรเทวนาครีแต่ไม่มีสระลอย การใช้ภาษาและวรรณคดีของภาษาลิมบูถูกควบคุมโดยรัฐบาลเนปาลตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23 การใช้อักษรลิมบูกลายเป็นสิ่งต้องห้ามและผิดกฎหมาย ชาวลิมบูส่วนใหญ่จึงอ่านภาษาเนปาลีมากกว่าภาษาลิมบู
มีการตีพิมพ์เอกสารด้วยภาษาลิมบูจำนวนมาก Tanchoppa (ดวงดาวยามเช้า) เป็นวารสาร/หนังลือพิมพ์รายเดือนที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เอกสารที่เขียนด้วยภาษาลิมบูที่เก่าที่สุด เขียนเมื่อ พ.ศ. 2393 ต้นฉบับถูกเก็บรักษาที่ประเทศอังกฤษ
ในเนปาล การสอนภาษาลิมบูดำเนินการโดยเอกชน รัฐบาลเนปาลได้ตีพิมพ์หนังสือเรียนภาษาลิมบูสำหรับโรงเรียนประถมศึกษา ส่วนในสิกขิม ตั้งแต่ พ.ศ. 2513 ได้มีการสอนอักษรลิมบูในโรงเรียนที่สอนด้วยภาษาอังกฤษในบริเวณที่มีชาวลิมบูอยู่มาก มีนักเรียนมากกว่า 4,000 คนที่เรียนภาษาลิมบูประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวันทุกวัน มีหนังสือเรียนภาษาลิมบูถึงระดับมัธยมศึกษา