ภาษามันดาอิก เป็นภาษาที่ใช้ในศาสนามันเดียน ใกล้เคียงกับภาษาอราเมอิก และได้รับอิทธิพลจากภาษากลุ่มอิหร่านอื่นๆทั้งในด้านไวยากรณ์และรากศัพท์ ภาษามันดาอิกคลาสสิก จัดอยู่ในภาษากลุ่มเซมิติกตะวันออก สาขาตะวันออกเฉียงเหนือ ใกล้เคียงกับภาษาอราเมอิกที่ใช้พูดในบาบิโลเนียและภาษาในเมโสโปเตเมียอื่นๆ มีความใกล้เคียงกับภาษาซีเรียค ที่เป็นภาษาของชาวคริสต์ในตะวันออกกลาง
ภาษามันดาอิกใหม่พัฒนามาจากภาษามันดาอิก ที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับภาษาอราเมอิก ภาษาอราเมอิกเคยใช้เป็นภาษากลางในยุคอัสซีเรียและอคาแมนิด และการเป็นภาษาสำหรับการติดต่อระหว่างชาติ หลังจากนั้น ภาษาอราเมอิกพัฒนาออกไปเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มตะวันตกได้แก่ภาษาทัลมูดิกในปาเลสไตน์ ภาษาปาเลสไตน์ของชาวคริสต์ และภาษาซามาริทัน กับกลุ่มตะวันออก ได้แก่ ภาษาบาบิโลเนียยุคสุดท้าย ภาษาซีเรียคและภาษามันดาอิก
ภาษาที่ยังเหลืออยู่ของภาษาอราเมอิกกลุ่มตะวันออกได้แก่ ภาษาอราเมอิกใหม่กลาง (ภาษาตูโรโยและภาษามลาโซ) ภาษาอราเมอิกใหม่ตะวันออกเฉียงเหนือ (เป็นกลุ่มใหญ่สุด ซึ่งรวมทั้งภาษาอราเมอิกใหม่ในหมู่ชาวยิวและภาษาอราเมอิกใหม่อัสซีเรียและภาษาอราเมอิกใหม่คัลเดีย) และภาษามันดาอิกใหม่ ส่วนภาษาที่เหลือรอดของกลุ่มตะวันตกมีภาษาเดียวคือภาษาอราเมอิกใหม่ตะวันตกที่ใช้พูดในบางหมู่บ้านในดามัสกัส ในบรรดาภาษาที่เหลือรอดเหล่านี้ ภาษามันดาอิกใหม่จัดว่าเป็นภาษาที่สืบทอดมาจากภาษาอราเมอิกโดยตรง ในทางไวยากรณ์ ภาษามันดาอิกใหม่มีลักษณะอนุรักษนิยมเมื่อเทียบกับภาษาอราเมอิใหม่กลุ่มตะวันออกอื่นๆ โดยยังคงใช้การเชื่อมต่อปัจจัยแบบภาษาเซมิติกยุคเก่า
ภาษามันดาอิกใหม่เหลืออยู่สามสำเนียง ใช้พูดในเมืองซุซตาร์ ชาห์ วาลติ และเดซฟูล ในคุเซสถานตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศอิหร่าน ชุมชนชาวมันเดียในเมืองเหล่านี้อพยพออกในช่วงพ.ศ. 2523 และเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเมืองอะห์วาซและโคร์รัมชาห์ ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามอิรัก-อิหร่าน