ภาพเหมือนผู้อุทิศ หรือ ภาพรวมผู้อุทิศ (อังกฤษ: donor portrait หรือ votive portrait) คือภาพเหมือนในจิตรกรรมหรืองานศิลปะแบบอื่นเช่นประติมากรรมที่แสดงภาพของเจ้าของภาพหรือผู้จ้างให้สร้างงานศิลปะชิ้นนั้นที่อาจจะรวมทั้งครอบครัว และญาติพี่น้องของผู้จ้าง หรือกลุ่มคนที่เกี่ยวกับผู้จ้างด้วย
“ภาพรวมผู้อุทิศ” (votive portrait) มักจะภาพทั้งภาพที่รวมทั้งภาพหลักและผู้อุทิศที่อยู่ในภาพ แต่ “ภาพเหมือนผู้อุทิศ” (donor portrait) มักจะหมายถึงภาพเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับผู้อุทิศเท่านั้น
“ภาพเหมือนผู้อุทิศ” เป็นที่นิยมกันในการสร้างศิลปะคริสต์ศาสนา โดยเฉพาะในงานจิตรกรรมจากยุคกลาง และยุคเรอเนสซองซ์ที่มักจะแสดงผู้อุทิศคุกเข่าอยู่ทางด้านหน้าสองข้างของภาพ และบ่อยครั้งที่แม้แต่ในตอนปลายของยุคเรอเนสซองซ์ที่ผู้อุทิศโดยเฉพาะเมื่อแสดงทั้งครอบครัวจะมีขนาดเล็กกว่าตัวเอกในภาพมากที่ขัดกับทฤษฎีการวาดทัศนมิติ เมื่อมาถึงยุคเรอเนสซองซ์ผู้อุทิศก็เริ่มมีความสำคัญขึ้นและกลายเป็นส่วนสำคัญของภาพที่อาจจะเป็นผู้เห็นเหตุการณ์หรือบางครั้งก็อาจจะเป็นผู้ร่วมเหตุการณ์ไปเลยก็ได้
จุดประสงค์ของภาพเหมือนผู้อุทิศก็เพื่อสร้างอนุสรณ์สำหรับผู้อุทิศและครอบครัว แสดงว่ายังคงสามารถแสดงความสักการะได้แม้ว่าหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว สิ่งที่อุทิศเช่นตัวคริสต์ศาสนสถาน, ฉากแท่นบูชา หรือหน้าต่างประดับกระจกสี มักจะรวมทั้งเงินบริจาคจำนวนหนึ่งให้มีผู้สวดมนต์ให้ผู้อุทิศแม้ว่าหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว การมีภาพเหมือนของผู้อุทิศจึงเป็นการเพิ่มแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่จะมาสวดมนต์ให้ นอกจากนั้นการมีภาพเหมือนก็ยังเป็นการแสดงความมีหน้ามีตาในสังคมด้วย ภาพเหมือนผู้อุทิศคล้ายคลึงกับการมีอนุสรณ์ผู้ตายในวัด แต่ที่ต่างกันตรงที่ผู้อุทิศของ “ภาพเหมือนผู้อุทิศ” สามารถเห็นภาพเหมือนของตนเองในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ได้
ถ้าผู้บริจาคถวายเงินสร้างสำหรับสิ่งก่อสร้างทั้งหลังหรือมีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างก็อาจจะมีประติมากรรมของผู้อุทิศอยู่หน้าวัดหรือที่ใดที่หนึ่งภาพในตัววัด และมักจะเป็นภาพอุ้มรูปจำลองของสิ่งก่อสร้าง “พระแม่มารีโรแลง” โดย ยาน ฟาน เอคเป็นภาพเขียนขนาดเล็กที่ผู้อุทิศ นิโคลาส์ โรแลง (Nicolas Rolin) ร่วมอยู่ในภาพในบริเวณเดียวกับพระแม่มารี โรแลงบริจาคเงินจำนวนมากให้แก่วัดที่ภาพเขียนตั้ง ฟาน เอคแสดงให้เห็นจากภาพวัดในภูมิทัศนเมืองในฉากหลังไกลออกไปเหนือมือที่สวดมนต์ของโรแลง
ในบางครั้งเช่นใน “ฉากแท่นบูชาเก้นท์” ของยาน ฟาน เอค ผู้อุทิศปรากฏอยู่บนบานพับภาพเมื่อปิด หรือผู้อุทิศอาจจะปรากฏอยู่บนบานสองข้างที่ขนาบแผงกลางเช่นใน “ฉากแท่นบูชาพอร์ตินาริ” (Portinari Altarpiece ) โดยฮูโก ฟาน เดอร์ โกส์ หรือในงานบานพับภาพ “ฉากแท่นบูชาเมโรด” (Merode Altarpiece) โดยโรแบร์ต แคมแพงที่ผู้อุทิศปรากฏอยู่ด้านเดียว ถ้าผู้อุทิศปรากฏสองด้านฝ่ายชายมักจะอยู่ด้านซ้ายของผู้ชมเพราะเป็นด้านที่ถือว่ามีเกียรติในการวางภาพเขียน ในการวางภาพครอบครัวมักจะแยกฝ่ายชายจากฝ่ายหญิง บางครั้งผู้อุทิศอาจจะเป็นกลุ่มภราดรภาพ และบางครั้งจะปรากฏกับครอบครัวด้วย
“ภาพรวมผู้อุทิศ” สามารถมีการเพิ่มเติมได้ในภายหลัง เช่นเมื่อมีสมาชิกในครอบครัวเพิ่มขึ้นจากการแต่งงานหรือการมีบุตร และบางครั้งก็อาจจะบ่งการเสียชีวิตโดยเขียนกางเขนเล็กๆ ในมือของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วก็ได้
บางครั้งทางตอนเหนือของอิตาลีก็จะพบจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นภาพของนักบุญองค์เดียวกับผู้อุทิศบนผนังด้านข้างของคริสต์ศาสนสถาน ที่อาจจะเป็นการเขียนทับของเดิมที่ไม่มีใครมาจุดเทียนสวดมนต์ให้แล้ว เพื่อทำที่สำหรับผู้มาใหม่ที่ต้องการจะมีภาพผู้อุทิศก็เป็นได้
“เมื่อเดินตามนายช่างหินเพื่อตรวจดูว่าภาพใดควรทิ้งเอาไว้ภาพใดควรลบออก นักบวชมองไปเห็นภาพนักบุญแอนโทนีแล้วกล่าวว่า “เก็บอันนี้ไว้” แล้วก็เดินต่อไปจนพบภาพนักบุญซาโนนักบวชก็กล่าวว่า “ลบอันนี้ออก ไม่เห็นใครมาจุดเทียนให้ตั้งนานแล้ว และไม่เห็นมีประโยชน์อะไรกับใคร นายช่างกำจัดเสียเถอะ”
การวาดภาพเหมือนผู้อุทิศมีมาตั้งแต่ปลายสมัยกรีกโรมันราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 ภาพเหมือนในงานเขียน “ไดโอสโคริดีสฉบับเวียนนา” (Vienna Dioscurides) โดยนายแพทย์กรีกเพดานิอุส ไดโอสโคริดีส (Pedanius Dioscorides) ในคริสต์ศตวรรษที่ 6 อาจจะเป็นงานเขียนที่สะท้อนให้เห็นการริเริ่มการเขียนภาพผู้อุทิศทรัพย์ให้เขียนหนังสือในหนังสือเล่มเดียวกันนั้น ประเพณีอีกอย่างหนึ่งที่เริ่มมาก่อนหน้านั้นคือภาพของเจ้านายกับบุคคลในศาสนาที่มักจะเป็นพระเยซูหรือพระแม่มารีในทำนองเดียวกับภาพของคริสต์ศาสนา แม้จะไม่มีหลักฐานเหลือให้ชมแต่ก็ยังมีข้อเขียนที่กล่าวถึงเกี่ยวกับภาพเหมือนผู้อุทิศในชาเปลเล็กจากสมัยคริสเตียนตอนต้น ธรรมเนียมนี้อาจจะทำกันต่อมาในวัดของผู้นอกศาสนา ต่อมาก็เริ่มเผยแพร่เข้ามาในสังคมของผู้นับถือคริสต์ศาสนา โดยเฉพาะในการเขียนหนังสือวิจิตรที่มักจะมีภาพเหมือนของเจ้าของ ในสมัยต้นยุคกลาง บาทหลวง, หลวงพ่อ และนักบวชอื่นๆ มักจะปรากฏในภาพเขียนทางศาสนาแทนที่จะเป็นภาพเจ้านาย และเป็นภาพที่ยังเขียนกันมากในสมัยต่อมา
ภาพเหมือนผู้อุทิศของขุนนางและนักธุรกิจผู้มีฐานะเริ่มจะเป็นที่นิยมกันในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในขณะเดียวกับที่ชนชั้นเดียวกันนี้เริ่มจ้างให้ช่างเขียนภาพเหมือนของตนเอง แต่ภาพที่หลงเหลืออยู่จากจากก่อน ค.ศ. 1450 มักจะเป็นภาพเหมือนของผู้อุทิศที่พบในคริสต์ศาสนสถานเสียมากกว่าที่จะเป็นจิตรกรรมแผงของภาพเหมือนส่วนบุคคล ภาพเหมือนผู้อุทิศที่พบโดยทั่วไปในศิลปะแบบเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 มักจะเป็นบานพับภาพสองของพระแม่มารีและพระบุตรบนแผงซ้ายและ “ผู้อุทิศ” บนแผงขวา - ผู้อุทิศในกรณีนี้คือเจ้าของภาพ และเป็นภาพที่มักจะเขียนสำหรับการเก็บไว้สักการระในบ้านเรือน ในภาพเหมือนเหล่านี้ผู้อุทิศมักจะอยู่ในท่าสวดมนต์ หรืออาจจะวางท่าเช่นเดียวกับการวางท่าสำหรับภาพเหมือนที่ไม่ใช่ภาพเหมือนทางศาสนา เช่นใน “ฉากแท่นบูชาวิลทัน” ที่สมเด็จพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ ทรงเป็นผู้อุทิศในภาพ ในบานพับภาพสองบางภาพภาพเหมือนของเจ้าของเดิมอาจจะถูกเขียนทับเป็นเจ้าของใหม่ก็ได้
ประเพณีอย่างหนึ่งของการเขียนหนังสือวิจิตรก็คือการ “การมอบภาพเหมือน” ซึ่งเป็นการเริ่มหนังสือด้วยภาพที่มักจะเป็นภาพผู้คุกเข่า “มอบ” หนังสือให้แก่เจ้าของหรือผู้จ้างให้เขียนหนังสือ ผู้ที่ “มอบ” อาจจะเป็นข้าราชสำนักผู้มอบหนังสือเป็นของขวัญแก่เจ้านาย แต่โดยทั่วไปแล้วจะเป็นนักประพันธ์/จิตรกร หรือผู้คัดหนังสือ ซึ่งในกรณีนี้ผู้รับเป็นผู้จ่ายค่าสร้างหนังสือ
ในยุคกลางผู้อุทิศมักจะมีขนาดเล็กกว่าบุคคลหลักในภาพมาก แต่เดิร์ค ค็อคซ์เริ่มสังเกตว่าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในคริสต์ศตวรรษ 14 แต่ก็มีตัวอย่างที่พบที่เริ่มในหนังสือมาก่อนหน้านั้น การเขียนในสมัยต่อมาขนาดผู้อุทิศมักจะมีขนาดราวสามในสี่ของบุคคลหลักในภาพ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษ 15 ในสมัยจิตรกรรมยุคเนเธอร์แลนด์ตอนต้น จิตรกรเช่นยาน ฟาน เอครวมภาพเหมือนผู้อุทิศเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภาพโดยมีขนาดเท่าเทียมกับบุคคลหลักในภาพ
ลักษณะคล้ายคลึงกันก็พบในการเขียนภาพของฟลอเรนซ์ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน เช่นในงานเขียน “ตรีเอกานุภาพ” โดยมาซาชิโอ ที่เขียนระหว่างปี ค.ศ. 1425-1428 ในบาซิลิกาซานตามาเรียโนเวลลา แต่ผู้อุทิศยังคุกเข่าบนบันไดนอกบริเวณหัวใจของภาพ แต่การวิวัฒนาการนี้ไม่ปรากฏในงานเขียนของเวนิสจนกระทั่งร้อยปีหลังจากนั้น ตามปกติแล้วบุคคลหลักในภาพมักจะไม่แสดงความสนใจกับผู้อุทิศ แต่นักบุญผู้เป็นผู้ร่วมเหตุการณ์อาจจะวางมือบนไหล่ผู้อุทิศบนบานข้างก็ได้ แต่ในหัวข้อการเขียนการชื่นชมเช่นในภาพพระแม่มารีและพระบุตรซึ่งมักจะเป็นหัวเรื่องการวาดสำหรับการใช้ภายในที่อยู่อาศัยของผู้อุทิศ บุคคลหลักในภาพอาจจเปรยตาให้หรือประทานพรให้แก่ผู้อุทิศเช่นในภาพที่เขียนโดยฮันส์ เม็มลิง
ก่อนคริสต์ศตวรรษ 15 จิตรกรก็อาจจะไม่ได้พยายามเขียนภาพให้เหมือนผู้อุทิศจริงๆ เพราะผู้อุทิศอาจจะไม่มีเวลามานั่งเป็นแบบให้จิตรกรหรือผู้อุทิศอาจจะเสียชีวิตไปแล้วก็ได้ แต่เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษ 15 วิธีภาพเหมือนผู้อุทิศก็เปลี่ยนไป ภาพผู้อุทิศที่ยังเหลืออยู่จะเห็นได้ว่าผู้อุทิศตั้งอกตั้งใจวางท่าให้จิตรกรเขียนอย่างจริงจัง
ผู้อุทิศเริ่มจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพที่อาจจะริเริ่มโดยโรเจียร์ ฟาน เดอ เวย์เด็น ที่จะสังเกตได้จากการแต่งตัวที่หรูและมีราคาของผู้อุทิศ ในฟลอเรนซ์ภาพเหมือนของบุคคลสำคัญๆ ในหมู่คนที่เห็นเหตุการณ์เริ่มเขียนกันแล้วในภาพเหตุการณ์ที่ประกอบด้วยชุมชน (ที่กล่าวถึงโดยลีออน บาตติสตา อัลเบอร์ติ) ในภาพ “ขบวนแมไจ” โดยเบนนอซโซ กอซโซลิ (ค.ศ. 1459-1461) ที่อยู่ในชาเปลส่วนตัวในวังเมดิชิ ที่เป็นขบวนอันหรูหราของบุคคลสำคัญๆ ของตระกูลเมดิชิและพรรคพวก ภายในปีค.ศ. 1490 เมื่อโดเมนนิโค เกอร์ลันเดาเขียนจิตรกรรมฝาผนังในชาเปลทอร์นาบุโอนิเสร็จก็ได้เห็นภาพเหมือนของสมาชิกของตระกูลทอร์นาบุโอนิและพรรคพวกในหลายฉากที่เขียนและมิได้เป็นแต่ภาพคุกเข่าเช่นภาพเหมือนของจิโอวานนิ ทอร์นาบุโอนิเองและภรรยา
การเขียนภาพเหมือนผู้อุทิศได้รับการเสียดสีในบทที่มักจะอ้างถึงกันของจอห์น โพพ-เฮนเนสซีที่แพร่หลายในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่กล่าวถึงผู้อุทิศชาวอิตาลีว่า:
“การเขียนภาพเหมือนผู้อุทิศก็มากขึ้นมากขึ้นทุกวัน ...ความมีหน้ามีตาในสังคมและการมีภาพเหมือนพัวพันกันจนแยกไม่ออก, และไม่มีอะไรที่ผู้อุทิศจะไม่ยอมทำในการที่จะเบียดตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภาพ ไม่ว่าจะให้เป็นคนขว้างก้อนหินไปยังผู้หญิงที่ถูกจับได้ว่านอกใจ หรือให้เป็นคนทำความสะอาดหลังจากการพลีชีพ หรือเป็นคนเสิร์พอาหารที่โต๊ะในภาพพระกระยาหารค่ำที่เอ็มมัส... ภาพชายแก่ในเรื่องซูซานาห์เห็นจะเป็นเพียงไม่ภาพกี่ภาพเท่านั้นแหละที่ผู้ที่มีหน้ามีตาในสังคมเวนิสไม่ยอมเป็นแบบให้ ...สิ่งที่ผู้อุทิศไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ก็คือหน้าตาของเขาเหล่านั้นยังคงมีให้เราดูแต่ชื่อนั้นหายสาปสูญกันไปหมดแล้ว”
ในอิตาลีผู้อุทิศหรือเจ้าของภาพจะเกือบไม่ปรากฏตัวเป็นคนสำคัญของศาสนา แต่ในราชสำนักในยุโรปตอนเหนือมีตัวอย่างหลายตัวอย่างจากคริสต์ศตวรรษที่ 15 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่ส่วนใหญ่จะเป็นแผงเล็กและเป็นแผงส่วนตัวที่ผู้อุทิศจะเป็นแบบให้บุคคลสำคัญ ตัวอย่างชิ้นที่มีชื่อคือภาพ “พระแม่มารีให้นม” (Virgin lactans) โดยฌอง โฟเคท์ที่พระพักตร์ของพระแม่มารีเป็นใบหน้าของแอ็กเนส ซอเรล (Agn?s Sorel) พระสนมของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส
ภาพเหมือนผู้อุทิศทางศาสนาเขียนกันจนมาถึงสมัยบาโรกจนเมื่อวิวัฒนาการไปเป็นจิตรกรรมประวัติศาสตร์ แต่แตกต่างกันตรงที่ผู้อุทิศกลายเป็นบุคคลหลักของภาพ การวิวัฒนาการต่อมาคือภาพเหมือนประวัติศาสตร์ที่ผู้อุทิศเป็นแบบสำหรับบุคคลในประวัติศาสตร์หรือในตำนานปรัมปรา
แม้ว่าการศึกษาภาพเหมือนผู้อุทิศจะมีไม่มากพอที่จะแบ่งเป็นประเภทการเขียนอีกประเภทหนึ่ง แต่ก็หัวเรื่องนี้ก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในระยะเวลาไม่นานที่ผ่านมา และการถกเถียงกันในหัวข้อความเกี่ยวข้องกับความนิยมในการเป็นตัวของตัวเองในต้นยุคเรเนอซองต์ หรือความเปลี่ยนแปลงของรูปสัญลักษณ์หลังจากกาฬโรคระบาดในยุโรปในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นต้น
พระสันตะปาปาโฮโนริอุสที่ 1งานโมเสกในวัดซานตาแอ็กเนสฟูโอริเลอมูราในกรุงโรม ถือรูปจำลองของวัดที่สร้าง
ผู้อุทิศของแอนิเซีย จูเลียนนา
เจ้าหญิงไบแซนไทน์
จากคริสต์ศตวรรษที่ 6
ผู้จ้างให้เขียนไดโอสโคริดีสฉบับเวียนนา
มาสเตอร์แห่งโฮเฮ็นเฟิร์ต
จิตรกรโบฮีเมียราว ค.ศ. 1350
กับผู้อุทิศพระจักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 4
ทรงถือวัดจำลองที่สันนิษฐาน
ทรงบริจากในการสร้างทั้งหมด
จิโอวานนิ ดิ เพาโล
กางเขนกับผู้อุทิศ
จาโคโป ดิ บาร์โทโลเมโอ
ที่มีชื่อสลักอยู่บน
ตราประจำตัวทางซ้าย
งานของฮันส์ เม็มลิง
ที่พระแม่มารีทอดสายตาไปยังผู้อุทิศ
ที่มีนักบุญแอนโทนี แอ็บบ็อท
เป็นผู้นำเข้าเฝ้าและได้รับ
การประทานพรจากพระเยซู
ฟรีดริชผู้ทำแก้วและครอบครัว
ค.ศ. 1596
เด็กห้าคนที่ถือกางเขน
เสียชีวิตไปแล้ว สองคนที่แต่ง
เสื้อขอบดำก่อนที่ภาพจะเสร็จ
ส่วนคนอื่นอาจจะเติมกางเขนภายหลัง<ref>Walter A. Friedrich: