อดีตประเทศมาเลเซียเคยได้รับอิทธิพลของศาสนาฮินดู-พุทธมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย แต่ต่อมาเมื่อศาสนาอิสลามได้เข้ามาแพร่หลายอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 ในรัชสมัยของพระเจ้าปรเมศวรเป็นต้นมาทำให้พุทธศาสนาหมดความสำคัญไป ในระยะเวลาหนึ่ง
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เชื่อกันว่าพระพุทธศาสนาได้แผ่สู่มาเลเซียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 3 โดยนิกายเถรวาทซึ่งไม่แพร่หลายเท่าใดนัก ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 12 อิทธิพลของอาณาจักรศรีวิชัย จึงได้มีพุทธศาสนาแบบมหายาน แผ่ขยายมาถึงมาเลเซีย
พ.ศ. 1837 ภายใต้การปกครองของอาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งแผ่อำนาจลงทางคาบสมุทรมลายู และได้นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางอำนาจหัวเมืองมลายูทั้งหลาย แต่เนื่องจากประชาชนในแถบนี้ นับถือพุทธศาสนาแบบมหายานมาหลายร้อยปีแล้ว พุทธศาสนาแบบเถรวาทจึงไม่ค่อยมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตความเชื่อของคนบริเวณนี้มากนัก ซึ่งจะปรากฏแต่รูปพระโพธิสัตว์ หรือรูปเคารพตามแบบมหายานโดยมาก
ความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในมาเลเซียเริ่มขึ้นได้ไม่นาน พระเจ้าปรเมศวร แห่งอาณาจักรมะละกา ทรงอภิเษกกับ เจ้าหญิงแห่งปาไซ ที่เป็นมุสลิม พระองค์จึงละทิ้งศาสนาฮินดู-พุทธ และเข้ารีตศาสนาอิสลาม ในขณะที่ประชาชนเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอยู่ ต่อมาในรัชกาลของสุลต่านมัลโซร์ชาห์ ซึ่งทรงมีความเลื่อมใสในศาสนาอิสลาม ทำให้ราษฎรเข้ารีตศาสนาอิสลามตามพระองค์ (ในประเทศมาเลเซีย)
แต่เนื่องจากมีชาวไทยที่อาศัยอยู่ในสามรัฐทางภาคเหนือของมาเลเซีย ได้แก่ รัฐเกดะห์ รัฐกลันตัน และรัฐปะลิส เป็นเวลายาวนาน จนได้รับรองสถานะเทียบเท่าชาวมาเลย์ แต่ชนชาวไทย จะแสดงถึงความเป็นไทย คือ ความเป็นพุทธเถรวาท ซึ่งมีพิธีกรรม และสถาปัตยกรรมทางศาสนาเหมือนกันกับชาวพุทธในประเทศไทย โดยมีชาวจีนให้ความอุปถัมภ์วัดทางการเงิน และช่วยเหลืองานต่างๆ ช่วงเทศกาลงานบุญ แต่ชาวไทยพุทธมีบทบาทในการดูแลศาสนามากกว่า เช่น การบวชของชาวไทยจะยาวนานกว่าชาวจีน จนสามารถแยกได้ว่า กลุ่มใดเป็นกลุ่มชาวไทย และชาวจีนในมาเลเซีย ส่วนวัดวาอารามของชาวสยามจะอยู่แถบชนบท มีสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทย พิธีกรรมเป็นแบบชาวไทย คือเน้นการทำบุญเป็นหลัก ซึ่งผู้ที่จะบริจาคให้วัดจะเป็นชาวจีนโดยมาก ดังนั้นวัดไทยหลายๆวัดที่มีชาวจีนอุปถัมภ์จะมีรูปเคารพเจ้าแม่กวนอิม หรือเทพเจ้าจีน ไว้เพื่อยึดเหนี่ยวศรัทธาของชาวจีน ในแต่ละชุมชน จะมีสำนักสงฆ์ไว้ เพื่อให้เป็นที่พำนักของพระสงฆ์ ที่หมุนเวียนกันมาจำพรรษาโปรดญาติโยม แต่ที่วัดใหญ่จะมีพระสงฆ์ไม่ต่ำกว่า 5 รูป โดยพระสงฆ์ที่บวชนานๆ และพระสงฆ์ที่บวชระยะสั้นๆอยู่จำพรรษาในวัดนั้นๆ ชาวจีนส่วนมาก จะให้ความนับถือพระที่เก่งทางไสยศาสตร์ และสมุนไพร บางครั้งก็นิมนต์ไปประกอบพิธีทางศาสนาที่บ้านของตน
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็มีอุปสรรคอยู่ เพราะมีสภาการศาสนาชาวมุสลิม (Muslim Religious Council) คอยบริหาร และดูแลผลประโยชน์ของชาวมุสลิม ฉะนั้นการชักจูงชาวมาเลย์ที่ไม่ใช่ชาวจีนให้มานับถือพระพุทธศาสนา จะทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ทางลบจากอำนาจรัฐซึ่งเป็นมุสลิม มีความพยายามเรียกร้องให้แต่ละศาสนามีอำนาจปกครองบริหารตนเองเหมือนในประเทศไทยอยู่หลายครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธจากทางภาครัฐ พระสงฆ์ในประเทศมาเลเซียไม่สามารถออกบิณฑบาตได้เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศกฎอัยการศึกเฉพาะกาลไว้ ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรงจากศาสนิกชนอื่นๆที่ไม่ใช่อิสลาม ปัจจุบันนี้ คณะสงฆ์มาเลย์ยังขาดบุคลากรที่ต้องการบวชนาน ๆ ทำให้บางวัดต้องปิดตัวลง เพราะไม่มีพระจำพรรษา และจะเปิดอีกครั้งเมื่อมีพระจำพรรษาเพียงพอ แต่ก็ได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการแบ่งพระไปจำพรรษาสามเดือน ตามคำขอของชาวบ้านที่มีพระจำนวนน้อย
ในปัจจุบัน การนับถือพระพุทธศาสนาในมาเลเซียมีอยู่เฉพาะในบรรดาผู้ที่รับเชื้อสายมาจาก ชาวจีน ลังกา พม่า และชาวไทยและมีวัดและสำนักสงฆ์ตั้งอยู่ในบางแห่ง เช่น ที่เมืองกัวลาลัมเปอร์และรัฐปีนัง มีวัดไทยตั้งอยู่และมีพระสงฆ์ไทยไปจำพรรษาอยู่ที่นั่น วัดไทยที่กัวลาลัมเปอร์สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2503 ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซีย เรียกชื่อว่า วัดเชตวัน สร้างเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยสวยงาม วัดไทยที่ปีนัง ชื่อ วัดไชยมังคลาราม เป็นวัดไทยที่เก่าแก่ ยังไม่ทราบปีที่สร้างแน่นอน วัดนี้มีปูชนียสถานสำคัญ เช่น พระพุทธไสยาสน์ และวิหารพระพุทธเจดีย์ ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในเกาะปีนัง และวัดบุปผาราม เป็นวัดไทย เบื้องต้นวัดนี้ถูกชาวบ้านยึดครองนานถึง 11 ปี 6 เดือน มีพระเถระสู้คดีจนได้กลับเป็นวัดไทยทุกวันนี้ วัดพม่าเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดของเถรวาท คือสร้างมานานกว่า 120 ปี มีพระพม่าอยู่ประจำ มีวัดศรีลังกาอยู่ตรงข้าม เดิมเป็นวัดเดียวกัน ภายหลังถนนตัดแบ่งกลาง และวัดเกะก์ โละก์ ชี บนเขาอาเยร์ ฮิตัม เป็นวัดจีนแบบมหายาน ไม่ห่างจากเขาปีนังมาก มีธรรมชาติสวยงาม และเป็นที่ท่องเที่ยวที่นิยมมากในปีนัง ส่วนพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ยาวที่สุดในประเทศมาเลเซียอยู่ที่ วัดโพธิวิหาร ในกลันตัน และยังมีวัดพุทธไทยอีกจำนวนมากระหว่างตุมปัตกับปาสิรมัส และบางหมู่บ้านก็จัดงานฉลองเทศกาลต่างๆของไทย เช่น วันสงกรานต์ และในรัฐกลันตันนี้ ชาวมาเลย์มุสลิม และชาวไทยพุทธก็อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข แม้จะมีข่าวภาพการทำลายวัดพุทธซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารย์กันอย่างแพร่หลายตามอินเทอร์เน็ตในแง่ของความเหมาะสม
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/พุทธศาสนาในประเทศมาเลเซีย