ภาษาผู้ไท (เขียน ผู้ไทย หรือ ภูไท ก็มี) เป็นภาษาในตระกูลภาษาไท-กะได มีผู้พูดจำนวนไม่น้อย กระจัดกระจายในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยและลาว เข้าใจว่า ผู้พูดภาษาผู้ไทมีถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมอยู่ในเมือง นาน้อยอ้อยหนู ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า เมืองนาน้อยอ้อยหนู อันเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมของผู้ไทอยู่ทีไหน เพราะปัจจุบันมีเมืองนาน้อยอ้อยหนูอยู่ถึงสามแห่ง ตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองแถงหรือปัจจุบันคือจังหวัดเดียนเบียนฟู แห่งที่สองอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองแถง และแห่งที่สามอยู่ห่างจากเมืองลอของเวียดนามประมาณ 10 กิโลเมตร
ชาวไทดำกับผู้ไทเป็นคนละชาติพันธุ์กัน นักภาษาศาสตร์สันนิษฐานว่า อพยพแยกจากกันนานกว่า 1,500 ปีมาแล้ว ในปัจจุบัน มีการจัดให้ภาษาผู้ไทเป็นกลุ่มย่อยของภาษาไทดำซึ่งไม่ถูกต้อง ผู้ไทอพยพจากนาน้อยอ้อยหนูไปอยู่ที่เมืองวังอ่างคำ ซึ่งคือเมืองวีระบุรี ในแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว ก่อนถูกกวาดต้อนมาอยู่ในดินแดนประเทศไทยเมื่อไม่ถึง 200 ปีมานี้ ผู้ไทที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงมีจำนวนไม่น้อย แต่ผู้ไทซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแถบแขวงสะหวันนะเขตและแขวงคำม่วนในลาว ก็ยังมีประปราย มักจะเรียกผู้ไททั้งสองกลุ่มนี้รวม ๆ กันว่า "ผู้ไทสองฝั่งโขง"
ผู้พูดภาษาผู้ไทในประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณจังหวัดภาคอีสานตอนบน ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์, นครพนม, มุกดาหาร, ร้อยเอ็ด และ สกลนคร นอกจากนี้ยังมีอีกเล็กน้อยในจังหวัดอุบลราชธานีและอุดรธานี โดยในแต่ละท้องถิ่นจะมีสำเนียงและคำศัพท์ที่แตกต่างกันไป
เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาษาผู้ไทแม้จะกระจายอยู่ในแถบอีสาน แต่สำเนียงและคำศัพท์นั้นแตกต่างกับภาษาไทยถิ่นอีสานโดยทั่วไป อย่างไรก็ตามยังมีคำยืมจากภาษาถิ่นอีสานอยู่ในภาษาผู้ไทบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ไม่นับว่ามาก ด้วยเหตุนี้ ชาวไทยที่พูดภาษาอีสานจึงไม่สามารถพูดหรือฟังภาษาผู้ไทอย่างเข้าใจโดยตลอด แต่ชาวผู้ไทส่วนใหญ่มักจะพูดภาษาอีสานได้
ภาษาผู้ไทมีสระเดี่ยว 9 ตัว หรือ 18 ตัวหากนับสระเสียงยาวด้วย โดยทั่วไปมีลักษณะของเสียงคล้ายกับสระในภาษาไทยถิ่นอื่น (เพื่อความสะดวก ในที่นี้ใช้อักษร อ ประกอบสระ เพื่อให้เขียนง่าย)
อนึ่ง ในภาษาผู้ไทมักไม่ใช้สระประสม นิยมใช้แต่สระเดี่ยวข้างบนนี้ ตัวอย่างคำที่ภาษาไทยกลางเป็นสระประสม แต่ภาษาผู้ไทใช้สระเดี่ยว