พระพุทธศาสนาได้เผยแพร่จากอินเดียสู่ลังกา เมื่อประมาณ พ.ศ. 236 ในคราวที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 3 ในอินเดีย และได้ส่งพระเถระผู้รอบรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ รวม 9 สายด้วยกัน ใน 9 สายนั้น สายหนึ่งได้มายังเกาะของชาวสิงหล ได้แก่ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน โดยนำของพระมหินทเถระ ในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ซึ่งเป็นกษัตริย์ของลังกาและเป็นพระสหายของพระเจ้าอโศกมหาราช แต่ทั้งสองพระองค์ยังไม่เคยพบกัน พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้อุทิศมหาเมฆวันอุทยานเป็นวัด เรียกว่า “ วัดมหาวิหาร ” ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ พระพุทธศาสนาเข้าสู่ลังกาในยุคนี้ เป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาท พระมหินทเถระได้นำเอาพระไตรปิฎกและอรรถกถาไปสู่ลังกาด้วย การเดินทางไปสู่ลังกาของพระมหินทเถระในครั้งนั้น นอกจากเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ยังถือว่าเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมของชาวลังกา เพราะท่านมิเพียงแต่นำเอาพระพุทธศาสนาไปเท่านั้น ท่านยังได้นำเอาอารยะธรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม เข้าไปด้วย ลำดับต่อมา พระนางอนุฬาเทวีมเหสีและสตรีบริวารจำนวนมาก ปรารถนาจะอุปสมบทบ้าง พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะจึงทรงส่งคณะทูตไปสู่ราชสำนักของพระเจ้าอโศก ทูลขอพระนางสังฆมิตตาเถรี และกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ ด้านทักษิณมาสู่ลังกาทวีป และพระนางสังฆมิตตาเถรีเป็นอุปัชญาย์บรรพชาอุสมบทแก่สตรีชาวลังกาได้ตั้งคณะภิกษุณีขึ้นในลังกา
เมื่อ พ.ศ. 400 เศษ รัชสมัยของพระเจ้าวัฏฏคามนีอภัย ได้มีพวกทมิฬเข้ามาตีและเข้าครองอนุราธปุระเป็นเวลา 14 ปี จนพระองค์ต้องเสียราชบัลลังก์ เสด็จลี้ภัยไปซ่องสุมกำลัง ระหว่างนั้นทรงได้รับการอุปถัมภ์จากพระมหาติสสะ ต่อมากลับมาครองราชย์อีกครั้ง ได้ทรงให้ทำการสังคายนา และได้ทำการจารึกพระพุทธพจน์ลงในใบลานเป็นครั้งแรก ได้อุปถัมภ์พระมหาติสสะ พร้อมได้สร้างวัดถวาย คือวัด อภัยคีรีวิหาร จนทำให้พระภิกษุชาวมหาวิหารไม่พอใจ จนเป็นเหตุให้คณะสงฆ์แตกออกเป็น 2 คณะ คือ คณะมหาวิหาร กับคณะอภัยคีรีวิหาร ตั้งแต่นั้นมาคณะสงฆ์ลังกาได้แตกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ แต่ยังเป็นนิกายเถรวาท มีลักษณะต่างกันคือ คณะมหาวิหาร ฝ่ายอนุรักษนิยม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพระธรรมวินัยใด ๆ และยังตำหนิรังเกียจภิกษุต่างนิกายว่าเป็นอลัชชี คณะอภัยคีรีวิหาร เป็นคณะที่เปิดกว้าง ยอมรับเอาความคิดเห็นต่างนิกาย ไม่รังเกียจภิกษุต่างนิกาย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 ถึง พุทธศตวรรษที่ 1717 เป็นยุคที่ลังกาเดือดร้อนวุ่นวายเพราะการรุกรานจากอินเดียบ้าง ความไม่สงบภายในบ้าง ในระหว่างยุคนี้เองที่ภิกษุณีสงฆ์สูญสิ้น และพระภิกษุสงฆ์เสื่อม จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าวิชัยพาหุที่ 1 มีพระราชประสงค์จะฟื้นฟูศาสนาในปี พ.ศ. 1609 ทรงหาพระภิกษุที่อุปสมบทถูกต้องแทบไม่ครบ 5 รูป และต้องทรงอาราธนาพระสงฆ์จากพม่าตอนใต้มากระทำอุปสมบทกรรมในลังกา
เมื่อ พ.ศ. 956 พระพุทธโฆษาจารย์เดินทางจากอินเดียมายังศรีลังกา เพื่อปริวรรตคัมภีร์อรรถกถาพระไตรปิฏกภาษาสิงหลเป็นภาษามคธ (บาลี) เพื่อนำกลับไปยังชมพูทวีป
เมื่อ พ.ศ. 1697 - พ.ศ. 1730 พระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 (เป็นพระโอรสของพระเจ้าวิชัยพาหุที่ 1) ทรงเป็นมหาราชที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งของลังกา ทรงปกครองบ้านเมืองได้สงบเรียบร้อย ในด้านการพระศาสนาทรงชำระการพระศาสนาให้บริสุทธิ์ ยังคณะสงฆ์ให้รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อีกครั้งหนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ปกครองสงฆ์ทั้งประเทศเป็นครั้งแรก ทรงสร้างวัดวาอาราม เป็นยุคที่มีศิลปกรรมงดงาม และลังการได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา ปรากฏเกียรติคุณแพร่ไปทั่ว มีพระสงฆ์และนักปราชญ์เดินทางจากประเทศใกล้เคียง เพื่อมาศึกษาพระพุทธศาสนาในลังกา แล้วนำไปเผยแพร่ในประเทศของตนเป็นอันมาก พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองอยู่ระยะหนึ่ง แต่ภายหลังรัชกาลนี้แล้วพวกทมิฬจากอินเดียก็มารุกรานอีกและได้เข้าตั้งถิ่นฐานมั่นคงขยายอาณาเขตออกไปเรื่อย ๆ อาณาจักรสิงหลต้องถอยร่นทางใต้ ต้องย้ายเมืองหลวงอยู่บ่อย ๆ ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญได้ยาก นอกจากจะเพียงธำรงรักษาความมั่นคงเข้มแข็งไว้เท่านั้นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่ง คือ ใน พ.ศ. 2019 พระภิกษุคณะหนึ่งจากพม่า ได้มารับการอุปสมบทกรรมที่ลังกาและนำคัมภีร์ภาษาบาลีเท่าที่มีอยู่ไปยังพม่าโดยครบถ้วนเมื่อประมาณ พ.ศ. 2050
ชนชาติโปรตุเกสได้เข้ามาค้าขาย และถือโอกาสรุกรานชาวสิงหลขณะที่กำลังอยู่ในความวุ่นวาย พวกโปรตุเกสก็ได้ดินแดนบางส่วนไว้ครอบครอง และพยายามบีบบังคับประชาชนที่อยู่ใต้ปกครองให้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก คราวหนึ่งถึงกับยึดอำนาจกษัตริย์ได้ ทำให้พุทธศาสนากลับเสื่อมถอยลง จนถึงกับนิมนต์พระสงฆ์จากประเทศพม่ามาให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวลังกา ต่อมาชาวฮอลันดาได้เข้ามาค้าขายในลังกาและได้ช่วยชาวลังกาขับไล่พวกโปรตุเกสได้ในปี พ.ศ. 2200 แล้วฮอลันดาก็เข้ายึดครองพื้นที่ที่ยึดได้ และนำเอาคริสต์ศาสนามาเผยแพร่ พยายามกีดกันพระพุทธศาสนา แต่ไม่สำเร็จ สถานการณ์พุทธศาสนาในขณะนั้นย่ำแย่ลงมาก เนื่องจากเกิดการแก่งแย่งกันแล้ว พุทธศาสนาก็ถูกกดขี่จากพวกโปรตุเกสและฮอลันดา ประชาชนไม่น้อยก็ไปเข้ารีตกับศาสนาคริสต์ พวกชาวพุทธในใจกลางเกาะมัวแต่รบราฆ่าฟันกัน พุทธศาสนาก็ขาดผู้อุปถัมภ์และยังเกิดวิกฤตการณ์ข้าวยากหมากแพงอย่างรุนแรง จนพระภิกษุสงฆ์ต้องทิ้งวัดวาอาราม จนไม่มีพระภิกษุหลงเหลืออยู่เลย คงมีสามเณรเหลืออยู่บ้าง โดยมีสามเณรสรณังกรเป็นหัวหน้า ไป
เมื่อ พ.ศ. 2294 (พ.ศ. 2293 ตามการนับแบบไทย) สามเณรผู้ใหญ่ชื่อสามเณรสรณังกรได้ทูลขอให้พระเจ้ากิตติราชสิงหะ กษัตริย์ลังกาในขณะนั้น ให้ส่งทูตมาขอนิมนต์พระสงฆ์จากเมืองไทย (กรุงศรีอยุธยา) ไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป สมัยนั้นตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบรมโกศจึงได้ส่งพระสมณทูตไทยจำนวน 10 รูป มีพระอุบาลีเป็นหัวหน้า เดินทางมาประเทศลังกา มาทำการบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวลังกาถึงสามพันคน ณ เมืองแคนดี้ สามเณรสรณังกรซึ่งได้รับการอุปสมบทในครั้งนี้ ได้รับการสถาปนาจากกษัตริย์ลังกาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช จึงได้เกิดคณะสงฆ์นิกายสยามวงศ์ หรือนิกายสยามวงศ์/อุบาลีวงศ์ขึ้นในลังกา ต่อมาพระอุบาลีเถระเกิดอาพาธและได้มรณภาพในลังกาในเวลาต่อมา ในสมัยเดียวกันนั้นได้มีสามเณรคณะหนึ่งเดินทางไปขอรับการอุปสมบทในประเทศพม่า แล้วกลับมาตั้งนิกาย “ อมรปุรนิกาย” ขึ้น อีกคณะหนึ่งได้เดินทางไปขออุปสมบทจากคณะสงฆ์เมืองมอญ กลับมาตั้งนิกาย “ รามัญนิกาย” ขึ้น ในสมัยนี้ได้มีนิกายเกิดขึ้นในลังกา 3 นิกาย คือ 1.นิกายสยามวงศ์ หรืออุบาลีวงศ์ 2.นิกายอมรปุรนิกาย 3.นิกายรามัญ นิกายทั้ง 3 นี้ ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2340 และอีก 19 ปีต่อมา อังกฤษได้ครองอำนาจแทนฮอลันดา ขยายอำนาจไปทั่วประเทศลังกา โดยรบชนะกษัตริย์แคนดี ได้ตกลงทำสนธิสัญญารับประกันสิทธิของฝ่ายลังกาและการคุ้มครองพระศาสนา ครั้นต่อมาได้เกิดกบฏขึ้น เมื่อปราบกบฏได้สำเร็จ อังกฤษได้ดัดแปลงสนธิสัญญาเสียใหม่ ระบบกษัตริย์ลังกาจึงได้สูญสิ้นตั้งแต่บัดนั้น ตั้งแต่อังกฤษเข้ามาปกครองลังกาตอนต้น พระพุทธศาสนาได้รับความเป็นอิสระมากขึ้น ด้วยสนธิสัญญาดังกล่าว ครั้นต่อมาภายหลังจากการปกครองของอังกฤษประมาณ 50 ปี พระพุทธศาสนาก็ถูกกีดกันและต่อต้านจากศาสนาคริสต์ รัฐถูกบีบจากศาสนาคริสต์ให้ยกเลิกสัญญาที่คุ้มครองพุทธศาสนา บาทหลวงของคริสต์ได้เผยแผ่คริสต์ศาสนาของตน และโจมตีพุทธศาสนาอย่างรุนแรง โดยได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ นับตั้งแต่อังกฤษเข้าปกครองลังกามาเป็นเวลากว่า 300 ปี จนได้รับอิสรภาพเมื่อ พ.ศ. 2491 จากการที่พุทธศาสนาถูกรุกรานเป็นเวลาช้านานจากศาสนาคริสต์ ทำให้ชาวลังกามีความมุ่งมานะที่จะฟื้นฟูพุทธศาสนาในลังกาอย่างจริงจัง จนปัจจุบันประเทศศรีลังกา ได้มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/พุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา