ภาษาบัลติ เป็นภาษาที่ใช้พูดในบัลติสถานทางเหนือของปากีสถานซึ่งเมื่อก่อน พ.ศ. 2491 เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดลาดัก ภาษานี้เป็นสำเนียงย่อยของภาษาลาดักที่ถือว่าเป็นสำเนียงของภาษาทิเบตอีกทีหนึ่ง เสียงพยัญชนะบางเสียงที่ไม่ออกเสียงในภาษาทิเบตสมัยใหม่ยังคงออกเสียงในภาษาบัลติ
บัลติสถานมาจากภาษากรีก Byaltae ที่มาจาก sBal-ti ซึ่งในภาษาทิเบตหมายถึงลำธาร ปโตเลมีได้กล่าวถึงดินแดนนี้ไว้ในประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เรียกดินแดนนี้ว่า Byaltae คำบัลติสถานมาจากภาษาเปอร์เซีย Baltiyul “บ้านเกิดของชาวบัลติ” ในสมัยของกษัตริย์มักโปน ชาวบัลติเคยเข้าไปรุกรานลาดัก ทิเบตตะวันออกรวมทั้งคลิกัตและชิตรัล เป็นการแสดงแสนยานุภาพทางทหาร ผู้ที่อยู่ในบัลติสถานแม้จะมีเผ่าพันธุ์ต่างกันก็เรียกว่าชาวบัลติทั้งสิ้น ชาวทิเบตเป็นกลุ่มใหญ่สุด มีประมาณ 60% ชาวบัลติอาศัยอยู่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำสินธุจากการ์กิลทางตะวันออกไปยังหรโมศทางตะวันตก และจากเทือกเขาการาโกรัมทางเหนือไปยังที่ราบคีโอไซทางใต้
ประชากรส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจากชาวทิเบต โดยประชากรเหล่านี้อพยพมาในเวลาต่างๆกันในอดีต ภาษาที่พูดเป็นสาขาของภาษาทิเบตโบราณ มีชาวชีนบางส่วนพูดภาษาชีนา รูปแบบปัจจุบันของภาษาบัลติได้อิทธิพลจากภาษาบูรุซักกี ภาษาตุรกีและภาษาอูรดู รวมทั้งได้อิทธิพลจากวรรณกรรมอิสลามภาษาเปอร์เซียด้วยทำให้มีความแตกต่างจากภาษาทิเบตที่เป็นต้นกำเนิดมากขึ้น
ภาษาบัลติใกล้เคียงกับภาษาทิเบตสำเนียงคามมากกว่าสำเนียงอูซังและอัมโด จึงเป็นไปได้ว่าชาวทิเบตที่เข้าสู่บัลติสถานมาจากแคว้นคาม นักวิชาการบางกลุ่ม เช่น Rever and H.A. Jascke ถือว่าภาษาบัลติเป็นสำเนียงตะวันตกสุดของภาษาทิเบต ไม่ถือเป็นภาษาเอกเทศต่างหาก
ภาษาบัลติเคยมีอักษรเป็นของตนเองเรียกอักษรบัลติ ซึ่งเป็นอักษรแบบเดียวกับอักษรทิเบต ต่อมาถูกแทนที่ด้วยอักษรอาหรับแบบอูรดูเมื่อราว พ.ศ. 2200
ปัจจุบันได้มีการสนับสนุนให้ชาวบัลติกลับมาใช้อักษรของตนเองเพื่อรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนไว้ อักษรชนิดนี้มีใช้หลังจากที่ชาวทิเบตประดิษฐ์อักษรของตัวเองขึ้น และแพร่เข้าสู่บัลติสถานเมื่อราว พ.ศ. 1270 ใช้ในงานเขียนทางศาสนาและเป็นอักษรราชการ จนเมื่อราว พ.ศ. 2100เมื่อราชวงศ์มักโปนมีอำนาจและมีความสัมพันธ์กับราชวงศ์โมกุลของอินเดีย ภาษาเปอร์เซียเข้ามามีบทบาทเหนือกว่าภาษาบัลติ และเมื่อบัลติสถานถูกรวมเข้ากับปากีสถาน เมื่อ พ.ศ. 2491 ภาษาอูรดูและภาษาอังกฤษเข้ามามีบทบาทมากจนแทบจะไม่มีการประดิษฐ์คำใหม่ในภาษาบัลติเลย โดยใช้คำจากภาษาอูรดูและภาษาอังกฤษแทน