ภาษาฟริเจีย เป็นภาษาตระกูลอินโด-ยุโรเปียน ใช้พูดโดยชาวฟริเจีย ซึ่งอาจจะอพยพจากเทรซเข้าสู่เอเชียน้อยในช่วง 657 ปีก่อนพุทธศักราช ภาษาฟริเจียแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ ภาษายุคเก่า (257 ปีก่อนพุทธศักราช) และภาษายุคใหม่ เริ่มใช้เมื่อราว พ.ศ. 543 ภาษานี้กลายเป็นภาษาตายเมื่อราว พ.ศ. 1143 . การศึกษาจารึกภาษานี้ทำได้ไม่ยากนักเพราะใช้อักษรใกล้เคียงกับอักษรกรีก
ภาษาฟรีเจียมีลักษณะใกล้เคียงกับภาษากรีกและภาษาทราเซีย ในหลายแห่งพบว่าภาษาฟรีเจียใช้อักษรที่มีต้นกำเนิดมาจากอักษรฟินิเชียน
ลักษณะโดยทั่วไปเหมือนภาษาในตระกูลอินโด-ยุโรเปียน คำศัพท์ส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับภาษาอินโด-ยุโรเปียนดั้งเดิมที่สร้างขึ้นมา
คำศัพท์เกี่ยวกับร่างกายของภาษาฟรีเจียเป็นที่รู้จักในทางทฤษฎี แต่ความหมายและรูปแบบที่ถูกต้องของคำโดยเฉพาะจากจารึกยังเป็นที่โต้เถียง คำภาษาฟรีเจียที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ bekos หมายถึงขนมปัง จากบันทึกของเฮโรโดตัส ฟาโรห์เซมเมติอุสที่ 1 ต้องการรู้ว่าภาษาดั้งเดิมของมนุษย์คืออะไร จึงให้นำเด็กสองคนไปเลี้ยงไว้โดยไม่ให้ได้ยินเสียงใดๆ เมือผ่านไป 2 ปี เด็กพูดคำว่า bekos ซึ่งเป็นศัพท์ภาษาฟรีเจียแปลว่าขนมปังสีขาว ชาวอียิปต์จึงเชื่อว่าชาวฟรีเจียเป็นชนชาติที่เก่าแก่กว่าตน คำว่า bekos นี้อาจจะมีที่มาเดียวกันกับคำว่า buk? "ขนมปัง"ในภาษาอัลเบเนีย และ bake "อบ" ในภาษาอังกฤษ ภาษาที่มีอิทธิพลต่อคำศัพท์ภาษาฟรีเจีย ได้แก่ ภาษาฮิตไตต์ ภาษาลูเวีย ภาษากาลาเทีย และภาษากรีก