ภาษาในความหมายอย่างกว้าง หมายถึง กริยาอาการที่แสดงออกมาแล้วสามารถทำความเข้าใจกันได้ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสัตว์ หรือสัตว์กับสัตว์ ส่วนภาษาในความหมายอย่างแคบนั้น หมายถึง เสียงพูดที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันเท่านั้น
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2542 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า ภาษา ไว้ว่า "ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ เช่น ภาษาราชการ ภาษากฎหมาย ภาษาธรรม; เสียง ตัวหนังสือ หรือกิริยา; อาการที่สื่อความได้ เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง ภาษามือ"
วิชาที่ว่าด้วยการศึกษาภาษาในแง่ต่าง ๆ เรียกว่า "ภาษาศาสตร์" เริ่มบุกเบิกโดยแฟร์ดินอง เดอ โซซูร์ (Ferdinand de Saussure) บุคคลที่พูดภาษาใดก็ตาม ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเชิงภาษาศาสตร์ของภาษานั้น ๆ
คำว่า "ภาษา" ในภาษาไทยนั้น มาจากภาษาบาลี ภาสา และ ภาษาสันสกฤต ภาษา อย่างไรก็ตาม ในภาษากลุ่มไท-กะไดอื่นที่มีคำศัพท์บาลีและสันสกฤตน้อยกว่าภาษาไทยนั้น มักใช้คำที่มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า "ความ" ในภาษาไทย เช่น ภาษาไทใหญ่ใช้ กว๊าม (??????) "ภาษา, "คำ" และ กว๊ามล๊าว (???????????) "ภาษาลาว", ภาษาถิ่นพายัพใช้ กำ (คำ) "ภาษา, คำ" และ กำไท (คำไธ) "ภาษาไทย", ภาษาไทดำใช้ กว๊าม (????) "ภาษา, คำ" และ กว๊ามแกว (???) "ภาษาเวียดนาม", และภาษาไทลื้อใช้ ก๊ำ (???) "ภาษา, คำ" และ ก๊ำไถ่ (??) "ภาษาไทย" เป็นต้น ดั่งนั้น หากคำว่า "ความ" ในภาษาไทยยังมีการใช้เหมือนภาษาตระกูลไท-ไตดั่งกล่าว "ความไทย" ควรแปลว่า "ภาษาไทย"
ภาษามนุษย์หรือเรียกว่าภาษาธรรมชาติ และอยู่ในเนื้อหาของวิชาภาษาศาสตร์ ภาษามนุษย์โดยทั่วไปเชื่อว่ามีพัฒนาการเริ่มแรกสำหรับใช้ในการพูด หลังจากนั้นจึงถูกนำมาใช้ในการเขียน และได้มีการทำการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจหลักไวยากรณ์
ภาษาต่าง ๆ มีการดำรงชีวิต เดินทางจากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง มีการเปลี่ยนแปลงไปกับเวลา และตายไป ภาษาใด ๆ ที่หยุดการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงจะถูกจัดให้เป็นภาษาตาย ส่วนภาษาที่ยังคงมีสภาวะไม่หยุดนิ่งหรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องก็จัดเป็นภาษาที่ยังมีชีวิต