ภาษามณีปุระพิษณุปุระ (???? ???/????????????? ???????) เป็นภาษาในกลุ่มอินโด-อารยัน พูดในบางส่วนของแคว้นอัสสัม, ตรีปุระ, มณีปุระในประเทศอินเดีย และบางส่วนของบังกลาเทศ และพม่าต่างจากภาษามณีปุระหรือภาษาไมไตที่เป็นตระกูลภาษาย่อยทิเบต-พม่า
ภาษามณีปุระพิษณุปุระมีผู้พูดในบางส่วนของรัฐอัสสัม ตรีปุระและมณีปุระในอินเดีย เช่นเดียวกับในบังกลาเทศ พม่า และประเทศอื่น ๆ ภาษานี้ต่างจากภาษากลุ่มอินโด-อารยันอื่น ๆ เช่น ภาษาเบงกาลี ภาษาโอริยา ภาษาอัสสัม โดยภาษานี้มีถิ่นกำเนิดและพัฒนาขึ้นในรัฐมณีปุระ โดยเกิดขึ้นครั้งแรกรอบ ๆ ทะเลสาบโลกตัก หลักฐานรุ่นแรก ๆ ที่กล่าวถึงภาษานี้เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ในพุทธศตวรรษที่ 23 ชื่อ ขุมัล ปุรณะ เขียนโดยบัณฑิต นวเขนทรา ศรมะ หลักฐานอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่าภาษานี้เกิดในรัฐมณีปุระก่อนพุทธศตวรรษที่ 24 G.A. Grierson เรียกภาษานี้ว่า ภาษามณีปุระพิษณุปุระ แต่บางคนเรียกเพียงภาษาพิษณุปุระ
ผู้พูดภาษานี้ส่วนใหญ่ย้ายออกจากรัฐมณีปุระเข้าสู่รัฐอัสสัม ตรีปุระ สิลเหติ และจาชัร ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 23 เนื่องจากความขัดแย้งภายในระหว่างเจ้าชายในมณีปุระและการรุกรานของพม่า เป็นการยากที่ผู้พูดภาษามณีปุระพิษณุปุระจะรักษาภาษาของตนไว้ ภายใต้อิทธิพลของภาษาไมไต
แม้ว่าใน พ.ศ. 2434 Grierson พบผู้พูดภาษานี้ 2-3 หมู่บ้านใกล้พิษณุปุระ แต่ภาษานี้เริ่มสูญสลายอย่างช้า ๆ ภายในมณีปุระซึ่งคนส่วนใหญ่พูดภาษาไมไต และเริ่มสูญหายในบังกลาเทศและจาชัรซึ่งคนส่วนใหญ่พูดภาษาเบงกาลี ภาษานี้ยังเหลือผู้พูดอยู่ในชิริบัม (ส่วนย่อยในมณีปุระ) ตำบลจาชัรในอัสสัม และกลุ่มเล็ก ๆ ในบังกลาเทศและมณีปุระ
ผู้พูดภาษานี้เรียกภาษาของตนว่า อิมัรทาร์ หมายถึงภาษาของแม่ เขาเรียกตนเองว่าชาวมณีปุระ และใช้คำว่า "ชาวพิษณุปุระ" หรือ "พิษณุปริยา" เพื่อแยกตนเองออกจากกลุ่มอื่น ๆ ในมณีปุระ คำว่า "พิษณุปริยา" อาจมาจากคำว่าพิษณุปุระ โดยเติมปัจจัย –อิยา เพื่อให้หมายความว่าประชาชนของพิษณุปุระ ชาวพิษณุปุระดั้งเดิมเชื่อว่าพวกเขาเข้าสู่มณีปุระโดยอพยพมาจากทวารกะและหัสตินาปุระ หลังจากเกิดสงครามมหาภารตะ มีการกล่าวกันว่าการอพยพครั้งนี้นำโดยพภรุวาหนะ บุตรของอรชุนกับจิตรางคทา นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์บางคนสนับสนุนทฤษฎีนี้ จากการสังเกตลักษณะของภาษา ภาษานี้ได้รับอิทธิพลจากภาษาสันสกฤตและภาษามหาราษฏรี เช่นเดียวกับภาษาปรากฤต เช่น ภาษาเสาราเสนี ภาษาเสาราเสนีนี้เป็นภาษาของทหารและประชาชนในทุ่งกุรุเกษตร มัธยเทศ อินทรปรัศถ์และหัสตินาปุระ อย่างไรก็ตาม K.P. Sinha ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีนี้และเห็นว่าภาษามณีปุระพิษณุปุระมาจากภาษามคธี
ภาษามณีปุระพิษณุปุระไม่ใช่ตระกูลภาษาย่อยทิเบต-พม่า แต่ใกล้เคียงกับภาษากลุ่มอินโด-อารยัน โดยได้รับอิทธิพลจากภาษาไมไตทั้งทางด้านไวยากรณ์และการออกเสียง ในแต่ละช่วงของพัฒนาการ ภาษาเสาราเสนี ภาษามคธี ภาษามหาราษฏรีและตระกูลภาษาย่อยทิเบต-พม่าเข้ามามีอิทธิพลมาก ภาษานี้อาจจะพัฒนามาจากภาษาสันสกฤต ภาษาเสาราเสนี และภาษามหาราษฏรีเช่นเดียวกับภาษาฮินดี ภาษาอัสสัม ภาษาเบงกาลี และภาษาโอริยา อิทธิพลจากภาษาเสาราเสนีและภาษามหาราษฏรีเห็นได้จากคำสรรพนาม การเชื่อมต่อ และการลงท้ายการก และมีลักษณะบางอย่างจากภาษามคธีปนอยู่ด้วย ภาษานี้คำศัพท์จากภาษาไมไตที่ออกเสียงแบบเก่าในช่วงพ.ศ. 2000 – 2200 ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้พูดส่วนใหญ่อพยพออกจากมณีปุระในพุทธศตวรรษที่ 24
ภาษานี้มสองสำเนียงคือ ราชัร คัง (หมู่บ้านพระราชา) และมาไท คัง (หมู่บ้านราชินี) ในทาสัทศาสตร์ สำเนียงราชัร คัง เกี่ยวข้องกับภาษาอัสสัมและไมไต ส่วนสำเนียงมาไท คัง เกี่ยวข้องกับภาษาเบงกาลี แต่ในทางคำศัพท์ สำเนียงมาไท คัง ได้รับอิทธิพลจากภาษาไมไตมาก ส่วนราชัร คัง ใกล้เคียงกับภาษาอัสสัมและภาษาเบงกาลีมากกว่า นอกจากนี้แล้ว ทั้งสองสำเนียงไม่ต่างกัน
ชาวพิษณุปุระดั้งเดิมกล่าวว่าพวกเขามีระบบการเขียนเป็นของตนเองคืออักษรเทวนาครีที่เคยใช้เขียนภาษาพิศนุปริยะมาก่อนหน้านี้ ในยุคการศึกษาสมัยใหม่ภายใต้การปกครองของอังกฤษโดยผ่านทางภาษาเบงกาลี ผู้พูดภาษานี้เริ่มเปลี่ยนมาใช้อักษรเบงกาลี
ในมณีปุระยังมีผู้พูดในเขตชิริบัมราว 5,000 คน ในรัฐอัสสัมมีในตำบลจาชัร การิมคัณฑ์ และ ไฮลากันทีราว 300,000 คน โดยเป็นชนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่นั้น ในรัฐตรีปุระมี 60,000 คน ในบังกลาเทศมีผู้พูดในเขตสิลเหติและอื่น ๆ ราว 60,000 คน ในรัฐเมฆาลัยมี 2,000 คน ในรัฐอรุณาจัลประเทศมี 1,000 คน ในพม่ามี 1,000 คน ในรัฐนาคาแลนด์มี 250 คน ในรัฐไมโซรัมมี 100 คน ในนิวเดลลีมี 100 คน ในออสเตรเลียมี 7 คน และมีในสหรัฐ อังกฤษ แคนาดา และตะวันออกกลางอีกราว 2,000 คน