ภาษาแต้จิ๋ว (??) เป็นหนึ่งในตระกูลภาษาจีน หมิ่น-หนาน จัดเป็นหนึ่งในตระกูลภาษาของฮกเกี้ยน และ เป็นหนึ่งในภาษาที่พูดกันในภูมิภาคของจีน คำว่าแต้จิ๋วในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Teochew (Diojiu, Teochiu, Tiuchiu, Teochew เขียนสะกดหลากหลาย) หรือ Chaozhou (เฉาโจว อ่านตามภาษาจีนกลาง)
ภาษาแต้จิ๋วมีชื่อเรียกในประเทศจีนแตกต่างกันหลายอย่างเดิมนิยมเรียกว่า เตี่ยจิวอ่วย หรือ เฉาซ่านฮว่า (ภาษาจีนกลาง) หมายถึงภาษาพูดถิ่นแต้จิ๋ว ต่อมาเมื่อเมืองซัวเถาเจริญรุ่งเรื่องขึ้นเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเมืองแทนเมืองแต้จิ๋ว คนต่างถิ่นจึงนิยมเรียกภาษานี้ว่า ซ่านโถวฮว่า หรือ ซัวเถาอ่วย ในภาษาแต้จิ๋ว หมายถึงภาษาพูดถิ่นซัวเถา ต่อมานิยมเรียกว่า เฉาซ่านฮว่า (เตี่ยซัวอ่วย) หมายถึง ภาษาพูดถิ่นแต้จิ๋ว-ซัวเถา เพื่อให้ครอบคลุมท้องถิ่นที่พูดภาษานี้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในแวดวงวิชาภาษาศาสตร์และภาษาถิ่นจีนนิยมเรียกว่า เฉาซ่านฟางเอี๋ยน (เตี่ยซัวฮวงงั้ง) หมายถึงภาษาถิ่นแต้จิ๋ว อีกชื่อหนึ่งที่นิยมใช้เป็นภาษาหนังสือเรียกภาษาถิ่นนี้คือ เฉาอี่ว์ (เตี่ยงื่อ) หมายถึงภาษาของจีนแต้จิ๋วหรือภาษาแต้จิ๋วนั่นเอง
มีอีกชื่อหนึ่งที่ชาวจีนแคะใช้เรียกภาษานี้จนเป็นที่รู้จักคือภาษาฮกล่อ (ภาษาแคะว่า ฮอล่อว้า) เนื่องจากคำว่าฮกล่อเป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์แต้จิ๋วที่แพร่หลายอีกชื่อหนึ่ง
ภาษาแต้จิ๋วในปัจจุบัน เป็นภาษาที่พัฒนามาจากภาษาจีนโบราณของตระกูลหมิ่นหนาน เมื่อประมาณ คริตศตวรรษ ที่ 9 จนถึง ที่ 15 มีกลุ่มชาว หมิ่น (หมิ่น) ได้อพยพลงใต้จากมณฑลฝูเจี้ยน (หรือฮกเกี้ยน) มาที่ทางตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง ในเขตที่เรียกว่า เฉาซั่น การอพยพดังกล่าวมีสาเหตุมาจากประชากรที่มากขึ้นในมณฑลฝูเจี้ยน
เนื่องจากภูมิประเทศใหม่ที่ค่อนข้างตัดขาดจากมณฑลฮกเกี้ยนเดิม และการได้รับอิทธิพลจากภาษากวางตุ้งและแคะ ภาษาแต้จิ๋วจึงได้กลายมาเป็นภาษาเอกเทศในภายหลัง ภาษาแต้จิ๋วนั้นจะพูดในเขตที่เรียกรวมกันว่า "เฉาซั่น" ซึ่งมีเมืองแต้จิ๋ว (หรือ เฉาโจว ในภาษาจีนกลาง) และซัวเถา (หรือ ซั่นโถว ในภาษาจีนกลาง) เป็นหลัก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "เฉาซั่น" ดังกล่าว นอกจากนั้น ยังพูดกันในเมืองเจียหยาง เฉาหยาง ผู่หนิง เฉาอัน เร่าผิง ฮุยไหล และ เฉิงไห่
เขตเฉาซั่นเคยเป็นเขตหนึ่งที่มีคนจีนอพยพออกนอกประเทศเป็นอันมากไปยังเอเซียอาคเนย์ในคริสต์ศตวรรษที่18-20 ซึ่งทำให้ภาษาแต้จิ๋วเป็นภาษาหลักหนึ่งในภาษาที่พูดกันมากในกลุ่ม ชาวจีนอพยพ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย กัมพูชา สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ฮ่องกง และยังมีในทวีปยุโรป และ ทวีปอเมริกา ที่มีชาวจีนแต้จิ๋วอพยพไป
อย่างไรก็ตาม ในยุคโลกาภิวัตน์นั้นภาษาแต้จิ๋วได้ลดความนิยมลงไปมากในหมู่ชาวแต้จิ๋ว เช่น ในสิงคโปร์ เยาวชนที่เดิมพูดแต้จิ๋วได้เปลี่ยนไปพูดภาษาอังกฤษ ภาษาจีนกลาง และ ฮกเกี้ยนมากขึ้น เนื่องจากวัฒนธรรมส่วนใหญ่และอิทธิพลของสื่อสารมวลชน แต่โดยรวมแล้วภาษาแต้จิ๋วก็ยังคงเป็นภาษาที่พูดกันในหมู่คนจีนในสิงคโปร์เป็นอันดับสองรองจากภาษาฮกเกี้ยน ถึงแม้ว่าภาษาจีนกลางกำลังเข้ามาแทนที่ภาษาท้องถิ่นเหล่านี้ในฐานะภาษาแม่ในหมู่เยาวชนยุคใหม่ก็ตาม
อักษรละตินตัวเอนหมายถึงอักษรที่นิยมใช้ทับศัพท์แทนเสียง อักษรไทยในวงเล็บคือเสียงอักษรที่ใกล้เคียง
เสียงสระอาจเป็นเสียงสั้นหรือเสียงยาวก็ได้ แต่สำหรับเสียงสระ+สะกดกักแสดงด้วยเสียงสั้นเท่านั้น คล้ายวิธีอ่านสระเสียงสั้นในภาษาไทย สระขึ้นจมูกมิได้หมายความว่าสะกดด้วย น แต่เวลาออกเสียงสระให้ปล่อยลมทางจมูกด้วย
เสียงวรรณยุกต์มีสองกลุ่มคือ อิม (? หรือหยิน) กับ เอี๊ยง (? หรือหยาง) กลุ่มละสี่เสียง รวมแปดเสียง เสียงสระ+สะกดกักจะมีเสียงวรรณยุกต์ 4 หรือ 8 เท่านั้น
ภาษาจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยส่วนใหญ่มีภาษาใกล้เคียงกับคนแต้จิ๋วแถบเมืองเตี่ยอังและเถ่งไห้ ซึ่งมีลักษณะเสียงที่นุ่มนวลไม่แข็งกระด้างเช่นถิ่นอื่น อีกทั้งภาษาพูดของชาวแต้จิ๋วในประเทศไทยก็ไม่เหน่อเช่นคนแต้จิ๋วในจีนพูดกัน หากเป็นรุ่นลูกรุ่นหลานที่เกิดในไทย ก็จะยิ่งเห็นความแตกต่างกันในเรื่องภาษาพูดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ภาษาแต้จิ๋วจะยึดภาษาเมืองเตี่ยอังเป็นเกณฑ์ ส่วนชาวแต้จิ๋วในไทยรุ่นแรกใช้ภาษาเมืองเถ่งไห้ แต่ทั้งสองภาษานี้คล้ายกันมาก จนแทบไม่มีความแตกต่างกัน จึงอาจถือได้ว่าภาษาจีนแต้จิ๋วในไทยมีความเป็นเอกภาพมากกว่าภาษาแต้จิ๋วในประเทศจีนเสียอีก
ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศมหาอำนาจได้แบ่งโลกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ทุนนิยม และคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนแผ่นดินใหญ่จึงถูกตัดขาดมานานกว่า 30 ปี ส่งผลให้ชาวจีนในไทยแทบไม่มีโอกาสติดต่อไปมาหาสู่กับญาติพี่น้องได้ ทำให้เกิดวิวัฒนาการทางด้านภาษาของจีนในไทย โดยภาษาจีนในไทยยังคงลักษณะดั้งเดิมก่อนทศวรรษ 1950 แต่อย่างไรก็ตามภาษาจีนในไทยเองก็ได้รับอิทธิพลของภาษาไทยมากขึ้น ทำให้ภาษาแต้จิ๋วในไทยแตกต่างกับภาษาแต้จิ๋วในจีน
ภาษาแต้จิ๋วในไทยยังมีการใช้คำศัพท์เก่า ในขณะที่ภาษาแต้จิ๋วในจีนไม่มีใช้ ไม่ได้ใช้ หรือใช้กันน้อยมากจนแทบหายไปจากการประมวลคำ ภาษาแต้จิ๋วในไทยและจีนมีคำศัพท์ที่ต่างกันมากมายหลายสิบคำ และมีคำหลาย ๆ คำที่ภาษาแต้จิ๋วในไทยมีใช้กัน ขณะที่ภาษาแต้จิ๋วในจีนไม่ใช้ เช่น แขะจั่ง (??) — โรงแรม, เอี่ยฮั้ง (??) — ห้างสรรพสินค้า, เถ่าแก (??) — เจ้าของกิจการ, เถ่าแกเนี้ย (???) — ภรรยาของเจ้าของกิจการ, อาเสี่ย (??) — ลูกคนรวย, อาเสี้ยเนี้ย (???) — ภรรยาของลูกคนรวย, เซ้ง (?)—รับโอนกรรมสิทธิ์, เชียอู่ (??) — อู่ซ่อมรถ, ยัวะ (?)—ร้อน, กาเชีย (??) — ขับรถ ฯลฯ
ภาษาแต้จิ๋วในไทยยังรับเอาเสียงและความหมายจากภาษาอื่นมาใช้ในภาษาของตนเอง เช่น แพทย์—หมอ, แม่ค้า—แมค่า, ตลาด—ตั๊กลั๊ก, วัด—อวก, จักรยานยนต์—มอตอไซ, เครื่องปรับอากาศ—แอ, ลิฟต์—ลิบ, ขวด—ก๊วก, กะปิ—กั้บติ๊, ชมพู่—เจียมผุ ฯลฯ
ภาษาแต้จิ๋วในไทยมีคำใช้ที่ใช้เฉพาะภาษาแต้จิ๋วในไทยเท่านั้น แต่คนแต้จิ๋วในจีนไม่นิยมใช้หรือไม่มีใช้กันอาทิเช่น แปะเจี้ย—เงินกินเปล่าที่แลกกับสิทธิบางประการ, โต่ยจี๊—การบริจาคเงินเพื่อการกุศลด้วยจิตศรัทธา, จ่อซัว—คนรวยมั่งมีเงินทอง (เจ้าสัว), เจี๊ยะฮวงฉู่—บ้านพักตากอากาศต่อมาได้ขยายความเป็นบ้านเดี่ยวหรูหราตามชานเมือง, ซึงกาเกี้ย หรือ ซึงกา—มะนาว, ซึงตู๊—ตู้เย็น, ซัวปา—คนต่างจังหวัดนอกกรุงเทพฯ, ซัวปานั้ง—พวกบ้านนอก, เค้กเกี้ย—แขกอินเดีย—ปากีสถาน, เหลาเกี้ย—ชาวอีสานและชาวลาว