การถ่ายทำภาพยนตร์ในกัมพูชาเริ่มต้นเมื่อราว พ.ศ. 2493 และในช่วง พ.ศ. 2503 – 2512 จัดเป็นยุคทองของภาพยนตร์ในกัมพูชาก่อนจะล้มละลายไปในสมัยเขมรแดง หลังจากนั้น การเข้ามาแข่งขันของโทรทัศน์และวีดีโอ ทำให้ภาพยนตร์ในกัมพูชาเติบโตได้ช้า
เมื่อราว พ.ศ. 2463 มีการถ่ายทำสารคดีสั้นๆ ในกัมพูชาโดยนักถ่ายทำภาพยนตร์ชาวต่างชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2473 เป็นต้นมา พระนโรดม สีหนุทรงหันมาสนใจการถ่ายทำภาพยนตร์ ในราว พ.ศ. 2493 ได้มีการถ่ายทำภาพยนตร์โดยชาวกัมพูชาเป็นครั้งแรกโดยผู้ที่ไปเรียนในต่างประเทศ คัวอย่างภาพยนตร์ในยุคแรกๆ ได้แก่ Dan Prean Lbas Prich (รอยเท้านายพราน)
ใน พ.ศ. 2510 มีบริษัทผลิตภาพยนตร์จำนวนมากและสร้างโรงหนังขึ้นทั่วประเทศ มีการสร้างภาพยนตร์ในช่วงนี้มากกว่า 300 เรื่อง ภาพยนตร์ที่ผลิตในกัมพูชาเป็นที่นิยมไปทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับยุคคลาสสิก เรื่องเล่า และวัฒนธรรมกัมพูชา ภาพยนตร์ของกัมพูชายังเป็นที่นิยมในระดับนานาชาติ ภาพยนตร์เรื่องงูเก็งกองเป็นที่นิยมในไทยและฮ่องกงเมื่อราว พ.ศ. 2517 พระนโรดม สีหนุเองก็เป็นนักถ่ายทำภาพยนตร์ ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์โรแมนติก ภาพยนตร์เรื่องเอกของพระองค์คือ อัปสรา ออกฉายเมื่อ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2509 ภาพยนตร์เรื่องอื่นที่พระองค์ถ่ายทำ ได้แก่ Ombre Sur Angkor Rose de Bokor Crepuscule (Twilight) และ Joie de vivre
ในระหว่างสงครามกลางเมืองกัมพูชา มีผู้อพยพหนีภัยสงครามเข้าไปในเมืองเป็นจำนวนมาก และภาพยนตร์ก็ยังเป็นที่นิยม อุตสาหกรรมภาพยนตร์เริ่มฟุบเมื่อปลายปี พ.ศ. 2517 เมื่อเขมรแดงเริ่มเข้าล้อมเมือง หลังจากที่พนมเปญแตก ในเมืองว่างเปล่าเหลือเพียงภาพยนตร์ชวนเชื่อของเขมรแดงเท่านั้น
หลังจากเขมรแดงสิ้นสุดอำนาจและได้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา มีการฉายภาพยนตร์อีกครั้ง แต่ไม่มีการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศเพราะขาดแคลนบุคลากร เนื่องจากอพยพออกจากประเทศไปหมด ภาพยนตร์ที่ฉายในกัมพูชาเวลานั้นมาจากเวียดนาม สหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันออกและอินเดีย ส่วนภาพยนตร์จากที่อื่นๆเช่น ฮ่องกงถูกห้าม โดยภาพยนตร์จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมนิยมและการต่อสู้ระหว่างชนชั้น
การสร้างภาพยนตร์ในกัมพูชากลับมาอย่างช้าๆ โดยเน้นภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงหรือความโหดร้ายในสมัยเขมรแดง หรือสภาพชีวิตในระบอบการปกครองที่มีเวียดนามสนับสนุน ในชณะเดียวกันก็มีการนำเข้าวีดีโอจากต่างประเทศโดยเฉพาะไทย
ระหว่างพ.ศ. 2533 – 2537 มีการสร้างภาพยนตร์ในกัมพูชาจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะออกฉายในช่วงที่อันแทคเข้ามาจัดการเลือกตั้ง ภาพบนต์ในยุคนี้ที่มีชื่อเสียงคือภาพยนตร์ของริที ปัญ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับความโหดร้ายของเขมรแดงที่ออกฉายระหว่าง พ.ศ. 2543 – 2546 ใน พ.ศ. 2544 ไฟ ซัม อังได้นำภาพยนตร์งูเก็งกองออกมาถ่ายทำใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจากนักถ่ายทำภาพยนตร์ชาวไทยคือวินัย ไกรบุตร
เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2550 อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในกัมพูชามีผู้ชมลดลง และบริษัทผลิตภาพยนตร์ก็ลดลง จำนวนภาพยนตร์ที่ผลิตนั้นก็ลดลงด้วย โดยผู้ผลิตหันไปผลิตภาพยนตร์สั้นหรือรายการโทรทัศน์มากขึ้น