ภาพยนตร์จีน คือภาพยนตร์ที่พูดภาษาจีน แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ ภาพยนตร์ฮ่องกง ภาพยนตร์ไต้หวัน และ ภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่ สำหรับในประเทศไทยภาพยนตร์จีนมักหมายถึงภาพยนตร์ฮ่องกง
สิ่งที่ทำให้หนังทั้งสองภาษาแตกต่างกันมากที่สุด ก็คือจุดประสงค์ในการสร้าง ขณะที่หนังแมนดารินนั้น มีเป้าหมายส่วนหนึ่งทำเพื่อฉายวงกว้าง ทั้งตลาดทั่วทั้งเอเซีย และอาจจะไปไกลได้มากกว่านั้นอีก เพราะศักยภาพของภาษาแมนดาริน ที่เป็นภาษาที่ใช้แพร่หลายในทั่วโลก ตรงกันข้ามหนังกวางตุ้งนั้นมีคนดูที่จำกัดเฉพาะอยู่ในกลุ่มผู้พูดภาษากวางตุ้ง หรือ อาจจะพูดได้ว่าเป็นหนัง ของคนฮ่องกงที่ทำเองดูเอง ก็ว่าได้ เมื่อจุดประสงค์ในการสร้างต่างกัน เงินทุน และความทะเยอทยาน ในหนังทั้งสองแบบก็ต่างกันตามไปด้วย
อุตสาหกรรมหนังฮ่องกงนั้นเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากผู้สร้างหนังจากจีนแผ่นดินใหญ่ พากันอพยพหนีสงครามกลางเมือง และสงครามระหว่างจีน กับญี่ปุ่น ในช่วงปี 1946 เข้าสู่ฮ่องกง จนกระทั่ง ปี 1949 เมื่อพรรคคอมมิวนิสท์จีน ได้รับชัยชนะในการแย่งชิงอำนาจ นั้นทำให้ศูนย์กลางหนังภาษาจีนย้ายจาก เซียงไฮ้สู่ฮ่องกง
แต่หลังสงครามช่วงยุค 50 ทั้งบริษัทสร้างหนังจากทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึง นักลงทุนจากเอเซีย เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ ต่างข้ามมาลงทุนที่ฮ่องกง ภายในเวลาอันไม่นานหนังฮ่องกงกลายเป็นสินค้าที่ส่งไปทั่วโลกทั้ง เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงแทรกซึมไปสู่ชาติตะวันตก ผ่านการฉายตามไชน่าทาวน์ แห่งเมืองใหญ่ต่างๆ เช่น ในนิวยอร์ก ลอนดอน ซิดนีย์
ภาษจีนแมนดาริน หรือ จีนกลาง เป็นหนึ่งในภาษาพูด ที่นิยมใช้พูดกันในภาคเหนือของประเทศ โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างปักกิ่ง และเป็นภาษาราชการของ ทั้งจีน ไต้หวัน รวมถึงสิงค์โปร์ ทำให้แมนดาริน กลายเป็นภาษาจีน ที่คนใช้มากที่สุด
หนังภาษาแมนดาริน ที่นิยมสร้างกันมีหลากหลายแนวทั้ง หนังงิ้ว หนังเพลงแนวมิวสิกคัล เน้น เสื้อผ้าหรูหรา และฉากเต้นรำที่ตะการตา ตามแบบหนังอเมริกัน หนังรักโรแมนติดที่ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อดัง หนังย้อนยุคงานสร้างยิ่งใหญ่อลังการ และหนังกำลังภายใน
หนังฮ่องกงที่พูดแมนดารินนั้น ส่วนใหญ่จะเน้นการเสนอภาพของ ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์อันยาวนาน ประเพณีที่เคร่งครัด และแนวคิดทางสังคม ของความเป็น "จีน" แบบแท้ๆ โดยไม่ได้มีความเป็น "ฮ่องกง" เข้ามาเกี่ยวข้อง
ภาษากวางตุ้ง เป็นภาษาที่นิยมพูดกันในแถบภาคใต้ของจีน โดยครอบคลุมประชากรถึง เกือบ 70 ล้านคน ในฮ่องกงเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวกวางตุ้ง
หนังกวางตุ้งที่สร้างกันในยุคแรกๆ ส่วนใหญ่ ก็เป็นหนังงิ้วกวางตุ้งที่เน้นเพลง และดารางิ้วชื่อดัง เพื่อตลาดในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีหนังจำพวกอิทธิฤทธิ์ อภินิหาร ที่เน้นจุดขายเรื่องเทคนิคพิเศษตื่นตาตื่นใจ มากกว่าเนื้อเรื่องในแบบภาพยนตร์กำลังภายใน และที่ลืมไม่ได้ก็คือหนังกังฟูหวงเฟยหงที่สร้างกันกว่าร้อยตอน
หนังกวางตุ้ง อีกประเภทที่นิยมสร้างกันก็คือหนังชีวิต แต่เป็นหนังชีวิตประเภทที่ มีความแตกต่างจากหนังแมนดารินอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังชีวิตภาษากวางตุ้ง นั้นมีลีลาทางเมโลดราม่าเพ้อฝันน้อยกว่า แต่มุ่งสะท้อนภาพชีวิต จิตใจของคน ฮ่องกงโดยเฉพาะ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือหนังเรื่อง The Great Devotion ของผู้กำกับ ฉูหยวน
หนังกวางตุ้งที่มีลักษณะสะท้อนสังคมยังถูกสร้างอย่างต่อเนื่อง ในยุคปลายยุค 60 เป็นหนัง muj แสดงออกถึงวิญญานอิสระของคนทำหนังฮ่องกงในขณะนั้น ที่ผู้กำกับส่วนใหญ่ล้วนตกอยู่ภายใต้อำนาจของระบบสตูดิโอ ที่เข้มงวด มุ่งทำหนังเพื่อการค้าเพียงอย่างเดียว หนังภาษากวางตุ้งที่ทำหน้าที่สะท้อนสังคม เรื่องอื่นๆ ได้แก่ ผลงานของผู้กำกับ หลงกง (Lung Kong)