ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (อังกฤษ: Great Depression) เป็นเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่เกิดในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป ในปี ค.ศ. 1929 หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และขยายวงไปยังนานาประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่ได้ประสบผลกระทบไปด้วย จนเกิดการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1932[ต้องการอ้างอิง] ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปซึ่งประสบความเสียหายจากภัยพิบัติของสงครามบูรณะฟื้นฟูประเทศ และระบอบเศรษฐกิจให้กลับเข้าสู่ปกติได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการผลิตของเศรษฐกิจภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและการบริการ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นซึ่งไม่ได้รับความเสียหายจากสงครามมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ก็มีส่วนช่วยให้ประเทศยุโรปฟื้นตัวได้เร็ว เพราะจัดส่งสินค้าและสิ่งจำเป็นในการฟื้นฟูระบบการผลิตและอุตสาหกรรม รวมทั้งให้สินเชื่อและเงินช่วยเหลือจำนวนมากแก่ประเทศต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก็เป็นระยะเวลาอันสั้น ทั้งนี้เพราะการขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกาเป็นเพียงการสร้างภาพแก่นักลงทุนในแต่ละปีหุ้นมีราคาสูงขึ้นประมาณร้อยละ 22 ดัชนีหุ้นสามัญเพิ่มขึ้นจาก 100 ใน ค.ศ. 1926 เป็น 225 ใน ค.ศ. 1929 ทำให้คนหันมาลงทุนในตลาดหุ้นมาก เพราะหวังผลกำไรในระยะเวลาอันสั้นแต่เมื่อเศรษฐกิจของประเทศเริ่มประสบปัญหาเพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลง การกู้ยืมมีมากและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ความต้องการในสินค้าเริ่มลดลงจนทำให้ผู้ประการงดลงทุนเพราะเกรงว่าสินค้าที่ผลิตจะจำหน่ายไม่หมด
ตั้งแต่ ค.ศ. 1925 เป็นต้นมา ราคาหุ้นจึงแกว่งตัวขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างรุนแรง นักธุรกิจและธนาคารซึ่งไม่มั่นใจในตลาดหุ้นจึงพยายามเรียกคืนหนี้สินที่ปล่อยกู้ไปราคาหุ้นจึงดิ่งลงเรื่อยๆ จนตลาดหุ้นที่วอลสตรีท นครนิวยอร์ก ล้มลงเมื่อวันอังคารที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1929 เหตุการณ์ดังกล่าวต่อมาเรียกว่าอังคารทมิฬ (Black Tuesday) ความเสียหายทางการเงินครั้งนี้ไม่เพียงทำให้เกิดหนี้เสียจำนวนมากจนธนาคารหลายพันแห่งต้องล้มลงและมูลค่าความเสียหายมากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ แต่ยังนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาและขยายตัวไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็วภายในเวลาอั้นสั้น
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่