กลุ่มภาษาอินโด-อารยัน เป็นสาขาย่อยของกลุ่มภาษาอินโด-อิหร่าน ตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน จากรายงานในพ.ศ. 2548 กลุ่มภาษาอินโด-อารยันมีความแตกต่างกันถึง 209 แบบ มีจำนวนผู้พูดเป็นภาษาแม่มาก ได้แก่ ภาษาฮินดูสถาน (ภาษาฮินดีและภาษาอูรดูรวม 540 ล้านคน) ภาษาเบงกาลี (ราว 200 ล้านคน) ภาษาปัญจาบ (ราว 100 ล้านคน) ภาษามราฐี (ราว 90 ล้านคน) ภาษาคุชราต (ราว 45 ล้านคน) ภาษาเนปาล (ราว 40 ล้านคน) ภาษาโอริยา (ราว 30 ล้านคน) ภาษาสินธี (ราว 20 ล้านคน) และ ภาษาอัสสัม (ราว 14 ล้านคน) รวมมีผู้พูดเป็นภาษาแม่มากกว่า 900 ล้านคน
หลักฐานเริ่มแรกของกลุ่มภาษานี้เริ่มจากภาษาพระเวทที่ใช้เขียนคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ในสมัยโบราณ เมื่อราว 3,457 ปีก่อนพุทธศักราช ภาษาสันสกฤตได้ถูกปรับปรุงและจัดมาตรฐานโดยปาณินี เรียกว่าภาษาสันสกฤตคลาสสิก ในแบบเดียวกับภาษาปรากฤตหลากหลายสำเนียงได้ถูกพัฒนาขึ้นมาในยุคกลาง ภาษาปรากฤตได้เกิดความหลากหลายกลายเป็นสำเนียงต่างๆมากมาย ในอินเดียยุคกลางตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่ 11 - 18 บางสำเนียงได้มีการใช้ในวรรณกรรม
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อมาคือการรุกรานอินเดียของชาวมุสลิมในพุทธศตวรรษที่ 18-21 ในยุคจักรวรรดิโมกุล ภาษาเปอร์เซียเป็นภาษาที่มีอิทธิพลมาก ต่อมาจึงถูกแทนที่ด้วยภาษาอูรดู ซึ่งเป็นภาษาในกลุ่มอินโด-อารยัน ที่ใช้ศัพท์จากภาษาเปอร์เซีย แต่ใช้ไวยากรณ์แบบภาษาท้องถิ่น ภาษาหลักๆที่เข้ามาแทนที่ภาษาในยุคกลางได้แก่ ภาษาเบงกาลีและภาษาฮินดี ภาษาอื่นๆได้แก่ ภาษาคุชราต ภาษาโอริยา ภาษามราฐี และภาษาปัญจาบ
ในหมู่ผู้พูดภาษาฮินดี รูปแบบหลักคือภาษาพรัชที่เคยใช้พูดในปัจจุบัน และถูกแทนที่ด้วยภาษาขาริโพลีในพุทธศตวรรษที่ 24 คำศัพท์ที่ในภาษาพูดของภาษาฮินดีส่วนใหญ่มาจากภาษาเปอร์เซียและภาษาอาหรับ จนกระทั่งการแบ่งแยกอินเดียใน พ.ศ. 2490 ภาษาฮินดูสถาน (อูรดู) ถูกแทนที่ด้วยภาษาฮินดีมาตรฐานซึ่งเป็นภาษาราชการของอินเดีย ศัพท์บางส่วนที่มาจากภาษาเปอร์เซียและภาษาอาหรับถูกแทนที่ด้วยศัพท์จากภาษาสันสกฤตเพื่อทำให้เป็นอินเดียมากขึ้น
ความแตกต่างระหว่างภาษาในกลุ่มนี้ไม่ชัดเจน จึงไม่มีการแบ่งแยกที่เป็นมาตรฐาน โดยทั่วไปนิยมจัดแบ่งดังนี้