ภาษาชอง (ชอง: พะซาช์อง) เป็นภาษาในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร สาขาย่อยเปียริก ใกล้เคียงกับภาษาสมราย ใช้พูดในหมู่ชาวชองในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด (ในอดีตมีในจังหวัดฉะเชิงเทรา เรียกว่า ภาษาป่า) มีผู้พูดทั้งหมด 5,500 คน ในกัมพูชามี 5,000 คน ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาระหว่างจังหวัดจันทบุรีของไทยกับจังหวัดโพธิสัตว์ของกัมพูชา ในไทยมีผู้พูดจำนวน 500 คนในจังหวัดจันทบุรีและตราด
เดิมทีภาษาชองไม่มีตัวอักษรสำหรับเขียน เนื่องจากเป็นภาษาที่ใช้พูดเท่านั้น แต่ในภายหลังก็มีการกำหนดให้ใช้อักษรไทยบางตัวเขียนภาษาชอง ซึ่งกำหนดโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล แล้วสะกดตามอักขรวิธีของภาษาไทย (การอ่านตามที่เขียนอาจไม่ถูกสำเนียงตามต้นฉบับ)
ต่อมาเฉิน ผันผาย อดีตกำนันตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ที่มีความพยายามในการรักษาอัตลักษณ์ชอง ได้คิดค้นระบบการเขียนใหม่ โดยศึกษาจากอักษรไทย, มอญ, เขมร และโรมัน ซึ่งได้รับคำแนะนำจากนักภาษาศาสตร์แคนาดาที่ออกแบบอักษรให้ใช้งานง่าย มีระบบการเขียนบรรทัดเดียวแบบภาษาอังกฤษ ไม่มีสระและวรรณยุกต์อยู่เหนือหรือใต้บรรทัด และมีความพยายามที่จะทำเป็นชุดแบบอักษร ในปี พ.ศ. 2553 มีผู้สามารถใช้อักษรนี้ได้ระดับคล่องแคล่ว 20 คน
สระ (เรียกว่า ซะระ) มี 24 เสียง ตามลำดับดังนี้ -ะ -า -ิ -ี เ-ะ เ- แ-ะ แ- -ึ -ือ เ-อะ เ-อ -ุ -ู โ-ะ โ- เ-าะ -อ เ-ีย เ-ือ -ัว -ำ ไ- เ-า และแปลงรูปสระเมื่อมีตัวสะกดอย่างภาษาไทย
ปัจจุบันภาษาชองกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต คนเฒ่าคนชาวแก่เสียดายที่ภาษาชองจะสูญหายไป ปัจจุบันมีชาวชองอาศัยถิ่นฐานเดิม ตำบลคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ(ปัจจุบันมีแหล่งที่พูดกันมากที่สุดในตำบลตะเคียนทอง) จังหวัดจันทบุรี ประมาณ 6,000 คน แต่ที่พูดได้มีเพียงประมาณ 500 คน โดยส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนวัยรุ่นชาวชองนั้นอายที่จะพูดภาษาดั้งเดิมประจำชาติพันธุ์ของตน
ขณะนี้มหาวิทยาลัยมหิดล พยายามจะฟื้นฟูโดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบันทึกเสียง และถอดภาษาพูดเป็นภาษาเขียน ให้โรงเรียนบ้านคลองพลูสอนภาษาชองให้กับลูกหลานชอง แทรกเป็นหลักสูตรท้องถิ่นในช่วงชั้น ประถมศึกษาปีที่ 3 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5